เมื่อ “การเรียนออนไลน์” กำลังส่งผลกระต่อสุขภาพจิตต่อ ‘วัยเด็ก’ ที่เป็นวัยสำคัญของการเรียนรู้และการเจริญเติบโต นับเป็นสิ่งท้าทายสำหรับ ‘พ่อแม่ผู้ปกครอง’ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาในยุคโควิด-19 ที่อาจทำให้เด็กต้องตกอยู่ในภาวะเครียดเกินความจำเป็น
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในสภาวะวิกฤติโควิด-19 ทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน กระทบต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง บางครอบครัวที่ต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) ควบคู่กับการเลี้ยงลูก และดูแลคุณภาพการศึกษาของลูกให้เป็นไปตามแผนการสอนของโรงเรียน จนอาจทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเกิดภาวะเครียด กังวล ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจ และอาจแสดงพฤติกรรมเชิงลบใส่เด็ก นับเป็นการซ้ำเติมความเครียดของเด็กยิ่งขึ้น
“ผลสำรวจจากองค์การยูนิเซฟ สำรวจเด็กและเยาวชนในประเทศไทย อายุ 15-19 ปี จำนวน 6,771 คน เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 พบว่า เด็กและเยาวชนมีความเครียด วิตกกังวล ด้านการเรียน ร้อยละ 70 อาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตในระยะยาว หากเด็กและเยาวชนไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากที่บ้าน”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีความมุ่งมั่นที่พัฒนาสร้างหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อช่วยให้ผู้ปกครองมีเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กอย่างถูกต้อง ส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว และฝึกให้ผู้ปกครองมีทักษะในการรับมือกับปัญหาพฤติกรรมของลูก ช่วงเรียนออนไลน์ยุคโควิด-19 จึงร่วมมือกับทีมจิตแพทย์เด็ก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ทีมจิตแพทย์เด็ก กรมสุขภาพจิต นักจิตวิทยา และภาคีเครือข่าย เปิดคัมภีร์เลี้ยงลูกออนไลน์ เน็ตป๊าม้า (Net PAMA) ขึ้น
โดยมี รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เจ้าของเพจ ‘สมาธิสั้นแล้วไง’ เป็นหัวหน้าโครงการ
สำหรับคัมภีร์เน็ตป๊าม้า ประกอบด้วย 2 หลักสูตร ด้วยกน คือ
คอร์สเร่งรัด: เหมาะสำหรับผู้ปกครองที่มีเวลาน้อย และต้องการแนวทางในการปรับพฤติกรรมลูกที่ตรงกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ เพียงแค่คลิกเลือกพฤติกรรมของลูกจากตัวเลือกที่มีให้ ระบบจะคำนวณว่าคลิปวิดีโอใดเหมาะกับพฤติกรรมของลูกท่านมากที่สุด แล้วเริ่มเรียนเลย ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีต่อคลิป
คอร์สจัดเต็ม: มีทั้งหมด 6 บทเรียน ครอบคลุมทุกเทคนิคในการปรับพฤติกรรมลูก ได้แก่ 1.ปัจจัยพื้นฐานในการปรับพฤติกรรมเด็ก, 2.ทักษะพื้นฐานในการสื่อสาร, 3.เทคนิคการชม, 4.เทคนิคการให้รางวัล, 5.เทคนิคการลงโทษ และ 6.เทคนิคการให้คะแนน โดยบทเรียนเหล่านี้จะทำให้พ่อแม่รู้วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในแต่ละบทเรียนจะประกอบด้วยการบรรยายให้ความรู้โดยจิตแพทย์เด็ก การดูกรณีศึกษา การเล่นเกม การทำแบบฝึกหัดและการบ้าน ที่จะช่วยให้ผู้ปกครองได้ฝึกฝนทักษะจนมั่นใจ แต่ละบทจะใช้เวลาเรียนประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ผู้เรียนสามารถสะสมคะแนนจากการเรียน เพื่อเข้าห้องบอร์ดสนทนา (webboard) พิเศษในการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เด็ก และเมื่อเรียนจบและทำการบ้านครบทั้ง 6 บทเรียนจะได้รับประกาศนียบัตรไปโดยทันที
