พรทิพย์ กองชุน จาก “กูเกิล” ถึง “จิตตะ” ปรัชญาธุรกิจอินโนเวชั่น

เธอ..เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งระดับสูงของ Google (Thailand) สำหรับ พรทิพย์ กองชุน หรือ อ้อ ในตำแหน่ง หัวหน้าฝ่ายการตลาดประจำประเทศไทย

ตลอด 10 ปีที่อยู่ “กูเกิล” พรทิพย์สร้างแบรนด์ด้วยความรักและความตั้งใจ นำพาธุรกิจของกูเกิลในประเทศไทยประสบความสำเร็จตามเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย อาทิ Google Finance, Search, Maps และ Mobile

วันนี้ แม้ผู้หญิงคนนี้จะโบกมืออำลาองค์กรระดับโลกนี้แล้ว หากไม่ได้หยุดสร้างสรรค์เทคโนโลยี เธอนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมา ก่อตั้งบริษัทของตัวเองในนาม “Jitta” เว็บไซต์การเงินการลงทุน ด้วยคิดการใหญ่ว่า “อยากให้โปรแกรมที่สร้างโดยคนไทย คนทั่วโลกเอาไปใช้ และยอมรับในศักยภาพของประเทศไทย”

พรทิพย์ไม่ได้จบมาทางด้านไอทีโดยตรง แต่จบทางด้านการเงินและการธนาคารจาก ม.รามคำแหง แต่เมื่อจบการศึกษาแล้ว เส้นทางชีวิตของเธอก็คลุกวงในกับไอทีมาโดยตลอด เริ่มจากทำเว็บไซต์ท่องเที่ยว จากงานนี้ทำให้เธอ “หลงเสน่ห์เทคโนโลยี เพราะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นจริง” ทำให้เธอตัดสินใจเข้าทำงานกับองค์กรระดับโลกอย่าง “ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย” เรียนรู้งาน 2 ปี ก่อนจะมาร่วมงานกับกูเกิลในตำแหน่ง “ที่ปรึกษาด้านการขายในประเทศ” ด้วยอายุ 28 ปี และต่อมาก็ขึ้น “ตำแหน่งสูงสุด” ของกูเกิล ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาดประจำประเทศไทย

Advertisement

“ตลอด 10 ปีที่อยู่กับกูเกิล ได้เรียนรู้การทำงานในบริษัทที่พัฒนาหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมตั้งแต่เริ่มต้นเป็นไอเดียจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้คนไทยใช้งานได้ และเกิดประโยชน์สูงสุด”

ซึ่งเธอบอกว่า นี่แหละคือความ “สนุก” ของงาน

“งานที่ภูมิใจที่สุด คือ การพัฒนากูเกิลเสิร์ช” พรทิพย์ว่า

Advertisement

“ย้อนไปเมื่อก่อน การค้นหาของกูเกิลยังไม่ดีเท่าปัจจุบันมากนัก ค้นหาอะไรไม่ค่อยเจอ ซึ่งเป็นข้อบกพร่องของกูเกิลเสิร์ช คือ ถ้าเราใส่คำยาวๆ เข้าไป กูเกิลจะไม่รู้ว่าต้องการค้นหาอะไร เพราะไม่เข้าใจภาษาไทยว่าไม่เหมือนภาษาอังกฤษ เพราะอังกฤษเขียนคำเว้นคำ กูเกิลเสิร์ชก็เข้าใจว่า ที่เราเขียนคำต่อๆ กันคือ 1 คำ พอไปค้น 1 คำยาวๆ ก็ไม่เจอ เลยทำให้รู้ว่าผลการค้นหาของกูเกิลเสิร์ชยังไม่ดีเท่าที่ควร เพราะเขาไม่เข้าใจโครงสร้างภาษาไทย”

“พอมีโอกาสได้ไปอเมริกาและได้พูดคุยกับซีอีโอของกูเกิล ก็ได้ไปอธิบายว่าระบบกูเกิลไม่เข้าใจภาษาไทย จึงขอให้ส่งทีมพัฒนามาช่วย หลังจากนั้นการเสิร์ชของกูเกิลก็พัฒนามาเรื่อยๆ เข้าใจภาษาไทยได้เต็มที่”

“พอมีคนค้นข้อมูลได้ หรือหลายคนบอกว่า ขอบคุณกูเกิลที่ค้นหาสิ่งที่ต้องการได้ ก็จะแอบยิ้ม และภูมิใจว่าเรามีส่วนในทีมที่พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาตอบโจทย์คนไทยได้ ทำให้คนได้รับประโยชน์สูงสุด”

อย่างที่รู้กันว่า กูเกิลเป็นองค์กรที่น่าทำงานมากที่สุด พรทิพย์บอกว่า “กูเกิลไม่ใช่แค่ออฟฟิศตกแต่งสวยงามอย่างเดียว แต่เขาให้ความสำคัญกับพนักงานมาก กูเกิลคิดเสมอว่า จะทำอย่างไรให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน นี่เป็นหัวใจสำคัญ”

