ถอดรหัส ‘สมองส่วนหน้า’ พฤติกรรม ‘เยาวชนคดีข่มขืน’ เราฉีดวัคซีนชีวิตให้เด็กดีแล้วยัง?

ในช่วงที่สังคมกำลังโจษจันพฤติกรรมเด็กและเยาวชนที่ก่อคดีสะเทือนสังคม จากคดีกลุ่มเยาวชนฆ่าโหดชายหนุ่มและนำร่างฝังดินพร้อมข่มขืนแฟนสาว ซึ่งปรากฏข่าวผ่านหน้าสื่อหลายฉบับไปแล้ว หรือย้อนไปไม่กี่เดือนที่กลุ่มเยาวชนอีกเช่นกัน รุมทำร้ายเยาวชนชายวัย 19 ปี หน้าสถานบันเทิงแห่งหนึ่งจนเสียชีวิตที่ จ.กาญจนบุรี

จนเกิดวลีเด็ดในโลกออนไลน์ รอดเพราะเป็นเยาวชน, รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง เป็นเยาวชนลดได้อีกตามดุลพินิจของศาล เข้าสถานพินิจไม่กี่ปีก็กลับออกมา

จากคดีดังกล่าวยังทำให้วลีเด็ดแคมเปญฮิตที่เริ่มเลือนหายกลับมาอีกครั้งคือ “ข่มขืนเท่ากับประหาร”

เป็นโอกาสเรียนรู้และทำความเข้าใจร่วมกันว่าคดีเยาวชนปัจจุบันเป็นอย่างที่สังคมเข้าใจหรือไม่ แล้วอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว และสุดท้ายเขาจะสามารถกลับมามีชีวิตปกติร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อีกไหม

Advertisement

Untitled-1

เริ่มต้นที่ผู้สนับสนุนแนวคิดข่มขืนเท่ากับประหาร น.ส.ธนันณัฐ วัฒนะเกษมศิริสุข หนึ่งในแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “พวกเราต้องการเปลี่ยนกฎหมาย คดีข่มขืนให้ลงโทษประหารชีวิตเท่านั้น” ซึ่งมียอดกดไลค์ประมาณ 3.6 หมื่นคน กล่าวว่า พวกเราเริ่มรณรงค์แคมเปญนี้มา 4-5 ปี เคยได้รับความสนใจมากที่สุดครั้งที่รณรงค์ล่ารายชื่อเปลี่ยนกฎหมายที่ห้างสยามพารากอน ตอนที่มีคดีเด็กสาวถูกฆ่าข่มขืนบนรถไฟ และนำรายชื่อที่รวบรวมได้ประมาณ 3-4 พัน ส่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“ที่ผ่านมาทุกอย่างยังอยู่ที่เดิม เราเหมือนเป็นเสียงเล็กๆ ที่ตะโกนออกไป แต่ดังไม่พอ” แอดมินเพจเผย แล้วบอกถึงความสำคัญที่ออกมารณรงค์ว่า

Advertisement

“เพราะคดีแบบนี้มันใกล้ตัว ผู้หญิงและเด็กมักเป็นเป้าหมายของความรุนแรง ขณะที่กฎหมายไทยยังอ่อนอยู่ ไหนจะมีนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มคอยหนุนคอยช่วย ฉะนั้นอยากให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตรงไปตรงมา ใช้กฎหมายให้เข้มแข็ง คิดว่าจะสามารถลดอาชญากรและคดีแบบนี้ไปได้เยอะ”

แม้จะหมดกำลังใจไปบ้างหลังการชุมนุมล่ารายชื่อเปลี่ยนกฎหมายครั้งนั้น แต่เพราะเหตุการณ์ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งคดีที่ซุกใต้พรมตามท้องถิ่น และคดีที่สะเทือนสังคม ล่าสุด พวกเขากำลังกลับมารณรงค์อีกครั้ง แคมเปญเหมือนเดิมคือ “ข่มขืนเท่ากับประหาร” เพิ่มเติมคือ “ไม่ให้ลดโทษ ไม่ให้อภัยโทษ แม้จะเป็นเยาวชนก็ตาม”

“มีคำพูดที่เราแชร์ในเฟซว่า เสียงของเหยื่อไม่สามารถร้องขออะไรได้ แต่คำสารภาพของผู้ต้องหาสามารถต่อชีวิตผู้ต้องหาได้ ฟังแล้วมันเจ็บปวด ก่อนทุกคนจะโดนข่มขืน ก่อนจะเสียชีวิต เขาก็ร้องด้วยความเจ็บปวด”

