นักวิชาการชี้ ไม่ใช่เด็กไทยทุกคนแยกแยะ”ฉากข่มขืนในละคร” ได้

เคยเป็นประเด็นที่โด่งดังบนโลกออนไลน์กันอยู่พักหนึ่ง สำหรับกรณีเรียกร้องให้ยกเลิกฉากข่มขืนในละคร และภาพยนตร์ ที่ส่งผลต่อภาพความคิดของเด็กและเยาวชน ผู้รับสารต่างๆ เข้าไป จนก่อให้เกิดการกระทำซ้ำ สร้างความเจ็บปวดให้กับสังคมตามมา

ยิ่งล่าสุด เกิดเหตุคดีเยาวชนก่อเหตุฆ่าข่มขืนขึ้นมาอีกครั้ง ก่อให้เกิดกระแสให้ความสำคัญกับปัญหานี้อีกครั้ง ก่อนจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาว่า สื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ละคร” นั่นแหละที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เมื่อพระเอกละครแต่ละเรื่อง ข่มขืนนางเอกด้วยคำว่ารัก แต่สุดท้ายก็สุขสมหวัง ทั้งๆ ที่ในชีวิตจริงเรื่องนี้ “ผิดกฎหมาย” อย่างแน่นอน ในเมื่อไม่ได้มีผลลัพธ์ให้เด็กเห็นย่อมเป็นเรื่องยากที่เด็กจะเกิดการเรียนรู้และวิเคราะห์ได้

เสียงเห็นด้วยก็มี

แต่เสียง “ไม่เห็นด้วย” ก็มากว่า “เด็กสมัยนี้แยกแยะออก ว่าอันไหนชีวิตจริง อันไหนละคร เรื่องแบบนี้อยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคนมากกว่า”

Advertisement

จึงกลายเป็นข้อถกเถียงของสังคมอีกระลอก!

ชเนตตี ทินนาม
ชเนตตี ทินนาม

ในเรื่องนี้ ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ด้านสื่อสารศิลป์เพื่อการเปลี่ยนแปลง ประจำศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ความเป็นจริงแล้วเด็กตั้งแต่วัย 3-10 ขวบ เป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้และเข้าใจอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง เข้าใจความเป็นชาย และหญิง ตามผลการวิจัยต่างๆ เด็กรับรู้ได้ตั้งแต่วัย 3 ขวบ ผ่านกรอบความคิดต่างๆ ของสังคม ค่านิยมที่หล่อหลอมเขา เริ่มรู้จักบทบาททางเพศ ทั้งจากครอบครัว รั้วโรงเรียน และสื่อ ที่เรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนตลอดชีวิตของพลเมืองทุกวัย

“หากสื่อไม่ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ถูกต้อง ย่อมเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้หากประสบการณ์และการเรียนรู้ของเด็กเหล่านั้นมีไม่มากพอ”

Advertisement

กับฉากข่มขืนนั้น ดร.ชเนตตีเห็นว่า “สำหรับเรื่องฉากข่มขืนในละคร เป็นปัญหาหนึ่งเนื่องจากในละครไม่เคยบอกเล่าในเชิงการเรียนรู้เลย ผู้กระทำมักเป็นพระเอกที่อ้างว่าทำด้วยความรักเสมอ เมื่อรับสารซ้ำๆ ก็เหมือนกับทฤษฎีทางนิเทศศาสตร์ที่ว่าจะทำให้คนจดจำต้องเห็นบ่อยๆ

“ยิ่งยุคปัจจุบันนี้ไม่ใช่เพียงแต่ละครเท่านั้น แต่สื่อออนไลน์ โฆษณาต่างๆ รวมทั้งข่าว ก็มีการนำเสนอที่อาจจะไม่ระมัดระวังมากพอ บางโฆษณายังนำเอาเด็กมาแสดงออกเชิงต้องการทางเพศที่เร็วเกินตัวเขาไปอีกด้วย ยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพความคิดนั้นให้เด็ก เมื่อฝังเข้าไปสู่จิตใต้สำนึกแล้ว วันหนึ่งเมื่อเด็กอยู่ในสภาวะชั่ววูบ ขาดสติ ก็อาจดึงเอาภาพจำนั้นมาใช้ได้”

นั่นเพราะ “เด็กขาดภูมิคุ้มกันในชีวิต”

