คู่มือเรื่อง ‘ผีๆ’ รู้จักสิ่งลี้ลับ ฉบับแพทย์ระบบประสาทฯ

คู่มือเรื่อง ‘ผีๆ’ รู้จักสิ่งลี้ลับ ฉบับแพทย์ระบบประสาทฯ

ใกล้ถึงวันฮาโลวีน คืนวันที่ 31 ตุลาคม ก็ชวนให้หลายคนนึกถึงเรื่อง “ผีๆ” ที่คนทั่วไปจำนวนมากเชื่อว่าความลี้ลับนี้ไม่สามารถหาข้อพิสูจน์หรือคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้ ทว่าในความเป็นจริง ปรากฎการณ์ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับระบบประสาท และโรคทางจิตเวช ซึ่งสามารถหาสาเหตุ และอธิบาย อันจะนำไปสู่แนวทางการบำบัดรักษาได้

นพ.ชลภิวัฒน์ ตรีพงษ์ นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันประสาทวิทยา อธิบายถึงการทำงานของสมองว่า สมองของคนเรานั้นทำหน้าที่สลับซับซ้อนมาก บางส่วนทำหน้าที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับระบบประสาทสัมผัส การรับรู้ ซึ่งสามารถอธิบายสิ่งที่ผู้ป่วยรับรู้ผิดปกติไปได้ เช่น เห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น สัมผัส ทั้งที่ไม่มีสิ่งกระตุ้นนั้นอยู่จริง เรียกรวมว่า “กลุ่มอาการประสาทหลอน” (Hallucination)

กล่าวคือ สมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็นจะอยู่ด้านหลัง สมองส่วนที่ทำหน้าที่ได้ยินจะอยู่ที่ขมับ และสมองส่วนรับกลิ่นจะเหนือโพรงจมูกลึกเข้าไป เมื่อสมองส่วนใดก็ตามทำงานผิดปกติ แม้ไม่มีสิ่งกระตุ้นอยู่จริง สมองก็เกิดการแปลผลแบบผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเสมือนได้เห็นภาพหรือมองเห็นภาพผิดปกติ เสมือนได้รับกลิ่นหรือได้กลิ่นแปลก เสมือนได้ยินเสียง

หรือที่หลายๆ คนบอกว่า “เห็นผี”

Advertisement

ทั้งยังส่งผลให้เกิด “อาการเห็นผิด” (Illusion) การเห็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่สมองแปลผลผิดจากความเป็นจริง เช่น เห็นสายยางเป็นงู สุนัข เสือ กล่าวคือมองเห็นวัตถุ สิ่งของที่มีอยู่จริง แต่ภาพที่ผู้ป่วยเห็นนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง

และอีกอาการที่คล้ายแต่ไม่เหมือนกันคือ “อาการหลงผิด” (Delusion) จะเห็นจากกรณีตัวอย่างคือข่าวเหตุฆาตกรรมในครอบครัว ซึ่งผู้ก่อเหตุอ้างว่างถูกผีสั่งให้ทำ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มอาการทางจิตเวช

Advertisement

เห็นผี ได้ยินเสียงผีบอก ก็กล่าวไปแล้ว

มาต่อที่อาการ “ผีเข้า” ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ได้เกิดการรับรู้จากตัวผู้ป่วย แต่เป็นการตีความจากผู้พบเห็นที่บอกว่าผู้ป่วยคนนั้น ๆ มีอาการผีเข้า เช่น เมื่อเห็นผู้ป่วยมีอาการตาเหลือกขวาง ก็สรุปเอาว่าผู้ป่วยนั้นถูกผีเข้า ในขณะที่การ อุปทานหมู่ (Mass Hysteria) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับจิตสังคมซึ่งเกิดขึ้นกับบุคคลตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ในกรณีที่กลุ่มบุคคลนั้นมีความคิดความเชื่อว่าตนเจ็บป่วยเป็นโรคเดียวกันหรือเผชิญปัญหาเดียวกัน จึงแสดงอาการออกมาแบบเดียวกัน เช่น ในพิธีกรรมที่หลายคนออกอาการเหมือนผีเข้า หลายคนส่งเสียงกรีดร้องโดยไม่มีเหตุผล บางรายเห็นภาพหลอน แสดงกิริยาก้าวร้าวออกมาเป็นต้น พบได้บ่อยจากการรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมของกลุ่มเปราะบางที่สามารถส่งต่อความรู้สึกจนกระทั่งมีอารมณ์ร่วมได้ง่าย

อีกอาการที่คนมักเข้าใจว่าถูกผีเข้า คือ “ภาวะสมองอักเสบเนื่องจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ” เช่น สมองอักเสบจากแอนติบอดี้ NMDA เริ่มจากอาการไข้ จากนั้นคือบุคลิกภาพเริ่มแปลกไปจากเดิม บางคนก้าวร้าว กรีดร้อง ตาเหลือก จนในที่สุดมีอาการซึม แน่นิ่งไป

ซึ่งอาการที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ญาติหรือผู้พบเห็นคิดว่าผู้ป่วยถูกผีเข้า ไปจนถึงในผู้ป่วยที่เป็น “โรคลมชัก” ก็อาจจะมีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว เกร็ง กระตุกบางส่วน หรือควบคุมร่างกายไม่ได้ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงช่วงสั้น ๆ เคี้ยวปาก ขย้ำมือ สวดมนต์ กรีดร้อง แลบลิ้น เลียริมฝีปาก ตาเหลือก ได้กลิ่นแปลก ๆ เช่นกลิ่นธูป กลิ่นศพ เป็นต้น

ขณะเดียวกันในกรณีที่ผู้ป่วยรายหนึ่งมีอาการปวดท้องและเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดปรากฏว่าพบเส้นผม เล็บ ฟัน ในช่องท้อง

นพ.ชลภิวัฒน์ ระบุว่าเหตุการณ์นี้สามาถอธิบายได้จากความผิดปกติของการแบ่งเซลล์ที่มีมาตั้งแต่ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน แล้วเซลล์อวัยวะอย่าง ผิว ผม เล็บ ซึ่งควรจะเจริญเติบโตภายนอก กลับมีการเจริญเติบโตผิดที่ และสามารถพบอวัยวะเหล่านี้ในช่องท้องได้ โดยส่วนมากพบในคนไข้เพศหญิง ซึ่งทั่วไปมักเรียกกันอย่างติดปากว่า “เนื้องอก” นั่นเอง

นพ.ชลภิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สุดท้ายแล้ว สิ่งที่แพทย์มักจะแนะนำแก่ผู้ป่วยหรือคนรอบข้างคือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและมีความผิดปกติ สามารถหาสาเหตุและสามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ หากผู้ป่วยหรือญาติเชื่อว่าความเจ็บป่วยนั้นเกิดจากภูตผีปีศาจ หรือสิ่งลี้ลับ แล้วละทิ้งการเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ ยิ่งทิ้งระยะเวลาไปนานเท่าไร โอกาสในการรักษาให้หายหรือกลับมาเป็นปกติก็จะลดลงไปเรื่อยๆ

แต่หากยังมีความกังวลว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ ก็สามารถขออนุญาตจากแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อให้พระ หมอผี ได้ร่วมคลายความทุกข์ความกังวลให้กับผู้ป่วยและญาติไปพร้อม ๆ กันได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากจะรักษาด้วยวิธีที่แปลกประหลาดอันอาจจะเป็นอันตราย ก็จะได้มีคนช่วยสอดส่องได้

นพ.ชลภิวัฒน์ ตรีพงษ์ นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันประสาทวิทยา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image