2 กูรูแนะเคล็ดลับ บริหารเงินฝ่าวิกฤตโควิด-19

โค้ชหนุ่ม - ฟลุค เกริกพล (จากซ้าย)

2 กูรูแนะเคล็ดลับ บริหารเงินฝ่าวิกฤตโควิด-19

ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในปัจจุบัน จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารการเงิน “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” นำโดย ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ สานต่อกิจกรรม “นิว นอร์มอล, มอร์ มันนี่ ซีซั่น 2” แนะนำเคล็ดลับการบริหารการเงินโดยรวบรวมคำแนะนำและเคล็ดลับดีๆ ด้านการบริหารการเงินในยุคนิวนอร์มอล จากผู้บริหาร กูรูจากแวดวงธุรกิจ

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์

เริ่มต้น ฟลุค-เกริกพล มัสยวาณิช นักแสดง พิธีกร และนักลงทุนผู้มากประสบการณ์ ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการใช้เงินอย่างไรไม่ให้พลาดว่า สิ่งสำคัญ คือ ต้องรู้จักบริหารกระแสเงินสด การวางแผนการลงทุน ควรกันเงินส่วนหนึ่งเก็บไว้ในรูปแบบเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นด้วย ในยุคที่มีความไม่แน่นอนสูงนี้ ควรสำรองเงินไว้สำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉินสัก 6-12 เดือน โดยการเก็บเงิน อาจไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในรูปแบบเงินสดอย่างเดียว แต่อาจเป็นการลงทุนในสิ่งที่เราชอบ (passion investment) โดยเลือกเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามเวลา และเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย

“สำหรับมุมมองในการลงทุน สิ่งสำคัญ คือ การลงทุนอะไรก็ตาม ต้องกระจายความเสี่ยง ไม่ควรลงทุนในรูปแบบเดียว เช่น อาจจะซื้อคอนโดปล่อยเช่า ลงทุนในหุ้น ทำธุรกิจ เพื่อจะได้มีรายได้หลายทาง สำหรับสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม ควรลงทุนตามอายุและความกล้าเสี่ยง ถ้าอายุน้อยๆ อย่างเด็กเจน Z อยากได้รับผลตอบแทนเร็ว ช่วงนี้หลายคนอาจสนใจลงทุนใน Cryptocurrency (หนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายได้บนตลาดออนไลน์) หากคิดว่าตนเองเข้าใจในสิ่งที่จะลงทุน และอายุยังน้อย อาจลงทุนในสัดส่วนสูงได้ เพราะเงินทุนยังน้อย แต่จะได้ประสบการณ์มาก”

“แต่หากเป็นกลุ่มที่อายุมาก รับความเสี่ยงได้น้อย ก็อาจลงทุนเสี่ยงสูงไม่เกิน 10-30% ทั้งนี้ ความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการมองเห็นโอกาส เป็นสิ่งสำคัญในการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ หากยังไม่มีความเข้าใจที่มากพอ ควรลงทุนแบบที่ความเสี่ยงไม่สูงนัก เช่น ซื้อกองทุนรวม แต่หากมั่นใจว่ามีความรู้ ความเข้าใจตลาด ก็สามารถบริหารการลงทุนเองได้ หากเรามองเห็นโอกาส ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น ก่อนลงทุนต้องถามตัวเองก่อนว่า รับความเสี่ยงได้แค่ไหน ถึงจุดไหนที่จะต้อง Cut Loss ก็ต้องกล้าตัดสินใจ” ฟลุค-เกริกพลกล่าว

Advertisement

สำหรับเคล็ดลับพลิกวิกฤตให้กลับมาอยู่รอดจาก โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ เจ้าของเพจ ‘The Money Coach’ เผยว่า การเป็นหนี้ การใช้สินเชื่อ และชำระไม่ไหว เป็นหนี้ที่สร้างปัญหา ถ้าเป็นหนี้เวลาจะไม่เยียวยา อย่าอยู่เฉย เราสามารถพูดคุยได้ หนี้เป็นระบบคู่สัญญา ถ้ามีการเจรจา สามารถปรับเงื่อนไข และอาจจะรวมหนี้เป็นก้อนเดียวเพื่อหาสินเชื่อใหม่ แต่การเป็นหนี้ต้องถามตัวเองว่าเหนื่อยไหม ถ้าสามารถชำระได้ตามกำหนดได้ทุกเดือนแบบไม่เหนื่อยก็สามารถชำระให้หมดตามสัญญา แต่ถ้าคิดว่าเริ่มไม่ไหว ควรเริ่มจากลดค่าใช้จ่ายของตัวเอง อย่ามองแค่เดือนนี้ว่าเรารอด เราควรมองไปถึงอนาคตว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าเรายังไหวไหม แต่ถ้าเราบอกว่าจ่ายได้ แต่ไม่เหลือเงินเลย แบบนี้ก็คิดว่าไม่ดีเหมือนกัน

“เทคนิคการเคลียร์หนี้ให้หมดไว ต้องทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 แรง การสร้างรายได้เพิ่มในปัจจุบันถือว่าสำคัญ ถ้าคุณมีรายได้เพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้สามารถปลดหนี้ได้เร็ว ประคับประคองสถานการณ์แต่ต้องมองหาโอกาสอยู่เสมอ การใช้จ่ายเราควรมองให้ละเอียดเรื่องการบริหารการจัดการเรื่องเงินไว้ 6-9 เดือน รวมไปถึงการบริหารภาระหนี้สิน”

“นอกจากนี้ สถาบันการเงินก็จะมีสินเชื่อเป็นตัวช่วย คนที่มีสินทรัพย์อยู่ เช่น บ้าน รถที่ปลดชำระแล้วหรือผ่อนชำระอยู่ ก็สามารถนำเข้าไปคุยกับสถาบันการเงินได้ อีกกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ จะเป็นบัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล หลายๆ สถาบันก็จะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่อนน้อยลง ดอกเบี้ยต่ำลง อาจต้องขวนขวายหาวิธีการลดภาระในการชำระหนี้ให้มากขึ้น”

“การเพิ่มรายได้จากการลงทุนก็ควรแยกเงินออกมาให้ชัดเจน ควรกันเงินไว้ 1 ก้อนเป็นเงินสำรอง เอาไว้ให้เราสามารถดูแลตัวเองได้หากมีความจำเป็นต้องใช้เงิน อาจเป็นเงินฝากดอกเบี้ยสูง กองทุนรวม กองทุน กองทุนตราสารหนี้ ควรกันไว้ 6-12 เท่าของเงินเดือน”

“ขณะที่เงินส่วนที่เหลือ อยากให้ลงทุนกับกองทุนรวมหุ้นไทย ในมุมมองส่วนตัวสามารถทยอยซื้อหุ้นไทยไว้ เพราะถ้าเศรษฐกิจเริ่มดีหุ้นก็จะกลับมาดีเช่นกัน แล้วการลงทุนที่ดีควรเลือกกระจายเงิน แต่การลงทุนต้องศึกษาหาความรู้กองทุนที่เราซื้อ เราต้องรู้ว่าเอาเงินของเราไปทำอะไร ถ้าเป็นพวกเทคโนโลยีเราก็จะรู้ว่าอนาคตยังไงต้องดีแน่เราก็ควรลงทุน” โค้ชหนุ่มกล่าว

สำหรับผู้สนใจ สามารถติดตามสาระดี ๆ และคำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารการเงิน รวมทั้งกิจกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับความรู้ด้านการบริหารการเงิน ได้ที่ Facebook: www.facebook.com/KrungsriConsumer/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image