นงเยาว์ ชัยเสรี อธิการบดีหญิงคนแรก”รั้วแม่โดม”

เอ่ยถึงชื่อ ศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี อธิการบดีหญิงคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งยังเป็นอธิการบดีหญิงคนแรกของไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยแล้ว เป็นไปได้ว่าเด็กยุคใหม่ไม่รู้จัก

แต่ในแวดวงการศึกษา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว เธอคือหนึ่งในผลผลิตของมหาวิทยาลัย ที่เรื่องราวชีวิตสามารถส่งต่อแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี เป็นที่มาให้โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คัดเลือกให้ ศ.คุณหญิงนงเยาว์เป็นหนึ่งในแบบอย่างผู้หญิงธรรมศาสตร์ในโครงการวิจัยเรื่อง “ชีวิตและผลงานของผู้หญิงธรรมศาสตร์” ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของโครงการ และ 82 ปีมหาวิทยาลัย

ศ.คุณหญิงนงเยาว์ได้มาถ่ายทอดประสบการณ์และความผูกพันกับมหาวิทยาลัย ในงานเสวนาพิเศษ ณ ห้องสัญญาธรรมศักดิ์ ชั้น 2 อาคารโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่อดีตอธิการบดีหญิงในวัย 82 ปี ก็ยังคงสวมบทบาทอาจารย์ ลุกขึ้นยืนนำเสวนาตลอดรายการอย่างไม่มีอาการเหน็ดเหนื่อยให้เห็น ท่ามกลางเหล่าลูกศิษย์ลูกหามาร่วมให้กำลังใจเต็มห้อง

ก่อนจะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญนั้น อ.นงเยาว์บอกว่า ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้แกร่งไม่น้อย

Advertisement

“ธรรมศาสตร์เหมือนเป็นดินแดนแห่งความสุข เรื่องเรียนก็เต็มที่ เรียนหนักมาก ถ้าไม่ตั้งใจเรียนไปไม่รอด หากตกก็สอบใหม่ บางคนสอบมาแล้ว 12 ครั้ง ก็ยังไม่ผ่าน อาจารย์ก็ไม่ช่วยอะไร และเราก็ยังได้อุดมการณ์มาด้วย ธรรมศาสตร์สมัยนั้นมีชมรมให้ฝึกพูด คิด เรื่องบ้านเมือง คิดถึงคนอื่น แถมยังฝึกพูดปลุกระดมกันหน้าตึกโดม กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่พูดแล้วจะโดนจับ ก่อนจะมีคนไปประกันเราออกมา” (หัวเราะ)

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากรั้วแม่โดมแล้ว นงเยาว์เริ่มต้นการทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จากนั้นย้ายมาเป็นอาจารย์ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่ มธ. ไต่ระดับจนได้เป็นรองอธิการบดี สมัย อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก่อนที่พิษการเมือง 6 ตุลา 2519 จะทำให้ อ.ป๋วยต้องออกจากตำแหน่ง พร้อมทั้งฝากฝังให้ อ.นงเยาว์ พาชาวธรรมศาสตร์ไปวิทยาเขตรังสิตให้ได้

“เราทำงานกับ อ.ป๋วย ท่านบอกว่าโลกเปลี่ยนไปแล้วเราต้องปรับตัว มธ.ตอนนั้นเป็นแค่วิทยาลัย ต้องย้ายไปรังสิต เพิ่มคณะต่างๆ ขึ้น แต่ก็ไม่สำเร็จสักที เมื่อเรามาเป็นอธิการบดีก็คิดว่าต้องทำให้สำเร็จ แต่พบว่ามีอุปสรรคมากมาย เรามีเงินทุนแค่ 70 ล้าน ได้เงินงบประมาณแค่ 120 ล้านต่อปี ดีที่เรามีศิษย์เก่าช่วยเรามากมายให้เราระดมทุน จนได้มา 270 ล้านบาท สร้างตึกชุดแรกทั้งหมดได้สำเร็จ”

Advertisement

“จุดหนึ่งที่เราคิดเมื่อเรามาทางสายบริหาร เราไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแต่จะพัฒนามหาวิทยาลัยให้ดีที่สุด แต่ละหน้าที่ที่เราได้ทำก็มีความแตกต่าง เป็นครูก็ต้องสอนให้เด็กได้ดี รับผิดชอบ เป็นคณบดีนอกจากสอนก็ต้องรู้จักพัฒนาครูทุกคน รักษาคุณภาพการศึกษาและติดต่อกับต่างประเทศ เมื่อเป็นอธิการบดีก็ต้องดูแลให้มหาวิทยาลัยมีความก้าวหน้า แล้วในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็มีความแตกต่าง หลากหลายมากทั้งความคิดและผู้คน การรู้จักประนีประนอมประคับประคองเป็นเรื่องสำคัญ อีคิว และความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา บวกกับความยุติธรรมทำให้อยู่ในจุดนั้นได้ ต้องระลึกไว้เสมอว่าอะไรควรทำก็ทำ อะไรไม่ควรทำก็อย่าทำ ถึงทุกวันนี้ได้ทำมาหลายบทบาทก็ยังรักเวลาที่ได้เป็นครูมากที่สุด”

นอกจากจะรำลึกความหลังครั้งอดีตกับเหล่าลูกศิษย์แล้ว ก็ยังได้ฝากแง่คิดให้คนรุ่นใหม่ไว้ว่า

“ปัจจุบันนี้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถมีเยอะ หลายคนชอบถามว่าทำไมเด็กไม่สนใจเรื่องคนอื่น เรื่องบ้านเมืองเหมือนเมื่อก่อน ก็เข้าใจได้ว่าเด็กต้องตามกระแส

สังคม อาจารย์ก็ต้องใส่ใจเรื่องการดำรงชีพตัวเองด้วย ค่านิยมก็เปลี่ยนไป แต่เราต้องคิดถึงส่วนรวมไว้บ้าง รู้จักคิดและทำเพื่อคนอื่น เราอาจจะมีเสรีภาพได้ แต่ก็ต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และคิดถึงความถูกต้องเป็นหลัก

“หลายคนชอบถามความเห็นเพราะเห็นว่าเราเป็นผู้หญิงในตำแหน่งใหญ่ๆ แต่ที่ผ่านมาการทำงานของเราไม่เคยมองว่าเรื่องเพศเป็นปัญหา หากเราทำทุกอย่างต่างกฎและระเบียบที่วางไว้ เชื่อว่าเราสามารถทำได้ ทุกวันนี้บั้นปลายมีความสุขดี ได้นั่งพักผ่อน และภูมิใจที่ได้สร้างคนดีๆ เก่งๆ ขึ้นในสังคมมากมาย”

หญิงแกร่งแห่งวงการศึกษา

 

นงเยาว์1

นงเยาว์2

นงเยาว์3

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image