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงตั้งคำถามว่า ทำไมเธอถึงลาออกจากองค์กรนี้

“จริงๆ ยังชอบกูเกิลมากๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่วันหนึ่งได้ไปสัมภาษณ์ซีอีโอของกูเกิลสมัยนั้น เขาบอกว่า ถ้าคุณกำลังไม่ได้ทำอะไรที่บ้าบิ่น คุณกำลังทำสิ่งที่ผิดแล้วล่ะ จากตรงนี้ทำให้มาคิดว่า ชีวิตได้สะสมประสบการณ์มาเยอะแล้ว จึงคิดว่าเราน่าจะเป็นคนไทยที่พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเองได้” ซึ่งนี่คือแรงบันดาลใจ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป ทั้งหมดของความ “บ้าบิ่น” ที่เธอตัดสินใจ ล้วนถูกหล่อหลอมมาจากกูเกิลทั้งสิ้น

“กูเกิลบอกเสมอว่า 1.ทุกอย่างเป็นไปได้หมด 2.มีเป้าหมายที่ชัดเจน 3.Think Big หรือคิดการใหญ่ ถ้าเราจะทำอะไร เราต้องคิดอิมแพคที่มีคุณค่ากับคน ซึ่งดิฉันขอใส่คำว่า Think Big แต่ Start small คือ คิดการใหญ่แต่เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ได้ เพราะหลายอย่างในกูเกิลก็เริ่มจากเล็กๆ เหมือนกัน เช่น Gmail และ 4. ถ้าไม่เคยล้มเหลว คือ คุณล้มเหลวแล้วล่ะ เหมือนคุณไม่ได้ทำอะไร ซึ่งกูเกิลมองพนักงานทุกคนเหมือนสตาร์ตอัพ เหมือนผู้ประกอบการคนหนึ่ง เวลาทำโปรเจ็กต์อะไร พนักงานแทบจะเป็นซีอีโอของโปรเจ็กต์นั้นเลย”

จาก 4 มุมมองนี้ ทำให้เธอเชื่อมั่นว่า “น่าจะทำอะไรให้เกิดขึ้นได้” จึงร่วมมือกับเพื่อนทำ “จิตตะ” เว็บไซต์การเงินการลงทุน

“สิ่งสำคัญในชีวิตคน คือ การทำยังไงให้ชีวิตมั่งคั่ง อาจไม่ต้องรวยก็ได้ แต่มีเงินใช้จนแก่ ซึ่งก็ต้องลงทุน แต่คนส่วนใหญ่จะกลัวเรื่องการลงทุน จึงทำเทคโนโลยีมาคำนวณวิเคราะห์การลงทุน เช่น ลงทุนหุ้น มีความเสี่ยงอย่างไร และให้ผลตอบแทนอย่างไร ซึ่งหลายคนบอกว่าคิดเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะไม่รู้เรื่องไฟแนนซ์ การเงิน การบัญชี”

“เราคิดว่า การวิเคราะห์การเงิน เทคโนโลยีสามารถทำได้ ถ้าเราเขียนโปรแกรมขึ้นมา ซึ่งจิตตะจะเข้ามาช่วยทำให้การลงทุนเป็นเรื่องง่าย โดยช่วยวิเคราะห์หุ้นว่าตัวไหนเป็นหุ้นที่ดี น่าลงทุน และมองระยะยาวมีเงินใช้จนกระทั่งเกษียณ ซึ่งนี่คือเป้าหมายหลักของจิตตะ”

ทุกวันนี้ จิตตะก่อตั้งมาได้ 1 ปีแล้ว ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนกว่า 80,000 คน และหลังจากนี้จะขยายตลาดไปยังต่างประเทศสำหรับผู้ที่สนใจการลงทุนระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ อเมริกา รวมทั้งญี่ปุ่น ซึ่งพรทิพย์ได้นำหลักการทำงานของกูเกิลมาประยุกต์ใช้ในการทำงานบริษัทของตัวเองด้วย

“โมเดลธุรกิจอินโนเวชั่นของกูเกิล คือ 70-20-10 โดย 70 คือ ทำธุรกิจหลัก พัฒนาให้ดีขึ้น ขยายตลาด ขณะที่ 20 คือ ทำอะไรไม่เกี่ยวกับธุรกิจหลัก เช่น เรียนเพิ่มเติม อ่านหนังสือ และ 10 คือ ทำสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเลย คือ อะไรที่อยากจะทำ ซึ่งนี่คือการบริหารเวลาการทำงานของพนักงานที่สร้างเทคโนโลยี ไม่มีที่ไหนต้องทำงาน 100% แต่ต้องแบ่งเวลาทำอะไรก็ได้บ้าง เพื่อที่จะไม่เครียดเกินไป”

ซึ่ง 10% ของผู้หญิงเก่งคนนี้ ณ ตอนนี้ คือ เล่นเกมโปเกมอน ที่บอกเลยว่า “ชอบมาก เพราะมีความซับซ้อน และวางแผนกลยุทธ์ได้ดี”

พรทิพย์ กูเกิล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image