สสส.ร่วมประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 19 ‘ขับเคลื่อนนโยบายควบคุมยาสูบด้วยองค์ความรู้’

เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนสังคมปลอดบุหรี่ พร้อมกับนำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิชาการในการควบคุมยาสูบในประเทศไทย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ (NATFT) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอีก 12 องค์กรพันธมิตรร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 หรือ 13th Asia Pacific Conference on Tobacco or Health (13th APACT 2021 Bangkok) ระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์สตรีมมิ่ง

ในงานประกอบไปด้วยการประชุมเชิงปฎิบัติการ ‘นวัตกรรมและงานวิจัย เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่’ การบรรยายความสำคัญของการผลักดันการออกกฎหมาย ความสำเร็จของการต่อสู้กับเรื่องยาสูบในประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง, ผลิตภัณฑ์บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ฯลฯ โดยนักวิชาการระดับแถวหน้าทั้งคนไทยและต่างประเทศ

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบฯ กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายเพื่อการควบคุมยาสูบของไทยได้ร่วมกันประกาศปฏิญญาเพื่อการควบคุมยาสูบ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อเร่งกระบวนการ Tobacco Endgame พร้อมข้อแนะนำต่างๆ อาทิ รณรงค์ให้สื่อมวลชนทั่วประเทศเน้นย้ำเรื่องความเสี่ยงโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นกับการสูบบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท จัดประเภทผลิตภัณฑ์ยาสูบรวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นผลิตภัณฑ์อันตรายในสถานการณ์การแพร่ระบาด จัดตั้งเครือข่ายวิชาชีพด้านสุขภาพในระดับภูมิภาค  เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนสร้างสังคมปลอดควันบุหรี่ (Smoke free Society) ให้ Tobacco Endgame บรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันสร้างสังคมปลอดบุหรี่อย่างจริงจัง

ด้วยบทบาทหน้าที่การสร้างเสริมสุขภาพคนไทย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นในการร่วมควบคุมยาสูบสู่ Smoke Free Thailand เพื่อนำไปสู่ Tobacco Endgame และ Smoke Free Generation เพื่อลดปริมาณการบริโภคยาสูบให้เป็นศูนย์ ทั้งนี้ สถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ยืนยันด้วยผลสำรวจเบื้องต้นจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของคนอายุ 15 ปีขึ้นไปลดเหลือร้อยละ 17.4 หรือลดลงจากร้อยละ 19.1 ในปี 2560 

Advertisement

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยสูบบุหรี่ลดลง มาจากนโยบายควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาองค์ความรู้ และงานวิจัยที่ทันสถานการณ์ สสส. ได้ขับเคลื่อนมาตรการสังคมไทยปลอดควันบุหรี่มาเกือบ 20 ปี ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยเพื่อนำไปใช้ทั้งการพัฒนานโยบาย การวางแผนขับเคลื่อนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ตลอดจนการสื่อสารรณรงค์สังคมที่ให้ความสำคัญการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน”

ตลอดทั้ง 2 วันของงานประชุม 13th APACT 2021 ครอบคลุมทั้งเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนการทำงานด้านควบคุมยาสูบของประเทศต่างๆ การจัดการภาษี การรณรงค์ การทำความเข้าใจกับนวัตกรรมยาสูบแบบใหม่ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและอื่นๆ การรวมเครือข่ายนานาชาติ ทั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน ฃและเครือข่ายเยาวชน โดยมีเอกสารคัดย่อทางวิชาการงานวิจัยมากกว่า 300 ชิ้น หลังจากการประชุมเสร็จสิ้นจะมีการนำข้อสรุปเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานควบคุมบริโภคยาสูบระดับนานาชาติและของประเทศไทยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image