ทีวี”เอชดีอาร์” มาตรฐานเทคโนโลยีใหม่

ทุกๆ สองสามปี แวดวงผู้ผลิตโทรทัศน์มักมีศัพท์แสงใหม่ๆ มาให้เราทำความรู้จักกันเสมอ ก่อนหน้านี้ก็มี “เอชดี” มี “3ดี” แล้วก็มี “4เค” กัน

มาแล้ว ถึงตอนนี้มีศัพท์ใหม่โผล่มาอีกแล้วนั่นคือ “อัลตร้า เอชดี พรีเมียม” หรือ “เอชดีอาร์” ที่ผู้ผลิตทุกรายตั้งแต่ซัมซุง, แอลจี, โซนี่, พานาโซนิค เรื่อยไปจนถึงทีซีแอล ถือเป็นมาตรฐานการผลิตแล้ว เลยถึงเวลาทำความเข้าใจกันอีกรอบครับ

เทคโนโลยี “เอชดีอาร์” นั้นหลายคนอาจรู้จักกันว่าเป็นฟีเจอร์สำหรับอวดอ้างความสามารถของกล้องในสมาร์ทโฟนหรือกล้องถ่ายภาพดิจิตอล แต่บอกไว้ก่อนตรงนี้ว่าถึงแม้จะเป็นคำเดียวกันคือมาจากคำว่า “ไฮ ไดนามิก เรนจ์” แต่เป็นคนละเรื่องเดียวกันเลยทีเดียว เอชดีอาร์ในมือถือนั้นอาศัยภาพ 2-3 ภาพที่ถ่ายในสภาพแสงแตกต่างกันออกไปมารวมกันเพื่อชดเชยขีดจำกัดของเซ็นเซอร์ของกล้อง แต่ “เอชดีอาร์” ในทีวีเป็นมาตรฐานทางเทคโนโลยีในการแสดงผลภาพแบบใหม่ที่ให้ภาพที่มีความละเอียดสูงสุด ความคมชัดสูงสุด และสีสันใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด เท่าที่มีกันอยู่ในเวลานี้

คำที่เขาใช้กันเพื่อแสดงความเป็น “เอชดีอาร์” ก็คือ “ไม่ใช่แค่มีพิกเซลมากกว่า แต่เป็นพิกเซลที่ดีกว่าอีกด้วย”

Advertisement

“เอชดีอาร์” ต่างจาก “4เค” หรือโฟร์เค หรือไม่อย่างไร?

ต่างครับ ต่างกันเยอะมากทีเดียว

4เค นั้นให้ความสำคัญไปที่ความละเอียดของเม็ดสีหรือพิกเซลในการแสดงภาพ โดยอาศัยความเป็นจริงที่ว่า เม็ดสีที่ละเอียดมากขึ้นย่อมแสดงผลภาพได้ดีและละเอียดขึ้น แต่ “เอชดีอาร์” ไปไกลกว่าการมีพิกเซลจำนวนมากเท่ากับหรือเหนือกว่า 4เค ด้วยการขยาย “เรนจ์” หรือพิสัยของค่าความต่าง หรือคอนทราสต์ของการแสดงภาพ กับเรนจ์ของสีที่แต่ละพิกเซลแสดงออกมาให้เพิ่มมากขึ้นถึงระดับที่มีนัยสำคัญ เม็ดสีในส่วนที่สว่างจะสว่างมากขึ้นกว่าเดิม ผลก็คือทำให้ภาพที่ได้มี “ความลึก” มากขึ้นกว่าเดิม ส่วนสีที่ถูกขยายเพิ่มมากขึ้นทำให้สีน้ำเงิน เขียว แดง และทุกๆ เฉดสีที่อยู่ระหว่างสีเหล่านี้สว่างมากขึ้นเช่นเดียวกัน

Advertisement

นั่นหมายถึงภาพที่มีความละเอียดระดับ 4เค หรือเกินกว่า ที่มีรายละเอียดและความคมชัดรวมถึงสีสันที่เพิ่มมากขึ้นกว่าโทรทัศน์ 4เค มาก