จากนี้ทางเพจจะล่ารายชื่อผู้สนับสนุนต่อไป และส่งไปให้ “บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี” เป็นผู้นำไปเสนอรัฐบาล “หากปล่อยไว้ สถานการณ์ยิ่งร้ายแรงขึ้นไปทุกวัน” แอดมินเพจย้ำ

ถัดมาเป็นผู้คร่ำหวอดในแวดวงกฎหมายเด็กและเยาวชน นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเยาวชนกับผู้ใหญ่ จิตสำนึกในการกระทำผิดไม่เหมือนกัน เยาวชนยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ เขาไม่ได้กระทำภายใต้จิตสำนึกเต็ม 100 เหมือนผู้ใหญ่ กฎหมายจึงกำหนดวิธีการและบทลงโทษไม่เหมือนผู้ใหญ่ เยาวชนเมื่อกระทำผิดศาลอาจลดโทษให้เท่าไหร่ก็ได้ หรืออาจไม่ลดโทษแต่ใช้วิธีคุ้มครองสวัสดิภาพได้ หากพฤติกรรมคดีไม่ร้ายแรง ส่วนโทษประหารชีวิตมีอยู่แล้ว เพียงแต่เด็กกลุ่มนี้ไม่มีโอกาสประหารชีวิต เพราะศาลจะลดโทษอย่างต่ำ 1 ใน 2 หรือครึ่งหนึ่ง อาจเหลือจำคุกตลอดชีวิต แต่จำคุกตลอดชีวิตก็อาจไม่ถึงอีก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้รับผิดชอบอะไร ศาลอาจสั่งบำบัดฟื้นฟูพฤติกรรมเพื่อไม่ให้ก่อปัญญาระยะยาว ฉะนั้นเด็กกลุ่มนี้จึงต้องเข้าสถานพินิจ ซึ่งจะต้องมีกระบวนการปรับแก้พฤติกรรม

ทั้งนี้ สรรพสิทธิ์นำทฤษฎีการทำงานของสมองมาอธิบายให้เห็นสาเหตุของพฤติกรรมกลุ่มเยาวชนดังกล่าว เพื่อไขข้อข้องใจว่าทำไมกฎหมายถึงยังคุ้มครองเยาวชน

“เนื่องจากสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนเหตุผลและความรู้จักรับผิดชอบชั่วดียังเติบโตไม่เต็มที่ ยิ่งเมื่อขาดการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัว ที่จะสอนให้บุตรหลานรู้จักผิดชอบชั่วดี เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเยาวชนจึงใช้สมองส่วนหลัง ซึ่งเป็นส่วนอารมณ์และสัญชาตญาณการเอาตัวรอดทำลงไป และแย่เข้าไปอีก หากเยาวชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น อยู่ในครอบครัวหรือชุมชนที่เสพติดความรุนแรงจนชาชิน ได้รับการถ่ายทอดทัศนคติเรื่องเพศที่มีการล่วงละเมิดทางเพศเป็นกิจวัตร แน่นอน เบ้าหลอมเป็นอย่างไรเยาวชนก็เป็นอย่างนั้น”

“อย่างเด็กที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทฆ่าคู่อริต่างสถาบันตาย ทั้งที่ไม่ได้รู้จักกันเลย อันนี้ก็ไม่ได้รับการฝึกเหตุผลความรับผิดชอบชั่วดี คนเหล่านี้จะคุ้นเคยกับการใช้ความรุนแรงตอบสนองอารมณ์ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมไม่ควรประหารชีวิตเด็ก เพราะมันไม่ได้เกิดจากความชั่วจากตัวเขาเองล้วนๆ แต่อยู่ที่สภาพแวดล้อมเขา ซึ่งพอยังพอแก้ไขได้ เพราะสมองส่วนหน้าจะเติบโตถึงอายุ 18 ปี และจะพัฒนาถึงอายุ 25 ปี”

“แต่ทั้งนี้ ระบบการคุมขังเองก็ไม่สามารถทำให้ผู้กระทำผิดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เพราะไม่มีระบบบำบัดฟื้นฟู อย่างในประเทศไทยเห็นที่มีและทำเป็นล่ำเป็นสันคือ บ้านกาญจนาภิเษกฯ ของคุณทิชา ณ นคร ที่นั่นมีกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกือบเต็ม 100 จะเหลือเพียงคนที่มีปัญหาทางสมองจริงๆ ที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้”

