ตลกจริงหรือ! มุข ‘เมียน้อย แซวหญิง แต๊ะอั๋งสาว บูลลี่คน’ ในวันที่สื่อไม่สะท้อนสังคม

ตลกจริงหรือ! มุข ‘เมียน้อย แซวหญิง แต๊ะอั๋งสาว บูลลี่คน’ ในวันที่สื่อไม่สะท้อนสังคม

ที่ผ่านมาสังคมมักตั้งคำถามกับ “ฉากข่มขืนในละคร” ว่าไม่เหมาะสม บ่มเพาะความคิดที่ไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งต้องจัดการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ประสานเสียงดังจนทำให้เกิดความร่วมมือระหว่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับภาครัฐ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและลงโทษสื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีก

ทว่ากับ “รายการตลก” หรือรายการวาไรตี้ต่างๆ ที่มีการเล่นมุข “แซวเรื่องมีเมียน้อย วิจารณ์รูปร่างหน้าตา หน้าอกผู้หญิง แต๊ะอั๋งสาวๆ ที่มาร่วมรายการ” ซึ่งบ่มเพาะความคิดชายเป็นใหญ่แบบเนียนๆ กลับไม่ค่อยถูกพูดถึงและถูกจัดการเลย

ถือโอกาสขบคิดเรื่องนอกกระแส ผ่านมุมมองนักสิทธิสตรี

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เริ่มวิเคราะห์อาชีพนักแสดงตลกก่อนว่า จะสังเกตเห็นว่านักแสดงตลกส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ผู้หญิงมี แต่ไม่มาก ฉะนั้นจึงเป็นอาชีพที่มีวิถีชีวิตแบบผู้ชาย เหมือนกับอาชีพทหาร ตำรวจ จึงไม่แปลกที่เวลาแสดงออกมา มุขตลกจะวนเวียนอยู่กับเรื่องสองแง่สองง่ามเกี่ยวกับเพศ หรือหยอกล้อกันในลักษณะแบบนี้ จนเป็นความเคยชิน เขาอาจคิดว่าคนก็ดู ตลกดี ไม่เห็นเป็นอะไร จึงไม่เปลี่ยนแปลง

Advertisement

เทียบวงการตลกในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา มีการปรับตัวตามกระแสคนดู กับสังคมที่ตื่นตัวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศสูง การแสดงตลกทุกวันนี้ไม่มีเอาสิ่งของมาตีหัวอีกแล้ว ส่วนมุขพูดจาสองแง่สองง่ามยังมีบ้าง แต่น้อยลง เพราะหากมีจะถูกตรวจสอบ และถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโซเชียลมีเดีย

จะเด็จ เชาวน์วิไล

“สังคมสมัยใหม่เริ่มตั้งคำถามกับรายการวาไรตี้ รายการตลก ที่มองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องธรรมดา เริ่มไม่ดูแบบนี้แล้ว วงคนดูรายการแบบนี้จะแคบลงไปเรื่อยๆ คนที่เป็นครีเอทีฟ โปรดิวเซอร์ ต้องเข้าใจสถานการณ์ ลูกค้ากำลังหายไปเรื่อยๆ ต้องเปลี่ยนแล้ว”

จะเด็จยกตัวอย่างและอธิบายมุขตลกที่ไม่โอเค อย่าง “มุขมีเมียน้อย” มีการพูดถึงเมียที่บ้านในทำนองว่าเป็นอีแก่ เพื่อจะหาข้ออ้างไปหาเด็กใหม่ๆ นี่คือการพูดกดทับมาก และยังทำให้เกิดการวนเวียนหาเด็กให้กัน จนทำให้เกิดมายาคติว่าการมีเมียหลายคนไม่ใช่เรื่องผิด มุขนี้จะมาจากเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง ก็ไม่ควรพูดออกมา เพราะเป็นการสร้างมายาคติที่ไม่ถูกต้อง