“ส่วนแผนระยะยาว สสส. จะร่วมกับภาคีเครือข่าย ขยายผลนำหลักสูตร ‘เน็ตป๊าม้า’ ไปเชื่อมกับองค์กรและบริษัทต่าง ๆ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวกในโลกยุคใหม่แก่พนักงานในองค์กรและบริษัท เชื่อว่าหลักสูตรออนไลน์ที่ผสมผสานทั้งสาระและความบันเทิงจะช่วยให้ครอบครัวยุคใหม่รับมือกับสถานการณ์ทั้งช่วงโควิด-19 และในภาวะปกติได้เป็นอย่างดี” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พ่อแม่ที่เครียดเพราะลูกต้องเรียนออนไลน์ช่วงโควิด-19 ส่วนหนึ่งเกิดจากการ รู้สึกทนไม่ได้ถ้าลูกไม่ทำการบ้าน รู้สึกแย่ที่ลูกขี้เกียจ เถลไถล เครียด ลูกไม่ได้ดั่งใจ ดังนั้น ต้องคิดเสมอว่าเราไม่ใช่นักเรียน การบ้านของลูกไม่ใช่ของเรา ต้องรู้ว่าพ่อแม่มีหน้าที่สอดส่อง ดูแล และไม่ใช่ต้องทำให้ พ่อแม่บางคนกลัวครูว่าไม่ดูแลลูกปล่อยให้ลูกมีงานค้าง เป็นต้นเหตุของความเครียด
“สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ปกครองต้องคอยประสานกับครูที่โรงเรียน เพื่ออจะได้ช่วยสอดส่องดูแลเด็กให้มีพัฒนาการที่เหมาะสม รวมถึงช่วงเวลาเรียนของเด็กครูจำเป็นจะต้องแบ่งเวลาคุยกันหลังจบแต่ละคลาสตัวต่อตัว อย่างน้อย 2-3 วันครั้ง คอยเช็กเด็กว่าติดขัดหรือต้องการให้ช่วยเหลือตรงไหน
ขณะที่ นางสาวณัฐพร พีรพุทธรางกูร ผู้ปกครองที่เข้าร่วมหลักสูตรออนไลน์เน็ตป๊าม้า กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมลงทะเบียนเรียน เพราะต้องการมีองค์ความรู้เรื่อง ‘จิตวิทยาเด็ก’ เพื่อนำไปใช้กับลูกในชีวิตประจำวัน จึงเลือกสมัครคอร์สแบบจัดเต็ม 6 บทเรียน โดยเนื้อหาของบทเรียนทำให้ได้รู้วิธีการและเทคนิคเชิงบวกในการดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลังจากเรียนนอกจากได้รับประกาศนียบัตรและคะแนนสะสมเพื่อใช้เป็นสิทธิพิเศษในการปรึกษาจิตแพทย์เด็ก วัยรุ่น และนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์ในการดูแลเด็กแล้ว ยังสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้เลี้ยงลูกในระยะยาวได้ ทั้งการสานสัมพันธ์ในครอบครัว การใช้คำพูดและคำชมเชิงบวก รวมถึงวิธีการให้รางวัลและลงโทษที่เหมาะสม และหลังจากนำมาใช้ในการเลี้ยงลูกพบว่า เด็กมีเหตุผล เชื่อฟัง มีความรับผิดชอบมากขึ้น และทำให้ตัวเองในฐานะผู้ปกครองก็ได้มีมุมมองการเลี้ยงลูกแบบใหม่คือ เลิกคาดหวังกับลูก ไม่กดดันในสิ่งที่เด็กไม่ชอบ เพื่อให้เขาเติบโตอย่างมีความสุข ควบคู่กับการมีสุขภาวะที่ดี
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้สนใจทั่วไป “คัมภีร์ออนไลน์เน็ตป๊าม้า” (Net PAMA) สามารถเข้าเรียนได้ฟรีที่เว็บไซต์ www.netpama.com ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป และสามารถติดตามข่าวสารต่าง ๆ ได้จาก Fan Page : Net PAMA: เน็ต ป๊าม้า