กระตุกเทรนด์ #wearวนไป ‘ใส่ซ้ำได้’ ไม่ต้องทัก ไม่เท่ากับไม่เก๋

กระตุกเทรนด์ #wearวนไป ‘ใส่ซ้ำได้’ ไม่ต้องทัก ไม่เท่ากับไม่เก๋

ไถมือถือเข้าแอพพ์นกฟ้าในช่วงนี้ก็พบเจอกับปรากฏการณ์น่าสนใจ อยากจะหยิบมาแชร์กันกับแฮชแท็ก #wearวนไป ในการสร้างค่านิยมเรื่องการ “ใส่เสื้อผ้าซ้ำ” หรือเลือกใช้สินค้ามือสอง ยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้า ไม่ต้องตามกระแสแฟชั่นคอลเล็กชั่นใหม่ๆ ตลอดเวลา หรือที่เรียกกันว่า “ฟาสต์ แฟชั่น” (Fast Fashion) ซึ่งส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล

#wearวนไป เป็นแฮชแท็กที่เริ่มต้นจาก ครูลูกกอล์ฟ คณาธิป ที่พูดคุยกับนักเรียนของตนเองบนพื้นที่อินสตาแกรมใจความว่า ไม่ต้องตามทุกเทรนด์แฟชั่นบนโลกใบนี้ และแนะนำคนที่ชอบแต่งตัวว่าไม่ต้องใส่ของใหม่ตลอดเวลาก็ได้ ใส่ซ้ำได้ ลองเอาของที่มีมาจับคู่เป็นลุคใหม่ หยุดแต่งตัวเพื่อเอาใจโลกใบนี้ เอาตัวเองเป็นหลักก็พอ

ครูลูกกอล์ฟ (ขอบคุณรูปภาพจาก loukgolflg)

ซึ่งก็มีคนดังจำนวนมากเข้ามาคอมเมนต์สนับสนุน อาทิ พลอย เฌอมาลย์, ออม สุชาร์ และศิลปินตัวแม่อย่าง อาร์ต อารยา ที่มาเมนต์แนะนำด้วยว่า “นำของเก่า มาประยุกต์ ตัดต่อดัดแปลงเองให้เกิด เป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ เทรนด์นี้มาแรงค่ะ ประหยัดเงินด้วย และภูมิใจที่ได้ใส่ของทำเองด้วยนะคะ (สวยไม่ซ้ำใคร)”

Advertisement

ส่วนหนึ่งก็มีหลายๆ คน มาสะท้อนว่า “พอใส่ซ้ำก็ชอบมีคนทัก” จนเกิดเป็นการแชร์ประสบการณ์และเรื่องราวการใส่ซ้ำของแต่ละคนผ่าน #wearวนไป ซึ่งงานนี้ก็มีคนดังเห็นด้วยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เชียร์ ทิฆัมพร, วู้ดดี้, พีทพล, ซินดี้ สิรินยา, น้ำตาล ชาลิตา

และพระเอกดัง ป้อง ณวัฒน์ ที่คอนเมนต์ว่า “เสื้อสีพื้น ไม่ต้องมีลาย นี่ทีเด็ดของพี่เลย ใส่ซ้ำยังไง ก็ไม่มีใครทัก”

ขณะที่ฟากโลกออนไลน์ ใน #wearวนไป ก็มีผู้มาแชร์ประสบการณ์จำนวนมาก อาทิ อินฟลูเอนเซอร์ดัง “ตู่ SoundtissST” ที่แชร์ว่า เป็นหนึ่งคนที่ใส่เสื้อผ้าซ้ำๆ เป็นปี จนกว่ามันจะขาด อย่างเสื้อซีทรูตัวนี้ใช้ตั้งแต่ปี 61 เพราะโลกนี้มีวิถีที่เรียกว่า “mix and match” และสิ่งที่เรียกว่า “เครื่องซักผ้า”

Advertisement

การใส่เสื้อผ้าซ้ำไม่เท่ากับไม่เก๋

ขอบคุณภาพจาก SoundtissST อินฟลูเอนเซอร์ดัง

นอกจากนี้ หลายๆ คนยังแชร์ว่า ใส่ซ้ำแล้วโดนทักจนเสียเซลฟ์ บ้างก็ซื้อเสื้อผ้าไม่บ่อยบางตัวก็ใส่มานานถึง 26 ปีแล้ว! บางคู่ก็แชร์ถึงชุดตัวโปรดที่มีความทรงจำดีๆ หยิบมาใส่ซ้ำได้ตลอด

ถามว่าการ “ใส่ซ้ำ” มีข้อดียังไง จากข้อมูลของ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้กล่าวไว้ในบทความ “จุดเปลี่ยนเสื้อผ้า Fast Fashion ในตลาดออสเตรเลีย” ว่าออสเตรเลียมีความพยายามแก้ไขปัญหารการฝังกลบขยะ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือขยะเสื้อผ้าสิ่งทอซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของสินค้าเสื้อผ้าฟาสต์ แฟชั่นในประเทศ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการผลิตจํานวนและราคาถูก (เมื่อเทียบกับราคาซ่อมแซมเสื้อผ้าที่มีราคาสูง) ทําให้ปริมาณการซื้อเสื้อผ้าใหม่เพิ่มจํานวนสูงขึ้น

แต่ในปัจจุบันชาวออสเตรเลียกลุ่ม Millennials ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสําคัญกับการบริโภคอย่างยั่งยืนเป็นหลัก ได้ให้ความสําคัญกับการซ่อมแซมเสื้อผ้าให้มีการใช้งานได้ยาวนานขึ้น เพื่อลดปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี

โดยมีวัตถุประสงค์สําคัญ ยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้า ลดปริมาณขยะฝังกลบ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ (เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอมีส่วนกับการเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ) นั่นเอง

กระตุกเทรนด์ #wearวนไป เพื่อตัวเอง เพื่อโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image