ส่อง “โรงงานคนพิการ” ต้นแบบส่งเสริมอาชีพ สร้าง “กำไร” ด้วย “ฝีมือ”

จากถนนติวานนท์ จ.นนทบุรี เข้าไปประมาณ 700 เมตรในซอยติวานนท์-ปากเกร็ด 1 จะพบกับศูนย์พัฒนาอาชีพคนพิการ จ.นนทบุรี หรือ “โรงงานปีคนพิการสากล” ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

โรงงานแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2526 เพื่อเป็น “ศูนย์ต้นแบบด้านการส่งเสริมอาชีพสำหรับคนพิการ” ซึ่งดำเนินการและมีประโยชน์ต่อผู้พิการอย่างไร

นายสมคะเน จริตงาม ผอ.ศูนย์ฯ กล่าวว่า หลักคิดของเราคือ ทำอย่างไรให้คนพิการมีความรู้ในการประกอบอาชีพ มีรายได้ สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม โดยปัจจุบันได้ดำเนินกิจกรรมใน 2 แผนก ได้แก่ 1.แผนกผลิตภัณฑ์ผ้าแบบต่างๆ เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า ทำตั้งแต่การออกแบบ รับสั่งทำ และจัดจำหน่าย โดยมีกลุ่มลูกค้าคือหน่วยงานรัฐ บริษัทออร์แกไนซ์มารับไป ราคาตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักร้อยต่อชิ้นขึ้นอยู่กับความยากง่าย

ผอ.ศูนย์กล่าวอีกว่า 2.แผนกผลิตน้ำดื่มบรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด มีหลายขนาดตั้งแต่น้ำถ้วยจนถึงน้ำถัง ภายใต้แบรนด์ประชาบดี ซึ่งภาพรวมผลการดำเนินงานเป็นไปด้วยดี สามารถทำรายได้มากกว่ารายจ่าย อย่างปี 2558 มีรายได้สูงถึง 9 ล้านบาท หักรายจ่ายเหลือ 1 ล้านกว่าบาท ขณะที่ปีนี้ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม มีรายได้มากกว่ารายจ่ายแล้ว 6 แสนกว่าบาท ถือว่าเหลือมากกว่าทุกปี ภายใต้เงินทุน สถานที่ และบุคลากรที่จำกัด

Advertisement

“นอกจากผลประกอบการ อีกสิ่งที่ภูมิใจคือโรงงานแห่งนี้ทำให้คนพิการมีความสุข เพราะเขารู้สึกว่าสามารถพึ่งตัวเองได้ โดยปัจจุบันพวกเขาจะมีรายได้เฉลี่ย 5.6 พันบาทต่อเดือนต่อคน หรือบางคนขยันมากหน่อยและมีฝีมือจะได้สูงสุด 1 หมื่นกว่าบาทต่อเดือน สามารถเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวได้” นายสมคะเนกล่าว

ท่าน ผอ.ศูนย์พาเดินชมห้องเย็บผ้า ภายในพนักงานกำลังเร่งฝีมือให้ทันออเดอร์ผลิตถุงผ้าชุดใหญ่ให้ธนาคารแห่งหนึ่ง สิ่งที่เห็นนอกจากความสะอาด เป็นระเบียบ และได้มาตรฐาน ยังเห็นรอยยิ้มของผู้ปฏิบัติงานทำงานอย่างมีความสุข

 

Advertisement

S__6086667

S__6086669

S__6086671

S__6086672

S__6086673

S__6086674

 

น.ส.สมร ถานา อายุ 52 ปี ชาว จ.นครพนม ซึ่งป่วยเป็นอัมพฤกษ์ตั้งแต่ยังสาวๆ แต่ก็ดิ้นรนไปพร้อมกับสามีที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์เช่นกัน 2 ชีวิต หาเลี้ยงตนเองและมีชีวิตได้อย่างคนทั่วไป

น.ส.สมรกล่าวว่า ดิฉันทำงานที่นี่มา 20 กว่าปีแล้ว แต่ก่อนก็เคยทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ทำอยู่ไม่กี่ปี เพื่อนก็แนะนำให้มาทำงานที่นี่ จึงลองทำดูสัมผัสว่าที่นี่ดี ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ดูแลดี สถานที่สะดวกสบาย และเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจกัน จึงทำให้ทำงานมาถึงทุกวันนี้ แม้ต่อเดือนจะมีรายได้ประมาณ 1,500-3,000 บาท แต่ก็อยู่ได้ โดยมีอาชีพเสริมคือการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 แผง ทำให้รวมๆ แล้วมีรายได้ต่อเดือนหมื่นกว่าบาท สามารถนำไปใช้จ่ายและผ่อนบ้านได้

“ส่วนตัวก็อยากให้มีโรงงานแบบนี้เพื่อส่งเสริมให้คนพิการอื่นๆ ได้มีงานทำ สามารถพึ่งพาและยืนหยัดด้วยตนเองได้” น.ส.สมรกล่าว

ด้านนายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรม พก. กล่าวว่า ที่นี่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ ทำให้ไม่สามารถรับพนักงานเพิ่มได้ หากคนที่ทำอยู่ไม่ลาออก แต่เราก็พยายามทำให้คนพิการสามารถพึ่งพาตัวเองได้ด้วยการทำงาน โดยขณะนี้พยายามหาแหล่งชุมชนที่มีคนพิการมากๆ ให้มารวมกลุ่มกัน พัฒนาฝีมือ แล้วกระจายชิ้นงานให้ทำ ช่วงแรกอาจไม่เน้นเรื่องเพดานรายได้ว่าทำแล้วต้องได้ตามค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แต่อยากทำให้เขารู้สึกว่าตนเองก็สามารถทำอะไรได้ ไม่ใช่ภาระครอบครัว พัฒนาจนสามารถเข้าสู่ระบบแรงงานได้ในที่สุด หรือหากเข้าไม่ได้ก็พยายามส่งเสริมให้ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ ต่อไป

ร่างกายไม่เต็มร้อย แต่หัวใจเกินพัน

 

สมคะเน จริตงาม, สมชาย เจริญอำนวยสุข, สมร ถานา
สมคะเน จริตงาม, สมชาย เจริญอำนวยสุข, สมร ถานา

 

S__6086665
แผนกผลิตน้ำดื่มตรา ‘ประชาบดี’

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image