ล้วงลึก ‘ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ไทย’ ปี 2564 คอนเทนต์ไหนปัง แพลตฟอร์มไหนต๊าช

ล้วงลึก ‘ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ไทย’ ปี 2564 คอนเทนต์ไหนปัง แพลตฟอร์มไหนต๊าช

ประเทศไทย นับเป็นหนึ่งประเทศในเอเชียที่มีการเติบโตของ ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing) โดดเด่นที่สุด ด้วยปัจจุบันอินฟลูเอนเซอร์ถือเป็นอีกหนึ่งสื่อที่แบรนด์นิยมใช้ในการประชาสัมพันธ์สู่ผู้บริโภคที่เข้าถึงโซเชียลมีเดียได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ “อินฟลูเอนเซอร์” (Influencer) คือบุคคลที่มีอำนาจหรือพลังในการเข้าถึงผู้รับสารในรูปแบบที่น่าเชื่อถือ เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดต่อผู้ติดตามและกลุ่มคนจำนวนมาก โดยอินฟลูเอนเซอร์จะถูกแบ่งตามหมวดของเนื้อหาที่แต่ละอินฟลูเอนเซอร์มีความถนัดตั้งแต่แรกจนเป็นที่รู้จักของผู้ติดตาม ซึ่งแต่ละรายอาจจะมีบัญชีโซเชียลมีเดียช่องทางเดียวหรือหลากหลายช่องทางก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ตามจำนวนผู้ติดตาม อ้างอิงตามข้อมูลจาก AnyTag ได้แก่

Advertisement

1.ท็อปสตาร์หรือดาวเด่น (Top Star) มีผู้ติดตามมากกว่า 1,000,000 คน

2.แมคโคร อินฟลูเอนเซอร์ (Macro Influencer) มีผู้ติดตาม 100,000-1,000,000 คน

3.ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์ (Micro Influencer) มีผู้ติดตาม 10,000-100,000 คน

Advertisement

4.นาโน อินฟลูเอนเซอร์ (Nano Influencer) มีผู้ติดตาม 1,000-10,000 คน

และ 5.ผู้ใช้งานทั่วไป (End-Users) มีผู้ติดตาม 100-1,000 คน

โดยในประเทศไทยมีสัดส่วนของ “ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์” มากที่สุด ถึง 41.7 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหมด ขณะที่กลุ่ม “นาโน อินฟลูเอนเซอร์” ก็มีสัดส่วนลดลงกลายเป็นการเติบโตของ “ไมโคร-แมคโคร อินฟลูเอนเซอร์” เพิ่มขึ้นมาแทน

และถึงแม้ว่าจำนวนตัวเลขอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหมดของไทยในปี 2564 จะไม่ได้มีอัตราเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างโดดเด่น แต่ก็มีการขยับของประเภทอินฟลูเอนเซอร์ จึงอาจคาดการณ์ได้ว่ามาจากผลตอบรับที่ดีของผู้บริโภค และการตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์ในไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น

ก่อนจะก้าวเข้าสู่ปีเสือดุ พ.ศ.2565 ที่ใกล้เข้ามานี้ นับเป็นช่วงเวลาที่หลายบริษัทจะสรุปและทบทวนการทำงานที่ผ่านมาในรอบปีเพื่อกำหนดทิศทางการบริหารงาน หรือตั้งเป้าหมายในปีต่อไป สำหรับแบรนด์หรือผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์

AnyMind Group ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มส่งเสริมธุรกิจครบทุกขั้นตอน ได้นำเสนอ “รายงานภาพรวมการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ของประเทศไทยปี 2564” อ้างอิงข้อมูลจาก AnyTag แพลตฟอร์มสำหรับการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ และรายงาน State of Influence in Asia 2021 ของ AnyMind Group ที่ได้รวบรวมข้อมูลการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ทั่วเอเชีย ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ส่อง 5 คอนเทนต์ยอดนิยม
โควิดออกฤทธิ์ฉุด ‘ท่องเที่ยว’ ร่วงอันดับ


เมื่อนำข้อมูลของอินฟลูเอนเซอร์กว่าสามหมื่นคนใน AnyTag มาแยกประเภทตามคอนเทนต์ พบว่า 5 อันดับแรกของคอนเทนต์ยอดนิยมอินฟลูเอนเซอร์ไทย คือ 1.แฟชั่นและบิวตี้ 2.ศิลปะและความบันเทิง (ไลฟ์สไตล์) 3.อาหารและเครื่องดื่ม 4.ท่องเที่ยว และ 5.เกม เรียงตามลำดับ

