ภารกิจบนห้วงอวกาศ ครั้งแรกของ ‘ยูเอ็น’

ภาพจาก Sierra Nevada Corp

ในการประชุมสภาการอวกาศระหว่างประเทศ ที่เมืองกวาดาลาฮารา ประเทศเม็กซิโก เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศว่ายูเอ็นมีแผนเตรียมที่จะเริ่มปฏิบัติการนอกโลกเป็นครั้งแรกในวงโคจร ซึ่งจะเต็มไปด้วยการทดลองทางวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศที่ไม่มีงบประมาณมากพอสำหรับโครงการอวกาศของตัวเอง โดยยูเอ็นจะร่วมมือกับบริษัท เซียร์รา เนวาดา คอร์ปอเรชั่น (เอสเอ็นซี) ผู้ผลิตยานดรีม เชสเซอร์ ยานอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

มาร์ค ไซแรนเกโล หัวหน้าฝ่ายอวกาศของเอสเอ็นซี เปิดเผยกับสถานีวิทยุเอ็นพีอาร์ ว่า แนวคิดดังกล่าวมีขึ้นเพื่อที่จะเข้าถึงชุมชนและประเทศ รวมทั้งคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่ยังไม่เคยมีโอกาศที่จะทำอะไรบางอย่างบนอวกาศ และแทนที่ประเทศนั้นๆ จะต้องจ่ายเงินเพื่อปฏิบัติภารกิจอย่างหนึ่ง ก็จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับหลายประเทศเพื่อปฏิบัติภารกิจร่วมกัน

โดยไซแรนเกโลกล่าวว่า แผนของการบุกอวกาศของยูเอ็นคือ ปล่อยยานดรีม เชสเซอร์ ขึ้นไปสู่วงโคจรของโลก ในปี ค.ศ.2021 ซึ่งยานอวกาศดังกล่าวจะประกอบด้วยไปห้องปฏิบัติการทดลองราว 20-25 การทดลองจากประเทศต่างๆ ที่ต้องการทดลองเกี่ยวกับสภาวะไร้น้ำหนัก โดยจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกของยูเอ็นที่ต้องการเข้าร่วมก็สามารถสมัครเข้าไปได้

โดยก่อนหน้าการปล่อยยานดังกล่าว สำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นอูซา (UNOOSA) ยังมีแผนที่จะให้การสนับสนุนด้านเทคนิคแก่ประเทศที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการทดลองเกี่ยวกับสภาวะไร้น้ำหนักด้วย ซึ่งนายลุค เซนต์ ปิแอร์ หัวหน้าฝ่ายงานอวกาศของยูเอ็นอูซา กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นการฝึกและกระบวนการเพื่อการเตรียมพร้อมที่จะส่งผลกระทบทางด้านบวกอย่างยั่งยืนสำหรับประเทศที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และหวังว่าจะเกิดประโยชน์ตามมาอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

สำหรับการทดลองที่จะขึ้นไปพร้อมกับยานอวกาศ จะรวมไปถึงการทดสอบการเติบโตของเมล็ดธัญพืชในสภาวะไร้น้ำหนัก หรือการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสภาวะไร้น้ำหนัก หรืออาจจะเป็นเรื่องเวชกรรมหรือพลังงาน

สำหรับยูเอ็นอูซา ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1958 เพื่อส่งเสริมการใช้อวกาศส่วนนอกโดยสันติ แต่ไม่เคยมีภารกิจของตัวเองแต่อย่างใดจนถึงปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image