ลาออกดีไหม-เกลียดเช้าวันจันทร์ เช็กสัญญาณ ‘หมดไฟ’ ที่อาจนำไปสู่ซึมเศร้า

ลาออกดีไหม-เกลียดเช้าวันจันทร์ เช็กสัญญาณ ‘หมดไฟ’ ที่อาจนำไปสู่ซึมเศร้า

ได้ยินมาบ่อยๆ กับคำว่า “ภาวะหมดไฟ” หรือ “เบิร์นเอาท์” แต่ทราบหรือไม่ว่าการหมดไฟนั้นรุนแรงกว่าที่คิด เพราะไม่ได้เกิดแค่เพียงกับคนวัยทำงานเท่านั้น แต่เกิดได้กับทุกช่วงวัย และหากปล่อยให้เรื้อรังสามารถนำไปสู่การเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้

หรือใครที่ชอบบ่นว่า “เกลียดเช้าวันจันทร์” จุดเริ่มต้นของการทำงานสัปดาห์ใหม่ แบบนี้ยังคงปกติ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เริ่มมีความรู้สึกว่าเกลียดเช้าของทุกวัน ไม่อยากตื่นไปทำงาน อาจจะต้องเริ่มสำรวจตัวเองแล้วว่าเสี่ยงภาวะเบิร์นเอาท์หรือไม่

ซึ่งจากผลการสำรวจผู้บริโภควัยทำงานในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 4 ล้านคน ของวิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล พบว่า 12% กำลังอยู่ในภาวะเบิร์นเอาท์ และ 57% มีความเสี่ยงสูงที่จะเบิร์นเอาท์ ขณะที่เหลือคนมีไฟเพียงแค่ 7% เท่านั้น

นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข หรือ หมอหลิว จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้ให้ข้อมูลถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจในรายการรี-มายด์ (Re-Mind) มหิดล ชาแนล พอดแคสต์ กับหัวข้อ “วิธีจัดการกับ Burnout ในวัยทำงาน”

Advertisement

เจนวาย-แซด เบิร์นเอาท์สูง
ไม่ใช่แค่ทำงาน เรียนหนักก็เกิดได้

จากข้อมูลผลการสำรวจที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อเจาะลึกลงไปในเกณฑ์อายุ จะพบว่า กลุ่มที่อยู่ในภาวะเบิร์นเอาท์มากที่สุดคือ กลุ่มเจนแซด (Gen-z) อายุต่ำกว่า 22 ปี มีภาวะเบิร์นเอาท์สูงถึง 17% ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะคนทำงานแต่กับคนในเจนนี้ ที่ขณะนี้ยังเป็นนักศึกษาหรือเป็นผู้ใหญ่ตอนต้นก็เกิดภาวะเบิร์นเอาท์ได้แล้ว รองลงมาคือ กลุ่มเจนวาย (Gen-Y) อายุ 23-38 ปี คิดเป็น 13% ในทางกลับกันกลุ่มที่ไม่ค่อยเบิร์นเอาท์เลยคือ กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer : Gen-B) อายุ 55-73 ปี ที่อยู่ในภาวะเบิร์นเอาท์เพียง 7% เท่านั้น ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มที่กำลังประสบภาวะเบิร์นเอาท์คืออายุต่ำกว่า 22 – 38 ปี ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นเลยทีเดียว

รู้จักภาวะเบิร์นเอาท์
ต่างจากซึมเศร้าอย่างไร

หมอหลิว กล่าวว่า “เบิร์นเอาท์ ซินโดรม” (Burnout Syndrome) หรือ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” คือภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังภายในจิตใจ โดยย้ำว่า “ภาวะ” อยู่ตรงกลางระหว่างคำว่า “ปกติ” และ “เป็นโรค” คือต่างจากปกติ แต่ยังไม่เป็นโรค อธิบายโดยง่าย เช่น หลังเลิกงานมีอาการเหนื่อยล้า เมื่อได้พักผ่อน กินของอร่อยเป็นการเติมพลัง อาการก็จะหายไป แบบนี้คือความปกติ ในทางกลับกันการเป็น “โรค” เป็นเรื่องของโรคทางอารมณ์ หรืออาการทางจิตใจที่รุนแรง ถ้าไม่พบแพทย์มักจะไม่หาย

