ทีมนักธรณีวิทยาออสเตรเลียที่อาศัย “เดสเสิร์ต ไฟร์บอล เน็ตเวิร์ก-ดีเอฟเอ็น” เครือข่ายของกล้องดิจิตอล 32 ตัว สำหรับสำรวจเทหวัตถุบนท้องฟ้าเหนือพื้นที่ทะเลทรายในออสเตรเลีย ซึ่งมองหาอุกกาบาตที่ตกลงสู่โลก ติดตามอุกกาบาตลูกหนึ่งซึ่งตกลงสู่พื้นในประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา จากนั้นใช้เวลาอีก 3 วัน รวมทั้งเครื่องมือหลายชนิดตามล่า จนในที่สุดสามารถค้นพบได้ ก่อนที่จะถูกฝนที่ตกหนักในเวลาต่อมาชะหายไปได้แบบฉิวเฉียด
ทีมดังกล่าวนำโดยฟิล แบลนด์ กับโรเบิร์ต ฮาววี สองนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน ในออสเตรเลีย อาศัยข้อมูลจากเครือข่ายดีเอฟเอ็นวิเคราะห์ภาพ และใช้หลักตรีโกณมิติคำนวณหาจุดตก ก่อนที่จะเริ่มออกค้นหาในพื้นที่บริเวณแคที ธันดา และเลค อีรี ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่สุดของออสเตรเลีย โดยใช้ทั้งโดรนหรือเครื่องบินบังคับจากระยะไกล, เครื่องบินเล็ก และกำลังคนค้นหาภาคพื้นดินอีก 2 คน ใช้เวลา 3 วันจึงค้นพบ อุกกาบาตชนิด “คอนไดรท์” หรือ “อุกกาบาตหิน” หนัก 1.7 กิโลกรัม ฝังอยู่ในโคลนของทะเลสาบน้ำเค็ม ลึกจากผิวน้ำ 42 เซนติเมตร โดยเชื่อว่าถ้าหากค้นพบช้าไปอีกไม่กี่วัน ฝนที่ตกหนักตามมาจะชะอุกกาบาตก้อนนี้หายไปและอาจหาไม่พบอีกเลย
แบลนด์ระบุว่า อุกกาบาตดังกล่าวน่าจะมีอายุเก่าแก่กว่า 4,500 ล้านปี หรือเก่าแก่กว่าอายุของโลกที่กำเนิดขึ้นเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน และจากการที่สามารถใช้เครือข่ายดีเอฟเอ็นในการกำหนดจุดตกของมันได้ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะในเวลาเดียวกันก็สามารถใช้ข้อมูลภาพที่ได้จากอีเอฟเอ็นคำนวณหาที่มาของอุกกาบาตนี้ได้ ที่จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งต่อผลการวิเคราะห์จากตัวอย่างอุกกาบาตชิ้นนี้ในอนาคต เบื้องต้นคาดว่าแหล่งที่มาของอุกกาบาตนี้มาจากจุดใดจุดหนึ่งระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี
แบลนด์เชื่อว่า การศึกษาอุกกาบาตนี้อย่างละเอียดในอนาคตอาจบ่งบอกข้อมูลว่าด้วยกำเนิดของสุริยะจักรวาลได้เป็นอย่างดี