สสส. ผนึกภาคีเครือข่าย รุกสร้างระบบอาหารไทย สู่เวทีโลก

     ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ยังมีอีกหนึ่งภัยด้านสุขภาพที่คุกคามคนทั้งโลก โดยเฉพาะคนไทยไปอย่างเงียบ ๆ นั่นคือ พฤติกรรมการไม่กินผักและผลไม้ แม้ผลการศึกษาจะพบว่าคนไทยกินผักและผลไม้เพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงกินไม่ถึงตามเกณฑ์ที่แนะนำในแต่ละวัน โดยในปี 2562 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบคนไทยอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป รับประทานผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด 400 กรัมต่อวัน ถึงร้อยละ 65.5

     ยิ่งในสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ย่างกรายเข้ามาทุกพื้นที่ของประเทศไทยและทั่วโลก ยิ่งเพิ่มความท้าทายในการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการกินผักและผลไม้ เมื่อพบว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 คนไทยกลุ่มที่มีรายได้น้อยกินผลไม้ลดลงถึงร้อยละ 47.1 เหตุผลสำคัญ คือ มีเงินไม่พอซื้ออาหาร โดยคนไทยกลุ่มนี้ ร้อยละ 53.7 มีอาหารไม่พอรับประทาน เพราะมีเงินไม่พอ

     เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงการบริโภคผักและผลไม้ให้เพียงพอในแต่ละวัน และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับคนไทยทุกคน สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน อิ่มและดี 2030 (Healthy Diets for All) เพื่อต่อยอดพันธกิจและผลการดำเนินงาน และเพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการสนับสนุนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit 2021: UNFSS 2021)

จุดเริ่มต้นของความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานครั้งนี้ มาจากเวที ชวนคิด..ชวนคุย ระดับชาติ (National Dialogues) ที่จัดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง จนเกิดแนวทางและมาตรการที่มีเป้าหมายสำคัญ คือ ต้องการพลิกโฉมระบบอาหารไทย เพื่อไปสู่ระบบอาหารที่ดี ยั่งยืน และเป็นธรรมมากขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals 2030 : SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ภายในปี 2573 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้าน “การยุติความหิวโหย การบรรลุความมั่นคงทางอาหาร ปรับปรุงภาวะโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน” ซึ่งจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลกต่อไป

Advertisement

การขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน มีภารกิจที่สำคัญ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ “Healthy Diets for All” เพื่อต่อยอดความร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 2. การสร้างองค์ความรู้และระบบรองรับการดำเนินงาน 3. การพัฒนาระบบการจัดการร่วมกันเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ และ 4. การสื่อสารสังคม เพื่อเสนอประเด็นสำคัญต่อสาธารณะ จนเกิดการรับรู้ ตระหนัก และสานเสริมพลังขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน

นอกเหนือจากนี้ ด้วยความมุ่งมั่น และการรขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. ที่ดำเนินงานตลอด 20 ปี มีจุดมุ่งหมายในการสร้างเสริมสุขภาพให้คนไทยมีสุขภาพดี 4 มิติสำคัญ คือ กาย จิต ปัญญา สังคม โดยอาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จากคำกล่าวของ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ว่า ถ้ากินอาหารดีต่อสุขภาพ ก็ช่วยป้องกันโรค ทำให้เราสุขภาพแข็งแรง ซึ่ง สสส. มียุทธศาสตร์การทำงานของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ เน้นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต้นแบบระบบห่วงโซ่อาหาร โดยบูรณาการทำงานระหว่างภาคีเครือข่าย ในการรวบรวมองค์ความรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดทำฐานข้อมูลวิชาการ การพัฒนานโยบายสาธารณะ ถอดบทเรียน และสื่อสารความรู้สู่สังคม เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งอาหารปลอดภัยในครัวเรือน โรงเรียน และองค์กร

“ข้อสำคัญสำหรับความร่วมมือครั้งนี้ คือ มุ่งเน้นขับเคลื่อน บังคับใช้ และประเมินผลนโยบายที่สนับสนุนให้เกิดอาหารเพื่อสุขภาวะ ที่ส่งผลต่อการปรับปรุงเชิงโครงสร้างทั้งการควบคุม และส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมด้านอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงสิทธิความเป็นพลเมืองอาหาร ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อน ทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการ

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ” เป็นมติจากคณะรัฐมนตรี ที่เกิดจากกระบวนการพัฒนานโยบายแบบมีส่วนร่วม และเห็นชอบการวางกรอบและแนวทางการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ เพื่อให้มีความพร้อมรับมือกับทุกภาวะวิกฤติ โดยมีสาระสำคัญในการดำเนินการในระดับนโยบาย เช่น การบัญญัติ “สิทธิในอาหาร” ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยกำหนดเป้าหมายร่วม เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถจัดการปัญหาเพื่อ “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ” ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13

สำหรับ กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ที่เป็นแนวทางการจัดการด้านอาหารของประเทศในด้านความมั่นคงอาหาร คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และอาหารศึกษา ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เชื่อมโยงทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับอาหารจากภาคการเกษตร การแปรรูป การบริการ สู่โภชนาการ สุขภาพผู้บริโภค ตลอดจนถึงวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การบริการและการค้า ซึ่งมีการนำหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักคิดพื้นฐานในการวางกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติอย่างสมดุล ซึ่งรวมถึงยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่ มีหลักการที่สำคัญ คือ การก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นขับเคลื่อนเพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศที่ครอบคลุมตั้งแต่ ความมั่นคงและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยการผลิต การบริหารจัดการในห่วงโซ่อาหารให้เกิดการผลิตและระบบการกระจายอาหารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายรวมถึงการกระจายอาหารที่ส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อโภชนาการ และสุขภาวะของประชาชน

     ท้ายที่สุดแล้ว การร่วมมือครั้งสำคัญของ 3 หน่วยงานครั้งนี้ จะเป็นการพลิกโฉมระบบอาหารไทย ไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน ภายใต้การสร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับพื้นที่ สังคมและประเทศ เพื่อประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยอย่างทั่วถึง อิ่มอย่างมีคุณภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image