สรรพสิทธิ์อธิบายระบบบำบัดฟื้นฟูว่า “เป็นระบบที่ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดจะได้รับการฟื้นฟูเยียวยา นอกเหนือจากการชดเชยเยียวยาที่เป็นรูปแบบทรัพย์สิน เช่น การทำให้ผู้กระทำสำนึกผิด สารภาพผิดต่อหน้าผู้เสียหายเพื่อขอโทษ ว่าทำไปด้วยเหตุผลอะไร และจะไม่ทำอย่างนั้นอีก ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่จะทำให้ผู้เสียหายเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้กระทำว่าอะไรเป็นต้นเหตุ อาจทำให้ผู้เสียหายเข้าใจและยอมรับการขอโทษในที่สุด”

“ระบบนี้ในต่างประเทศก็มี อย่างในนิวซีแลนด์ อังกฤษ หรือหลายๆ ประเทศ ถ้าเด็กกระทำความผิดอาญาร้ายแรงอย่างนี้ เขาจะให้ครอบครัวทั้ง 2 ฝ่าย ตัวเด็กทั้ง 2 ตัวแทนชุมชน ตัวแทนโรงเรียน มาร่วมกำหนดแผนบำบัดฟื้นฟูผู้เสียหายและผู้กระทำผิด มันเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้กระทำผิดรู้สึกผิดและขอโทษจากใจจริงๆ ไม่ใช่ไปจุดธูปขอโทษขอขมาปากเปล่าเท่านั้น”

ส่วนกระแสสังคมที่ขอให้จำคุกตลอดชีวิตเยาวชนดังกล่าว บ้างถึงขั้นประหารชีวิตนั้น สรรพสิทธิ์ยืนยันว่า “ทำไม่ได้ เพราะไทยเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาสิทธิเด็ก ที่ระบุห้ามจำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิตเด็ก”

แต่สิ่งที่ทำได้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สรรพสิทธิ์แนะนำคือ “1.ต้องมีกระบวนการบำบัดฟื้นฟูเด็กอย่างบ้านกาญจนาภิเษกให้มาก และ 2.ต้องมีกระบวนการประเมินความเสี่ยงเด็กที่จะกระทำผิด ซึ่งจริงๆ มีระบุใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ แต่ไม่มีใครหยิบมาทำจริงจัง พอเป็นอย่างนี้ทำให้เด็กที่เสี่ยงกระทำความผิดก็เข้าสู่การกระทำความผิด ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ต้องไปแก้ ไม่ใช่เพียงไปประหารชีวิตเด็ก เพราะไม่งั้นเด็กอีกมากที่กระทำผิดก็ต้องถูกประหารอย่างนั้นหรือ อย่างไรก็ตาม ที่พูดแบบนี้ผมไม่ได้ปกป้องผู้กระทำผิด แต่อยากให้เห็นปัจจัยสาเหตุและต้องมีกระบวนการฟื้นฟูผู้เสียหายและผู้กระทำผิด”

สิ่งที่ “สรรพสิทธิ์” พูดมีผู้ริเริ่มแล้ว เพียงแต่การขยายผลยังไม่กว้างขวางและเข้มแข็ง

“เมื่อปีที่แล้ว พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเสนอแผนพัฒนากระบวนการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จนยูเอ็นเห็นชอบแผนนี้เป็นโมเดลแก้ปัญหาเยาวชนระดับโลก แต่ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจไม่ได้รับไปทำเท่าไหร่ มีเพียงสำนักงานอัยการสูงสุดที่รับผิดชอบเพียงลำพัง ฉะนั้นอยากให้รัฐบาลถือโอกาสนี้ทำเรื่องดังกล่าวให้จริงจัง ตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบ เพราะแผนนี้ถือว่าครอบคลุมในสิ่งที่ตนพูดมาข้างต้น เช่น ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดจะได้รับการบำบัดฟื้นฟูเยียวยาเต็มรูปแบบ”

ปิดท้ายด้วยผู้ทำงานด้านซ่อมแซมแก้ไขเด็กและเยาวชนคืนคนดีสู่สังคม นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“ป้ารู้สึกเจ็บปวด ทุกข์โศกร่วมกับผู้สูญเสียไม่ต่างจากทุกคน ป้าไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้กระทำ แต่ถ้าความรุนแรง เกลียดชัง ที่ร่วมราดลงไป ไม่ได้ทำให้ความชั่วร้ายนั้นหมดไป เราจะทำไปเพื่ออะไร ทบทวนกันจริงจังซิว่า เราทำเรื่องวัคซีนชีวิตให้มนุษย์ผู้มาใหม่ดีแล้วยัง? เราทำเรื่องป้องกันเฝ้าระวังดีแล้วยัง? เราทำเรื่องแก้ไขเยียวยาผู้ผิดพลาดคดีแล้วยัง? ถ้าฆ่าแล้วฆ่าอีกแก้ปัญหาได้ เราคงอยู่เย็นเป็นสุขกันนานแล้ว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image