เปิดตัว “สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์” พื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ย่านบางรัก เพื่อสุขภาพคนเมือง

กิจกรรมนันทนาการ ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลายความเครียด ทั้งจากการทำงาน หรือจากการดำเนินชีวิตในแต่วันของผู้คน โดยกิจกรรมนันทนาการที่คนส่วนใหญ่เลือกปฏิบัติมีหลายด้านด้วยกัน ตั้งแต่ กิจกรรมออกกำลังกาย กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งสถานที่ที่ได้รับความนิยมเพื่อตอบสนองกิจกรรมเหล่านี้ คือ สวนสาธารณะ และปัจจุบันแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ประชาชนในเมืองมีความต้องการสวนสาธารณะมากขึ้น หลาย ๆ เมืองจึงเกิดความตั้งใจ ขยายผลดัดแปลง ประยุกต์พื้นที่กลายเป็นสวนเพื่อชุมชนในขนาดต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์และเทรนด์การใช้ชีวิตของคนในเมืองมากยิ่งขึ้น

สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ นับเป็นอีกหนึ่งสวนสาธารณะขนาดย่อม (Pocket Park) ที่เกิดจาดขึ้นจากความต้องการสร้างพื้นที่สีเขียวให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงการพักผ่อน หรือกิจกรรมนันทนาการอื่น ๆ ได้อย่างเท่าเทียม โดยมีจุดเริ่มต้นจากการผนึกกำลังของ กรุงเทพมหาคนร ร่วมกับ เครือข่าย We! Park และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก จากพื้นที่รกร้าง ที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะแห่งใหม่กลางกรุง สร้างสุขภาพให้คนเมือง พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน

Advertisement

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยขณะเข้าเยี่ยมชมและส่งมอบสวนวัดหัวลำโพงฯ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ว่า กรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการหาพื้นที่ในการจัดทำสวนสาธารณะจะค่อนข้างยากโดยเฉพาะใจกลางเมือง กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินโครงการ Green Bangkok 2030 เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน สนับสนุนพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะ ทำให้ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 7 ตร.ม./คน ทั้งนี้ เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนตามมาตรฐานสากลที่ 10 ตร.ม./คน กำหนดให้ได้ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ซึ่งเป็นการเพิ่มการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวให้ประชาชนในระยะ 400 เมตร และการเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ต่อพื้นที่เมืองเป็นร้อยละ 30 ตามโครงการ Green Bangkok 2030

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้สำรวจพื้นที่รกร้างหรือพื้นที่ว่างเปล่าในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นระยะ เพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ในการพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะเพิ่มเติมได้ โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมดกว่า 1,500 ตารางกิโลเมตร ยังคงมีพื้นที่รกร้างจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ ภาคเอกชน และประชาชน แต่อย่างไรก็ตามในการเข้าพัฒนาพื้นที่รกร้างหรือพื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์นั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อน หากหน่วยงานต่าง ๆ หรือประชาชนมีพื้นที่ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ และมีความประสงค์อยากให้กรุงเทพมหานครพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ หรือสำนักสิ่งแวดล้อม ซึ่งในการดำเนินงานด้านต่างๆ นั้นกรุงเทพมหานครไม่สามารถดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียวได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนในชุมชนด้วย

Advertisement

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ เปิดเผยว่า สสส. มุ่งส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะ การพัฒนาให้เกิดพื้นที่สุขภาวะที่ประชาชนเข้าถึงได้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คนมีสุขภาพดีใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของชุมชน เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม สามารถสร้างความรู้สึกร่วม และความผูกพันของชุมชน เล็งเห็นปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเขตเมือง ที่ส่งผลต่อสุขภาวะทางกายใจ และสภาพแวดล้อมของเมือง 

“สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ ถือเป็นโครงการตัวอย่างที่ช่วยในการพัฒนาพื้นที่เมือง ที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยความสำคัญของโครงนี้จะเกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อ ชุมชนมีบทบาทร่วมในการพัฒนาและดูแลพื้นที่ให้คงสภาพและใช้ประโยชน์ได้ต่อไป”

สสส. จึงได้สนับสนุนโครงการ We! Park ที่เกิดจากการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเมืองและพื้นที่สาธารณะ ประกอบด้วย สถาปนิก ภูมิสถาปนิก สหวิชาชีพและผู้ที่สนใจในการพัฒนาเมือง เพื่อพัฒนาพื้นที่ว่างในเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่มีคุณภาพและยั่งยืน ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมทั้งคุณภาพชีวิตและเกิดระบบนิเวศเมืองที่เป็นมิตรกับทุกคน สำหรับ สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ ตั้งอยู่บริเวณซอยวัดหัวลำโพง เขตบางรัก กรุงเทพมหานครได้รับมอบที่ดิน จากหม่อมหลวงธิษัน ศรีธวัช เพื่อให้ใช้ประโยชน์จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะสำหรับชุมชน มีเนื้อที่รวม 262.70 ตารางวา สำนักสิ่งแวดล้อมได้นำที่ดินแปลงนี้เข้าร่วมโครงการ Green Bangkok 2030 เมื่อปี 2563 ถือเป็นสวนนำร่องอีกแห่งหนึ่งตามโครงการ Green Bangkok 2030 เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่ม We Park บริษัท ฉมาโซเอ็น จำกัด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ ร่วมกันขับเคลื่อนและให้การสนับสนุน มีการออกแบบและกำหนดพื้นที่ใช้สอยภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม และการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่และภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้ประกอบการที่อยู่โดยรอบพื้นที่ ซึ่งกลุ่ม We Park ได้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนจนดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมส่งมอบพื้นที่สวนให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสวนสาธารณะอเนกประสงค์สำหรับชุมชน 

ทั้งนี้ สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ ประกอบด้วย ลานจัดกิจกรรมชุมชน เวทีกลางแจ้ง ลานอเนกประสงค์ สนามเด็กเล่น ลานหินนวดเท้า เส้นทางวิ่งออกกำลังกาย อีกทั้งมีศาลาชาน-ศาลานั่งเล่น ศาลาทำการบ้าน และศาลาออกกำลังกายพร้อมอุปกรณ์ออกกำลังกาย อีก 1 หลัง นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ปลูกผักสวนครัว ซึ่งเป็นอีกแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรในเมืองสำหรับชุมชน โดยเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการได้ทุกวันในเวลา 05.00 – 20.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image