ดังนั้น อาจเรียกได้ว่า “เอชดีอาร์” ก็คือ 4เค แต่โทรทัศน์ 4เค ไม่ได้เป็นเอชดีอาร์ทุกเครื่อง ถึงได้เป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ผลิตซึ่งรวมตัวกันเป็นพันธมิตรทางเทคโนโลยีในชื่อ “ยูเอชดี อไลแอนซ์” ต้องจัดทำมาตรฐานขึ้นมา สำหรับโทรทัศน์ที่จะทำออกมาขายทุกเครื่องที่ต้องการติดโลโก้ “อัลตร้าเอชดี พรีเมียม” ที่รับประกันการเป็น “เอชดีอาร์”

แต่เทคโนโลยีที่จะทำให้ได้ภาพระดับเอชดีอาร์ก็ขึ้นอยู่กับการคิดค้นพัฒนาของผู้ผลิตแต่ละรายไป อย่างเช่นผู้ผลิตระดับหัวแถวในแวดวงเครื่องรับโทรทัศน์ของโลกอย่างแอลจีกับซัมซุง ก็ใช้เทคโนโลยีคนละอย่างกัน

ทีวีเอชดีอาร์ของแอลจีนั้นใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “โอเลด” (ย่อมาจาก “ออร์แกนิก ไลต์-อีมิตติ้ง ไดโอด”) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้แผ่นฟิล์มคาร์บอนเป็นที่ทำให้แผงจอแสดงภาพสามารถปล่อยแสงออกมาได้ด้วยตัวเองเมื่อมีการผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไป ทำให้เครื่องรับของแอลจีไม่จำเป็นต้องใช้แสงแบ๊กไลต์เหมือนเจ้าอื่นๆ ข้อดีของ “โอเลดทีวี” คือการได้สีดำที่แทบจะสมบูรณ์แบบ แล้วก็ทำให้ค่าไดนามิกเรนจ์ของภาพที่แสดงกว้างกว่าปกติมาก

ส่วนซัมซุงใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “ควอนตัมดอท” ที่พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของแอลซีดีทั่วไปที่เรารู้จักกันดี แต่เพิ่มควอนตัมดอทซึ่งเป็นอนุภาคเล็กๆ เข้าไป ทำหน้าที่แสดงสีออกมาแตกต่างกันออกไปตามขนาดของมัน ควอนตัมดอทไม่สามารถให้สีดำอย่างที่โอเลดทำได้ แต่ชดเชยด้วยความสามารถในการให้ค่าความสว่างได้ในระดับสูงกว่า ซึ่งทำให้ค่าไดนามิกเรนจ์ของควอนตัมดอทต่ำกว่า แต่สีสันจะชัดเจน ใสกว่า

“อัลตร้า เอชดี พรีเมียม” ใช้ค่าไดนามิกเรนจ์ทั้งของ “โอเลด” และของ “ควอนตัมดอท” เป็นมาตรฐาน ควบคู่ไปกับข้อกำหนดอีกบางอย่าง เช่น ต้องมีขีดความสามารถในการประมวลผลแบบ 10 บิต แทนที่จะเป็น 8 บิต เหมือนแต่ก่อน ซึ่งให้สีสันได้มากกว่าเดิมถึง 64 เท่าตัว และต้องแสดงสีของภาพออกมาในจอได้อย่างน้อยที่สุด 90 เปอร์เซ็นต์ของเรนจ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งสูงกว่าทีวีรุ่นเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมามาก

นี่คือสิ่งที่ “อัลตร้า เอชดี พรีเมียม” พยายามแก้ปัญหาที่ส่งผลต่อความนิยมของทีวี 4เค แต่เดิมไม่น้อยก็คือ เครื่องรับบางเครื่องให้พิกเซลมาสูงตามที่กำหนด แต่เอาเข้าจริงไม่สามารถถอดรหัสสีจากแหล่งที่มาได้ ผลก็คือเราไม่ได้ภาพ 4เค จริงๆ แล้วก็ไม่สามารถกดดันให้ผู้ผลิตเนื้อหาผลิตภาพยนตร์หรืออื่นๆ ออกมาเป็น 4เค ได้

แต่หลายคนเชื่อว่า มาตรฐานเทคโนโลยีใหม่ครั้งนี้จะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป

แล้วจะทำให้ผู้เสพความบันเทิงผ่านหน้าจออย่างเราๆ ท่านๆ ต้องควักกระเป๋าซื้อทีวีใหม่กันอีกรอบครับ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image