ที่มา | มติชนรายวัน |
---|---|
เผยแพร่ |
นับเป็นเวลาหลายทศวรรษที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ บำบัดทุกข์บำรุงสุขพสกนิกรไทยให้มีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เคียงคู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผ้าไหมไทย ที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการเผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั้งไทยและชาวต่างชาติ
เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม นี้ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (Queen Sirikit Museum of Textiles – QSMT) จึงได้จัดงาน QSMT Celebration ขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติและฉลองปีมหามงคลนี้ อาทิ การสาธิตกระบวนการสาวไหมพื้นบ้าน มัดย้อม ทอผ้า การปักพัสตราภรณ์โขนพระราชทาน รวมถึงงานแกะสลักต่างๆของ โรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิง และโรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย เพื่อเป็นความรู้ให้กับคนทั่วไป
ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เผยถึงการจัดงานเฉลิมฉลองตลอดทั้งปีนี้ว่า เพื่อเป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ เช่นงานส่งเสริมและสนับสนุนศิลปหัตถกรรมของคนไทย ทางพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ และมูลนิธิฯ จึงได้จัดงานกิจกรรมตลอดทั้งปี เริ่มจากเดือนมิถุนายน จะมีงานศิลป์แผ่นดินครั้งที่ 7 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯทรงเปิดนิทรรศการที่เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ที่ได้บูรณะขึ้นใหม่
“จากนั้นในวันที่ 2 สิงหาคม พิพิธภัณฑ์ผ้าฯเองจะจัดนิทรรศการ Fit for the queen นำเอาเรื่องราวกว่าจะเป็นฉลองพระองค์เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเยือนสหรัฐฯและยุโรปอย่างเป็นทางการโดยปิแอร์ บัลแมง จากห้องเสื้อบัลแมงมาแสดง และนิทรรศการจากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งนี้ปีนี้ยังได้รื้อฟื้นงานเทศกาลผ้าไหม ซึ่งเป็นงานแสดงแบบเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บจากผ้าไทยของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งเคยจัดขึ้นที่ลานคำหอม พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ. สกลนคร มาให้คนไทยได้ชมที่สวนอัมพรด้วย”
นอกจากนี้ภายในงานแถลงข่าวยังได้ชมแฟชั่นโชว์ชุด “ผ้าไทยในโลกแฟชั่น” จาก 6 ห้องเสื้อ ได้แก่ Wisharawish, Sanchai, Hook’s by PRAPAKAS, CHAIHOLDLABEL และ T-RA โดย ธีระ ฉันทสวัสดิ์ จากแบรนด์ T-RA เผยว่า ชุดที่ออกแบบนี้พยายามออกแบบให้เป็นตัวเองมากที่สุด โดยพยายามออกแบบให้ดูโมเดิร์นและใช้เทคนิกใหม่ๆให้ไม่ดูแก่มากนัก จากแต่ก่อนที่ผ้าไทยชอบอัดกาวให้ดูแข็ง แต่จริงๆแล้วดูแลรักษายาก และทำให้แข็งไม่พลิ้วไหว ใส่ยาก การจะทำให้คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้นต้องใส่ง่าย จึงต้องใช้ผ้าอื่นๆช่วย ให้ดูคลาสสิก และอยู่ได้นาน จริงๆแล้วผ้าไทยได้รับความนิยมมานานแล้ว ทั้งผู้สวมใส่และดีไซเนอร์ ส่วนตัวมองว่าแค่มีผ้าไทยเป็นส่วนประกอบเล็กๆน้อยๆก็ช่วยสานต่อเอกลักษณ์ไทยได้แล้ว
ด้านวชิรวิชญ์ อัครสันติสุข ห้องเสื้อ Wisharawish เผยว่า ที่ผ่านมาได้นำเอาผ้าไทยมาใช้ในการออกแบบเสมอ เนื่องจากโตมากับผ้าไทยที่บุรีรัมย์มาตลอด การที่ผ้าไทยจะไปสู่สากลได้ก็ต้องรู้จักการออกแบบที่ดูเป็นสากล เป็นตามกระแส ใช้ได้ในชีวิตจริง และพยายามใช้วัสดุต่างๆมาประยุกต์เพื่อลดต้นทุน ทำให้ซื้อหาได้ง่ายขึ้น เพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย ปัจจุบันผ้าไทยเป็นที่นิยมมากขึ้น นักศึกษาปี 3-4 ในมหาวิทยาลัยเริ่มนำผ้าไทยมาออกแบบกันมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีส่วนอย่างมากที่จะรักษาผ้าไทยในระยะยาว
ร่วมสืบสานอัตลักษณ์ไทย