Advertisement

“นี่เป็นการตอกย้ำมายาคติว่าเจ้าชู้คือเรื่องปกติ ส่วนมายาคติว่าไปอยู่กับผู้หญิงอื่นแล้ว ทนไม่ไหว สุดท้ายก็กลับมาตายรัง ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับภรรยาตลก พวกเธอยอมรับว่ากว่าจะผ่านมาถึงจุดนี้ได้ ผ่านความเจ็บช้ำมาเยอะ บางคู่ก็ถึงขั้นเลิกลากันไป บางคู่ที่ยังอยู่ด้วยกัน ก็เจ็บช้ำน้ำใจมามาก กว่าจะมีวันนี้”

ยังมี “มุขวิจารณ์รูปร่างคน” โดยเฉพาะหน้าอกผู้หญิง พบว่ามีการทำไม้ทำมือ เหมือนจะเข้าไปคุกคามผู้หญิงที่มาร่วมรายการ หรือวิจารณ์การแต่งกายเซ็กซี่ดูแล้วน่าคุกคาม

“มุขแต๊ะอั๋ง” เข้าไปกอด ใช้คำพูดหมาหยอกไก่ เป็นสิ่งที่ควรเคารพกันให้มากกว่านี้ จริงๆ ผู้หญิงสามารถเอาผิดตามกฎหมายได้ แต่อาจไม่ทำ เพราะไม่อยากยุ่ง ไม่อยากมีปัญหา ต้องจำยอมจากการทำงาน แม้ไม่แสดงออกอะไร แต่ในใจลึกๆ อาจรู้สึกอัดอั้น และไม่พอใจ

“ผมไม่ได้ว่านักแสดงตลกว่าเป็นอย่างนี้ แต่นี่คือชีวิตผู้ชายไทย ที่ถูกครอบงำจากความคิดชายเป็นใหญ่ เกิดขึ้นในหลากหลายอาชีพ จริงๆ นักแสดงตลกที่ให้เกียรติภรรยาก็มี แต่ภาพออกมาอย่างนี้เยอะ”

“มุขตลกก็ยังเป็นอย่างนี้ ผมจึงอยากเสนอว่า ทำไมเราไม่ดูต้นแบบตลกสร้างสรรค์ ตลกดีๆ ที่เขาพยายามเสียดสีสังคมเชิงบันเทิง สุดท้ายสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในสังคมได้”

จะเด็จ กล่าวอีกว่า อย่างนักแสดงตลกส่วนใหญ่มาจากคนยากจน ทำไมไม่เอาปัญหาความยากจนมาสะท้อนปัญหาสังคม สร้างมุขตลกที่เป็นปากเสียงให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้รัฐได้เห็นแล้วนำไปปรับปรุง มุขแบบนี้ก็มีประสบความสำเร็จและคนดูเยอะ อีกทั้งนักแสดงตลกหลายคนผ่านพ้นความยากลำบากในชีวิตมา สามารถเป็นโรลโมเดลให้กับคนดู เอามาเป็นมุขให้คนเกิดความคิดใหม่ๆ ได้

เขายกตัวอย่างนักแสดงตลกระดับโลก ‘ชาร์ลี แชปลิน’ นอกจากฝีมือชั้นเลิศในการเรียกเสียงหัวเราะแล้ว เขายังเป็นนักเคลื่อนไหว เช่น วิจารณ์ถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม วิจารณ์เผด็จการ วิจารณ์การถูกเอาเปรียบของแรงงานจากระบบทุนนิยม

ชาร์ลี แชปลิน

ซึ่งก็อยากให้ประเทศไทยมีนักแสดงตลกแบบนี้ อย่างปัจจุบันก็พอมี เช่น ‘โน้ส-อุดม แต้พานิช’ ศิลปินและนักพูดชื่อดัง ออกมาเสียดสีสังคม และตั้งคำถามกับโครงสร้างบางอย่างของรัฐ ให้กับคนชนชั้นกลางได้อย่างน่าสนใจ

สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เชื่อว่า “สื่อชี้นำสังคม สังคมชี้นำสื่อ” จริงอยู่ว่ามุขตลก มาจากการสะท้อนทัศนคติสังคมสมัยก่อน ว่าเคยยอมรับ ทำได้ ทำแล้วไม่เกิดผลอะไร แล้วใส่ความเข้มข้นของท่าทางให้เป็นมุขตลก แต่ตอนนี้สังคมเปลี่ยนไปแล้ว หากสื่อยังคงมีทัศนคติแบบเดิม สื่อนั้นก็จะค่อยๆ ตกยุคไปเรื่อยๆ

นอกจากมุข(ไม่)ตลกข้างต้น ดร.วราภรณ์ ยังพบมุขที่ไม่โอเค คือ มุขเหยียดหรือบูลลี่เรื่องรูปร่างหน้าตา อย่างไม่มีดั้ง ตัวเตี้ย จะพบในนักแสดงตลกและผู้เข้าร่วมรายการ ที่รูปร่างหน้าตาไม่สวยตามมาตรฐานสื่อกระแสหลัก จะถูกบูลลี่มาก รวมถึงคนที่พิการทางร่างกาย พิการสติปัญญา ก็จะถูกบูลลี่เช่นกัน

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท

“สมัยก่อนคนอาจไม่ตั้งคำถาม แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มีทัศนคติไม่ยอมรับการลวนลาม คุกคามทางเพศ บูลลี่ โดยเฉพาะคำว่าบูลลี่สมัยก่อนไม่มีคำศัพท์นี้ จะใช้คำว่าหยอกล้อ แต่ตอนนี้ใช้คำทับศัพท์ว่าบูลลี่ แสดงว่าคนมองปรากฏการณ์นี้ด้วยสายตาแบบใหม่ เห็นว่าเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้”

ทั้งนี้ คิดว่ามุขตลกหลายมุข ส่วนใหญ่มีทีมโปรดักชั่นคิดให้ อาจไม่ใช่ตัวพิธีกร หรือนักแสดงตลกคิดเอง ฉะนั้นก็อยู่ที่กึ๋นและจิตสำนึกของทีมโปรดักชั่นและโปรดิวเซอร์ด้วย ว่าจะคิดมุขตลกอย่างไรที่ไม่เหยียด บูลลี่ หรือส่งเสริมทัศนคติการคุกคามทางเพศ ซึ่งทำได้นะ อย่างมุขตลกของฝรั่ง จากในซีรีย์สหรัฐฯ ที่เคยดูหลายเรื่อง เขามีมุขตลกที่ไม่ต้องเหยียดเพศ สีผิว หรือสนับสนุนระบบชายเป็นใหญ่ แต่สามารถสอดแทรกวิถีชีวิต ความแตกต่างทางเพศ มีมุขตลกแบบอื่นได้

“มันอาจไม่เหมือนกรณีฉากข่มขืนในละคร ที่ส่งเสริมความรุนแรง จนทำให้คนลุกขึ้นมาต่อต้านและรณรงค์ไม่ให้มี เพราะรายการตลกหรือรายการวาไรตี้มันเนียนๆ จึงไม่เห็นผู้บริโภคลุกขึ้นมาต่อต้านสื่อลักษณะนี้โดยตรง ยิ่งมีช่องทางออนไลน์ให้ชมด้วย ได้เห็นยอดวิวสูงอยู่ เราคงอาจไม่เห็นอิมแพคความเสื่อมถอยของสื่อเหล่านี้ในเร็วๆ นี้”

“แต่ก็หวังว่าจะมีจะมีตลกรุ่นใหม่ ผู้ผลิตสื่อรุ่นใหม่ ที่เอือมระอากับมุขแบบนี้ คิดคอนเทนต์ใหม่ๆ มุขใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้”

สุดท้ายนี้ ดร.วราภรณ์ เชื่อว่าการมีรายการตลกสร้างสรรค์ สามารถเปลี่ยนสังคมได้ แม้อาจไม่ได้เปลี่ยนผ่านการดู 10 ตอน แต่จะค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติและรสนิยมในระยะยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image