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงคอนเทนต์ประเภทท่องเที่ยวซึ่งเคยอยู่ในสามอันดับแรกกลับตกลงมาอยู่อันดับที่สี่แทน เนื่องมาจากข้อจำกัดด้านการเดินทางทั้งในและต่างประเทศของปีที่ผ่านมา โดยจำนวนคอนเทนต์แต่ละประเภทของอินฟลูเอนเซอร์นั้นอาจมีความเกี่ยวเนื่องกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันด้วย

แต่ที่น่าจับตามองคือ คอนเทนต์ประเภทศิลปะและความบันเทิง (ไลฟ์สไตล์) ที่มาแรงในช่วงปี โดยมีการคาดการณ์ว่าอาจจะเพราะเป็นคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์กับพฤติกรรมของผู้บริโภคระหว่างการกักตัว ส่วนคอนเทนต์อาหารและเครื่องดื่ม และครอบครัว มีอัตราการเติบโตในประเทศไทยอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในรายงานยังให้ข้อแนะนำไว้ว่า นักการตลาดควรใช้แพลตฟอร์มโซเชียลให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ด้วยคอนเทนต์แต่ละหมวดหมู่แปรผันต่างกันในแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น บน YouTube มีอินฟลูเอนเซอร์ที่สร้างคอนเทนต์ด้าน ศิลปะและความบันเทิง (ไลฟ์สไตล์) สูงที่สุดถึง 40.9%

ขณะที่คอนเทนต์ด้านบิ้วตี้ซึ่งมีความนิยมสูงสุดในไทย กลับมีอัตราใช้งานโดยอินฟลูเอนเซอร์บน YouTube เพียง 18.03% เนื่องจากผู้บริโภคนิยมรับชมความบันเทิงในรูปแบบวิดีโอผ่าน YouTube มากกว่าหมวดหมู่อื่น ดังนั้นนักการตลาดจึงควรพิจารณาข้อมูลเพื่อทำการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

จับตา Twitter เทรนด์การตลาดอนาคต

 

แน่นอนว่าในปี 2564 นี้ YouTube ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่อินฟลูเอนเซอร์ไทยนิยมใช้งานมากที่สุดในอัตราส่วนถึง 36.6% ในขณะที่ Instagram และ Facebook มีอัตราการใช้งานที่ไล่เลี่ยกันอยู่ที่ 28.9% และ 28.2% ตามลำดับ ขณะที่ Twitter มีอัตราการใช้งานอยู่เพียง 6.4%

และแม้ว่าในรายงานจะระบุไว้ว่า Twitter เป็นแพลตฟอร์มที่มีอัตราการใช้งานน้อยที่สุดของชาวไทย แต่กลับมีอัตราเติบโตสูงถึง 165.03% สำหรับการทำแคมเปญการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในเอเชียเมื่อเทียบแบบปีต่อปี จึงถือเป็นอีกเทรนด์ที่กำลังมาแรงในเอเชียและได้ผลดีอย่างสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ในประเทศไทย

ขณะเดียวกันในด้านการทำตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์บนแพลตฟอร์มต่างๆ Instagram ได้ผลตอบรับ (engagement) จากผู้ชมมากที่สุดเมื่อเทียบกับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มหลักอื่นๆ ขณะที่ Facebook สามารถสร้างการรับรู้ (awareness) ในวงกว้างได้มากที่สุด ส่วน Youtube ยังเป็นแพลตฟอร์มที่มีอินฟลูเอนเซอร์ใช้งานมากที่สุดเนื่องจากสามารถทำรายได้ในหลายช่องทาง และ Twitter สามารถเข้าถึงผู้ชมเฉพาะกลุ่มได้ดีที่สุด

 

ทั้งนี้ AnyMind Group ยังได้สรุปประเด็นสำคัญไว้ว่า ภาพรวมของตลาดด้านอินฟลูเอนเซอร์ในไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการขับเคลื่อนหลักจากไมโคร อินฟลูเอนเซอร์ ส่วนนาโน อินฟลูเอนเซอร์ ได้ผลตอบรับจากผู้ชมเนื่องจากสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้อย่างแนบเนียนที่สุด

ทว่าการเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสม ไม่ใช่การเลือกจากจำนวนผู้ติดตาม แต่เป็นประเภทของผู้ติดตามที่อินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับคนเหล่านั้นได้

สุดท้ายนักการตลาดหรือผู้ประกอบการควรมีความเข้าใจเป็นอย่างดีกับ “เทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน” และความต้องการของแต่ละกลุ่มเป้าหมายในแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

สามารถดาวน์โหลดรายงาน ภาพรวมการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ของประเทศไทย ปี 2564 ฉบับเต็ม ได้ที่ : คลิก (https://anymindgroup.com/th/news/report/16301/)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image