Advertisement

ทว่า “ภาวะเบิร์นเอาท์” นั้นอยู่ตรงกลาง เป็นความเรื้อรังของความเครียดที่สะสมมาเรื่อยๆ ในหัวคิดว่าไม่มีแรง ล้าเหลือเกิน เมื่อไหร่จะหมดวัน ซึ่งหากปล่อยไปนานๆ ก็จะนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าหรืออาการของโรควิตกกังวลได้

ซึ่งในกรณีที่ประสบภาวะเบิร์นเอาท์ แต่ไม่ได้สะสมจนกลายไปเป็นโรค อาการหลายๆ อย่างของภาวะเบิร์นเอาท์จะคล้ายกับโรคซึมเศร้า ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

1.อาการทางร่างกาย รู้สึกปวดตามที่ต่างๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ออฟฟิศซินโดรม ท่านั่งก็เป็นหมด แต่เบิร์นเอาท์จะส่งผลให้เป็นเยอะขึ้น หรือในบางคนปวดศีรษะเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ไปกระตุ้นไมเกรนก็มี หรือหลายคนก็แสดงอาการทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว และ

2.อาการทางอารมณ์จิตใจ รู้สึกเหนื่อยล้า หมดหวัง รู้สึกไม่มีหนทางในการดำรงชีวิตหรือทำงาน ไปกระทบความสุขในชีวิตประจำวันให้รู้สึกสุขไม่เท่าเดิม ทำอะไรที่เคยทำแล้วสนุก ไม่สนุกเท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ บางคนฝันร้าย นอนไม่หลับ เป็นต้น

เมื่องานที่ทำไม่ตอบสนองคุณค่า
แบบไหนบ้างเสี่ยงเบิร์นเอาท์

ก่อนจะพูดถึงการป้องกันก็ต้องทราบถึงสาเหตุกันเสียก่อน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเบิร์นเอาท์มาจาก 2 ทางคือปัจจัยภายในและภายนอก

อันดับแรกว่าด้วยเรื่องคุณค่าและผลตอบแทน เมื่อเราทำงานหนึ่งงานมักจะมีความรู้สึกว่างานชิ้นนี้ทำให้เราได้อะไร งานนี้ส่งเสริมคุณค่าในตัวเองอย่างไร ดังนั้นเวลาที่คนเกิดเบิร์นเอาท์ ต้องกลับมาดูที่ตัวเองว่างานที่ทำไม่ตอบสนองคุณค่าของเราแล้วหรือไม่ รู้สึกว่าทำไปงั้นๆ ทำไปก็ไม่มีใครเห็นประโยชน์ของเรา เช่น หมอเป็นจิตแพทย์รักษาโรคไป คนไข้ก็ไม่หายจากโรคที่รักษา เป็นอาจารย์สอนหนังสือไป นักเรียนก็เรียนไม่รู้เรื่อง ก็มีโอกาสจะเบิร์นเอาท์ได้ เพราะรู้สึกว่าไม่ได้คุณค่าจากสิ่งที่ทำ คุณค่าไม่เกิดขึ้น

ทว่าสำหรับบางคนคุณค่าที่ได้รับไม่ใช่แค่การยอมรับ หรือฉันมีค่าอย่างไร แต่เป็นเรื่องของผลตอบแทน เช่น ทำงานทั้งวัน หัวหน้าโทรตาม ลูกค้าตามได้ตลอด ไม่มีเวลาพักผ่อน แปดโมงเช้ายันเที่ยงคืนยังต้องนั่งตอบแชต แต่ปรากฎว่าได้เงินเดือนเท่าเด็กจบใหม่ ค่าตอบแทนไม่เพียงพอกับสิ่งที่ลงทุนทำไป แต่ในขณะเดียวกันบางคน ‘ผลตอบแทน’ ที่เขาได้รับกลับเป็นเรื่องอื่น เช่น เขารู้สึกว่าเขามีเวลาในการที่จะได้ใช้ชีวิตในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน เพราะฉะนั้นคุณค่าหรือการตอบแทนจึงไม่เหมือนกันในแต่ละลักษณะงานที่ทำ