“เข้าใจว่าบางคนมีความคิดว่าเด็กสมัยนี้แยกแยะได้ แต่นั่นไม่ใช่เด็กทั้งหมด ยังมีเด็กอีกมากที่ไม่อาจแยกแยะเรื่องนี้ได้ นั่นเพราะโครงสร้างทางสังคมของไทยไม่ได้สอนเรื่องเพศสภาพให้เด็กตั้งแต่เล็ก โดยเฉพาะในครอบครัว กว่าเด็กจะได้เรียนเรื่องสุขศึกษาก็ประถมปลาย ในช่วงเวลาที่เขาพร้อมเข้าวัยรุ่นแล้ว เราควรต้องสอนให้เด็กรู้จักบทบาทหน้าที่ทางเพศที่สังคมกำหนด ไม่ใช่คิดว่ามีแต่เพศชายเป็นใหญ่ ต้องสอนให้รู้จักเกื้อกูลกัน รับผิดชอบต่อกันทั้งสองเพศ เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของทั้งตัวเองและคนอื่น”

“เคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งสอนไม่ใช่รอให้โตก่อน อย่างในยุโรปเองเขาสอนเด็กตั้งแต่อนุบาล เรื่องนี้ต้องไม่ผลักภาระไปให้กับคนอื่น ทุกคนทำได้ทั้งนั้น เมื่อเด็กได้รับองค์ความรู้แบบนี้ วันหนึ่งเมื่อเขาเจอเหตุการณ์นี้เขาจะมีภูมิคุ้มกันที่ไม่ไปก่อพฤติกรรมไม่ดีๆ ขึ้นมาอีกได้ นี่เป็นสิ่งที่แก้ปัญหาได้จริง นอกจากที่พ่อแม่จะมานั่งสอนเวลาลูกดูสื่อ เพราะมีอีกมากที่พ่อแม่ไม่เห็นเวลาที่ลูกเข้าถึงสื่อ”

สำหรับเรื่องฉากข่มขืนในละครนั้น รวมทั้งความรุนแรงที่แสดงออกผ่านสื่อต่างนั้น

ดร.ชเนตตี เสนอไว้ว่า ทางออกในเรื่องนี้คือต้องสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในองค์รวม เช่นเวลาจะสร้างเนื้อหาเกี่ยวกับเพศ หรือ โรคต่างๆ ต้องใช้ข้อมูลพื้นฐานจากงานวิจัย ไม่ผลิตสื่อย้ำภาพผู้หญิงดีไม่ดี ควรเสนอในทางหลากหลายมากกว่านั้น และพยายามนำเสนอภาพผู้หญิงที่เท่าเทียม เช่นผู้หญิงในแวดวงศาสนา การเมือง การทำงานนอกจากเรื่องในบ้านที่ละครฉายภาพทุกวันนี้

“นอกจากนี้ หากจะสร้างฉากมีเพศสัมพันธ์ก็ควรให้เห็นภาพการคุมกำเนิด และความรับผิดชอบร่วมกันระหว่าง 2 เพศด้วย ที่สำคัญคือไม่ควรมีฉากแสดงความรุนแรงทางเพศ หากจำเป็นก็ต้องมีทางออกของสิ่งนั้นให้ด้วย อาจต้องพลิกโฉมกันใหม่ แต่นั่นคือ วิธีการสอนสังคมให้เข้าถึงความเป็น active citizen หรือพลเมืองที่มีส่วนร่วมในสังคม ที่วันหนึ่งจะแยกแยะ วิเคราะห์สื่อได้เอง”

ดร.ชเนตตี บอกว่า หากอยากจะมีฉากข่มขืนในละคร ใช่ว่าทำไม่ได้

“หากจะมี ก็มีได้แต่ต้องสร้างองค์ความรู้เพิ่ม ต้องไม่ทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ไม่จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ต้องบอกให้รู้ว่าเรื่องนี้ยอมรับไม่ได้ อย่าอ้างว่าคงบทประพันธ์เดิมไว้ อะไรที่ไม่เข้ากับยุคปัจจุบัน และจะส่งทอดบรรพบุรุษความรุนแรงเราก็เลือกไม่ส่งต่อได้ อย่าไปคิดว่าเพื่อความคลาสสิค เพราะวันหนึ่งที่ผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อ เขาก็ลุกขึ้นมาต่อต้านสิ่งนี้อย่างที่เป็นอยู่เช่นกัน” ชเนตตีทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image