“เครื่องมือหิน”ที่ซูลาเวซี เป็นของใคร?มาจากไหน?

ภาพ-ERICK SETIABUDI

ทีมขุดค้นทางโบราณคดีของมหาวิทยาลัยแห่งวูลลองกอง ประเทศออสเตรเลีย นำโดย เกอร์ริต ฟานเดน เบิร์กห์ ศาสตราจารย์ทางโบราณคดีประจำมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ขุดค้นพบเครื่องมือหินเป็นจำนวนมากจาก 4 แหล่งขุดค้นบนเกาะซูลาเวซี ของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อตรวจสอบอายุพบว่า เครื่องมือหินดังกล่าวมีอายุย้อนไปถึงยุคหิน และมีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องมือหินจากยุคดังกล่าว ซึ่งพบในแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีหลายแห่งบนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกลายเป็นเครื่องหมายคำถามตามมาว่า ใครเป็นเจ้าของเครื่องมือหินเหล่านี้ และคนเหล่านั้นมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะแห่งนี้ได้อย่างไร

เกาะซูลาเวซี เป็น 1 ใน 2 เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภูมิภาคเท่านั้นที่มีการขุดค้นพบซากฟอสซิลของ “โฮมินิดส์” บรรพบุรุษมนุษย์โบราณที่มีลักษณะคล้ายลิงใหญ่ ก่อนที่มนุษย์ยุคใหม่จะเดินทางมาถึงหลายๆ เกาะ เรื่อยไปจนถึงออสเตรเลีย ในช่วงระหว่าง 60,000 เรื่อยมาจนถึงราว 40,000 ปี โดยพบหลักฐานมนุษย์ยุคใหม่มาถึงซูลาเวซีเมื่อราว 40,000 ปีก่อน

อีกเกาะหนึ่งคือเกาะฟลอเรส ที่อยู่ห่างจากเกาะซูลาเวซีลงไปทางใต้ราว 500 กิโลเมตร ซึ่งมีการขุดค้นพบซากฟอสซิลของมนุษย์โบราณอายุ 194,000 ปี ที่แตกต่างออกไปจากมนุษย์สายพันธุ์อื่นๆ ได้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “โฮโม ฟลอเรไซเอนซิส” แต่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ฮ็อบบิท” เพราะมีขนาดตัวเตี้ยเล็ก คล้ายคลึงกับฮ็อบบิทในภาพยนตร์ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงนั่นเอง

เครื่องมือหินที่สกัดจากหินให้ขอบแหลมคมสำหรับใช้ในการตัด เฉือน ซึ่งพบทั่วไปบนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีอายุราว 1.8 ล้านปี ในขณะที่เครื่องมือหินซึ่งพบบนเกาะซูลาเวซี ตัวอย่างเช่น ที่แหล่งขุดค้นเทเลปู ซึ่งพบเครื่องมือหินจำนวนมากถึง 315 ชิ้นนั้นมีอายุ 194,000 ปี เรื่อยมาจนกระทั่งถึง 118,000 ปี ส่วนที่พบเป็นบนเกาะฟลอเรสนั้น บางชิ้นมีอายุมากถึง 1 ล้านปี

Advertisement

ทีมขุดค้นคำนวณอายุของเครื่องมือหินเหล่านี้โดยอาศัยวิธีการตรวจสอบว่า ชั้่นดินที่พบเครื่องมือหินเหล่านั้นได้รับแสงแดดครั้งสุดท้ายเมื่อใด อย่างไรก็ตาม ในทุกแหล่งขุดค้นที่พบเครื่องมือหินเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ซูลาเวซีหรือที่ฟลอเรส ไม่มีที่ใดปรากฏซากฟอสซิลของมนุษย์รวมอยู่ด้วยเลย จนกลายเป็นคำถามว่า ใครกันแน่เป็นเจ้าของเครื่องมือหินเหล่านี้

นักวิชาการด้านโบราณคดีบางคน รวมทั้ง ศาสตราจารย์คริสเตียน ทรายออน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการขุดค้นครั้งนี้เชื่อว่า เครื่องมือหินดังกล่าวอาจเป็นของมนุษย์ “ฮ็อบบิท” หรือบรรพบุรุษที่ใกล้ชิดนั่นเอง แต่ในเวลาเดียวกันก็มีทางเป็นไปได้ในอีกหลายๆ ทางมาก อย่างเช่น เครื่องมือหินดังกล่าวอาจเป็นของมนุษย์เดนิโซแวน (ที่มีลักษณะคล้ายคลึงมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล) ซึ่งเคยมีประชากรกลุ่มใหญ่อาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกในยุคหิน หรือไม่ก็อาจเป็นเครื่องมือที่เหลือทิ้งไว้ของ “โฮโมซาเปียนส์” ยุคหินที่เดินทางมาไม่นานหลังวิวัฒนาการขึ้นในแอฟริกา

ในขณะที่ ศาสตราจารย์ฟานเดน เบิร์กห์ ให้ความเห็นส่วนตัวว่า เชื่อว่าเครื่องมือดังกล่าวเป็นของมนุษย์ โฮโม อีเรคตัส (มนุษย์ในยุคเริ่มวิวัฒนาการ รู้จักใช้เครื่องมือหิน ในช่วงไพลสโตซีน หรือราว 1.9 ล้านปีก่อน) โดยชี้ว่า มีการพบซากฟอสซิลของเอช.อีเรคตัสนี้ที่เกาะชวาซึ่งไม่ไกลจากซูลาเวซีและฟลอเรสมากนัก มีอายุตั้งแต่ 1.5 ล้าน เรื่อยมาจนถึง 140,000 ปีก่อน อันเป็นช่วงที่เกาะชวายังเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ เมื่อน้ำทะเลลดเป็นช่วงๆ

Advertisement

ฟานเดน เบิร์กห์ ตั้งสมมติฐานด้วยว่า เอช. อีเรคตัส อาจไม่ได้สร้างแพหรือเรือแคนูเพื่อใช้เดินทางข้ามทะเลมายังเกาะซูลาเวซี แต่คนเหล่านั้นจำนวนหนึ่งอาจถูกสึนามิที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวกวาดลงทะเล แล้วอาศัยเศษซากปรักหักพังหรือต้นไม้ ลอยตามกระแสน้ำไปจนถึงเกาะซูลาเวซีในที่สุด

ข้อสันนิษฐานเดียวกันนี้สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมจึงสามารถพบซากฟอสซิลอายุกว่า 200,000 ปีของช้าง หรือสัตว์อีกหลายชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้วบนเกาะแห่งนี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image