งูสวัด…ความเจ็บปวดของผู้สูงอายุ ที่ป้องกันได้

ขอบคุณภาพจาก www.womenfitness.net

การดูแลสุขภาพให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้สูงวัย เนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นและภูมิคุ้มกันทางร่างกายที่อ่อนแอลงจึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย โดยโรคที่เกิดกับผู้สูงวัยตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปนั้นพบได้หลากหลายและเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคงูสวัดที่ถึงแม้จะฟังดูคุ้นหูแต่แฝงด้วยภัยร้ายที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสและอาการแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากเรารู้จักที่มาที่ไปของโรคนี้พร้อมทั้งวิธีป้องกันจะสามารถทำให้ผู้สูงอายุห่างไกลจากความเจ็บป่วยจากโรคนี้ได้

พญ. อรพิชญา ไกรฤทธิ์ หน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสอีสุกอีใสที่หลบซ่อนอยู่ในปมประสาทใต้ผิวหนังหลังจากมีการติดเชื้อชนิดนี้ครั้งแรก โดยเชื้อไวรัสจะแฝงตัวอยู่เป็นเวลานานหลายสิบปี จนเมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะจากการที่อายุมากขึ้น เชื้อที่แฝงตัวอยู่จะกระจายตัวตามปมประสาททำให้เส้นประสาทถูกทำลาย โดยจะแสดงอาการออกมาเป็นผื่นแดงและตุ่มน้ำใสๆ เรียงตัวเป็นกลุ่มตามแนวเส้นประสาท ซึ่งผู้ป่วยจะต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการที่ตามมา นั่นคืออาการปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณผิวหนัง แม้บางครั้งถูกสัมผัสเพียงเบาๆ ซึ่งอาการปวดดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันโดยตรง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการนอนได้

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่มีการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า 1 ใน 3 ของประชากรที่มีอายุถึง 80 ปีเคยเป็นโรคงูสวัดมาแล้ว และความชุกของโรคงูสวัดจะพบมากขึ้นอย่างชัดเจนในประชากรที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป ซึ่งผู้สูงวัยกลุ่มดังกล่าวจะมีโอกาสเป็นโรคงูสวัดได้มากกว่าผู้ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ถึง 2 เท่า

พญ. อรพิชญา ไกรฤทธิ์
พญ. อรพิชญา ไกรฤทธิ์

“ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคงูสวัดนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง โดยยิ่งมีอายุมากจะยิ่งเป็นรุนแรงและนานขึ้น เช่น อาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรังแม้ผื่นได้รับการรักษาจนหายแล้ว หรือ Post Herpetic Neuralgia (PHN) ซึ่งมักมีอาการปวดลึกๆ เรื้อรังเป็นเวลานานซึ่งอาจยาวนานเป็นปีได้ และอาจมีไข้ร่วมด้วย โดยพบได้บ่อยถึงร้อยละ 60 ของผู้ป่วยเป็นงูสวัดที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในผู้สูงวัยอาจเกิดขึ้นบริเวณดวงตา ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงจนทำให้ตาบอด หรือหากงูสวัดขึ้นบริเวณหูด้านนอกหรือแก้วหู อาจทำให้ใบหน้าซีกนั้นๆ เกิดอัมพาต ปากเบี้ยว หรือไม่สามารถหลับตาข้างนั้นให้สนิทได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากติดเชื้องูสวัดชนิดแพร่กระจายออกนอกแนวเส้นประสาท เชื้อไวรัสอาจกระจายเข้าสู่สมองและอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น ตับ ปอด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้”

Advertisement

“ความรุนแรงและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสงูสวัดภายในร่างกายนั้นยิ่งทวีคูณตามอายุ ดังนั้น แนวทางการป้องกันโรคงูสวัดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เริ่มจากการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ซึ่งจากการศึกษาการใช้วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด พบว่าสามารถลดความเสี่ยงของโรคได้ร้อยละ 70 ในผู้มีอายุระหว่าง 50-59 ปี และร้อยละ 50 ในผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อีกทั้งช่วยลดอุบัติการณ์ของอาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรังได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้สูงวัยในประเทศไทยเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ซึ่งยังเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรผู้สูงอายุทั้งประเทศ นอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเป็นการฉีดเพียงครั้งเดียวเพื่อเสรอมสร้างเกราะป้องกันให้แก่โรคนี้ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุสามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสได้ด้วยการรักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน เช่น การล้างมือให้สะอาด และรักษาความสะอาดของใช้ส่วนตัวอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งแนะนำให้ผู้สูงวัยหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชนแออัด อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ” อาจารย์ พญ. อรพิชญา กล่าวเสริม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image