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เริ่มไม่สมดุล เริ่มรู้สึกว่า “ไม่เท่ากัน” ความคุ้มค่าไม่เกิด ก็เสี่ยงที่จะเบิร์นเอาท์

นอกจากนี้ “บุคลิกภาพ” เฉพาะบุคคลก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเบิร์นเอาท์ได้เหมือนกัน เช่น กลุุ่มคนที่ชื่นชอบความเป๊ะ หรือที่เรียกว่า “เพอร์เฟ็คชั่นนิสต์” ไม่ยืดหยุ่น มีกฎกติกาบางอย่างว่าต้องแบบนั้น มีลำดับขั้นชัดเจน คนที่ขาดคนหรือระบบสนับสนุน (Support system) เช่น ไม่มีครอบครัว ไม่มีเพื่อนฝูง-กัลยาณมิตรที่คอยรับฟัง ไม่มีคนพาไปไหนเวลาที่เครียดหรือวิตกกังวล คนที่ไม่รู้วิธีการจัดการความเครียดของตัวเอง กล่าวในภาพรวมกว้างๆ ก็คือคนที่ไม่รู้ว่าพอเกิดเหตุแบบนั้น ฉันต้องทำยังไง หรือมากกว่านั้นคือไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเครียด ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดเบิร์นเอาท์มากกว่าคนอื่น

หน่วยงานหรือองค์กรที่ไม่สร้างความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจให้กับพนักงาน ก็มีผลต่อความรู้สึกไม่มีตัวตนและไม่สำคัญ รวมไปถึงการทำงานกับหัวหน้าที่ให้คุณค่าและความหมายไม่เหมือนกันก็ทำให้เกิดความรู้สึกเบิร์นเอาท์ได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ลักษณะงาน ที่เสี่ยงต่อการเบิร์นเอาท์ได้ง่ายคืองานที่ต้องการความถูกต้องมากๆ งานที่ผิดพลาดไม่ได้ เพราะส่งผลต่อคนจำนวนมาก หรืองานที่มีความมหาศาล มีมูลค่าเยอะๆ เป็นต้น

เช็กสัญญาณเสี่ยง 5 ระยะ

อ.นพ.สมบูรณ์ เผยว่า ภาวะเบิร์นเอาท์ แบ่งออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้ 1.ระยะฮันนีมูน (Honeymoon)น้ำผึ้งพระจันทร์ เข้าไปทำงานใหม่ๆ อะไรก็ดูน่าสนใจ อยากจะเรียนรู้ อยากจะมีส่วนร่วมในการทำงาน

2.ระยะรู้สึกตัว (The Awakening) เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่างานที่ทำอยู่ใช่ไหม จะยังไปด้วยกันได้ไหมกับงานที่ทำ งานที่ทำตอบโจทย์ตัวเองหรือไม่

3.ระยะไฟตก (Blow out) เริ่มมีสัญญาณเตือนเบิร์นเอาท์ เหนื่อยล้าเรื้อรัง อารมณ์เริ่มไม่เข้าที่ หงุดหงิด ใครชวนไม่อยากไป เริ่มแยกตัว อาจจะมีอาการนอนหลับไม่สนิท

4.ระยะหมดไปเต็ม (Full Scale of Burnout) อาการทั้งหมดทางกายและใจ ส่งผลออกหมด ไม่มีความสุข รู้สึกไร้ค่า ตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำ กินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า ฉันมาทำอะไรที่นี่ โกรธคนนั้นคนนี้ โกรธตัวเอง ผสมกันไปหมด ในระยะนี้หากไม่ได้รับการแก้ไข้ออกจากอาการเบิร์นเอาท์ไม่ได้ จะวนเวียนอยู่แบบนี้

5.ระยะฟื้นตัว (The Phoenix Phenomenon) หากภาวะเบิร์นเอาท์ได้รับการจัดการ และดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม จัดการตัวเองได้ ปรับเข้าสู่สมดุลใหม่ กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วนที่ว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเข้าข่ายภาวะเบิร์นเอาท์แล้วหรือไม่ ลองสำรวจตัวเองผ่าน 3 อาการหลักๆ ดังนี้

1.อาการทางอารมณ์ เศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ไม่ค่อยโอเคกับอะไรที่เคยโอเค ไม่สนุกกับอะไรที่เคยสนุก

2.อาการทางความคิด เริ่มมองโลกไม่เหมือนเดิม เช่น รู้สึกว่าคนนี้ไม่โอเคกับเราหรือไม่ เริ่มมองในแง่ร้ายกับคนอื่น สงสัยในสิ่งที่ตัวเองทำ หลายคนหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญปัญหานั้นๆ

3.อาการทางพฤติกรรม กินไม่อร่อยเท่าเดิม มีพฤติกรรมแยกตัว เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ไปทำงานอดิเรกแบบที่เคยชอบ บางคนเริ่มมาทำงานช้า สแกนนิ้ว-แตะบัตรช้าหน่อย บริหารจัดการเวลาแย่ลง ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

หมดไฟแล้วต้องทำยังไง
ลาออกดีจริงหรือ?

หมอหลิว ไขข้อข้องใจหลายๆ คน กับคำถามว่า “หมดไฟแล้ว ไม่โอเคแล้ว ลาออกดีไหม” ไว้ว่า การลาออกเป็นการแก้ไขแค่เหตุการณ์เดียว แต่จริงๆ แล้วการทบทวนคุณค่าของตัวเอง รู้จักตัวเอง เป็นการแก้ไขที่ยั่งยืนกว่าเพราะเป็นการจัดการที่จะไม่ทำให้กลับมาเบิร์นเอาท์ใหม่ หรือหากกลับมาเป็นใหม่ก็จะรู้แล้วว่า “ฉันจัดการมันได้ลงตัว” ฉะนั้นการออกจากงานจึงไม่ช่วยให้เบิร์นเอาท์หายไปได้ทั้งหมด

จิตแพทย์เด็กและเยาวชน ยังแนะนำต่ออีกว่า หากรู้สึกว่าเริ่มมีอาการเบิร์นเอาท์ ให้ถามตัวเองว่าเวลาเครียดเราชอบทำอะไรคลายเครียด หลายคนอาจจะหาของกินอร่อยๆ เม้ามอย เล่นกับสัตว์เลี้ยง สิ่งนี้คือสิ่งที่ควรทำตอนที่เริ่มเบิร์นเอาท์ ยังไม่ต้องคิดไปถึงว่าฉันจะไปปรับองค์กรยังไง ออกจากงานดีไหม ให้กลับมาเติมไฟให้ตัวเองก่อนและเราเติมไฟให้ตัวเองได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยคนอื่นได้

เช่นเริ่มด้วยการลางานหรือลาพักร้อน ซึ่งหลายคนมักจะบอกว่าไม่อยากทำเพราะรู้สึกผิดกับที่ทำงาน กลัวเป็นตัวถ่วงองค์กร แต่หากไม่อยากเป็นซึมเศร้าควรลางานก่อน ให้คนอื่นช่วยทำงานนี้ชั่วคราวเพราะ “องค์กรไม่มีเรา องค์กรอยู่ได้ แต่ถ้าเราไม่มีตัวเราเอง จะอยู่อย่างไร”

จัดการงานก่อนลาพักผ่อนไปหา “จุดสมดุลของชีวิต” ที่หมอหลิวบอกว่าจะใช้เวลาช่วงนี้ทบทวนกับตัวเองก็ได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป การตั้งคำถาม ชวนตัวเองคิดและคุย ต้องทำในช่วงเวลาที่สมองพร้อม อารมณ์สงบ เพื่อคิดหาวิธีที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ภาวะหมดไฟ หรือ เบิร์นเอาท์ รุนแรงกว่าที่คิด อย่าปล่อยให้เรื้อรังจนกลายเป็นซึมเศร้า สามารถป้องกันและจัดการได้

นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image