อาคาร “นวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา” สุขสู่ประชา พัฒนาสู่ความยั่งยืน

เนื่องในโอกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี กอปรกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง “โครงการอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา และเพื่อให้โรงพยาบาลศิริราชมีอาคารที่เป็นศูนย์กลางการตรวจโรคเฉพาะทางอย่างครบวงจร ทดแทนกลุ่มอาคารเดิมที่ชำรุด ทรุดโทรม แออัด ไม่เพียงพอต่อการให้บริการรักษาผู้ป่วย “อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา” จะช่วยเพิ่มคุณภาพการบริการ และความสะดวกของประชาชนผู้เข้ารับบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้าง จัดซื้อครุภัณฑ์ เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวนถึง 5,000 ล้านบาท ทางโรงพยาบาลศิริราชได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 2,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือทางโรงพยาบาลต้องจัดหางบประมาณเอง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุน

IMG_9430
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา

หนึ่งในกิจกรรมจัดหาทุน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จัดงานเดิน-วิ่งเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “๙ นี้เพื่อประชา” เพื่อระดมทุนสร้าง “อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา” เพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาส ซึ่งชื่อของอาคารได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อลงมาให้ อันมีความหมายว่า “กษัตริย์ รัชกาลที่ 9 84 พรรษา” ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2561

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงที่มาของการสร้างอาคารว่า โรงพยาบาลศิริราชกำเนิดมาจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงใส่พระราชหฤทัยในคนที่เดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยและคนยากไร้

Advertisement

“ซึ่งนี่คือปณิธานของโรงพยาบาลศิริราช จนถึง ณ วันนี้ และต่อไปในอนาคตไม่เปลี่ยนแปลง”

ตลอด 128 ปี โรงพยาบาลศิริราชดูแลคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารักษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยปี 2547 มีผู้ป่วยนอก 1.7 ล้านราย ปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ล้านราย และปี 2558 เพิ่มขึ้นถึง 3.3 ล้านราย เฉลี่ยในแต่ละวันมีผู้ป่วยนอกมาใช้บริการ 8,000-10,000 ราย

“เมื่อคนไข้มาให้เราดูแลมากขึ้น ความซับซ้อนของโรคก็เพิ่มมากขึ้น บ่อยครั้งที่มีโรคยากๆ ที่ส่งมาจากโรงพยาบาลต่างจังหวัด ซึ่งเขารักษาไม่ได้ ถ้าเราไม่มีเตียง เราก็รับผู้ป่วยไว้ไม่ได้ ซึ่งพอเราบอกไม่มีเตียง คนไข้ร้องไห้ ญาติร้องไห้ เพราะเขานึกไม่ออกว่าจะไปไหนต่อแล้ว”

Advertisement

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการสร้าง “อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา” โดยสร้างขึ้นบนพื้นที่เดิมของกลุ่มอาคาร 3 หลัง ได้แก่ ตึกหริศจันทร์-ปาวา, ตึกผะอบ นพ.สุภัทรา ระเบียบ และตึกเวชศาสตร์ป้องกัน ที่ให้บริการมาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี โดยจะก่อสร้างเป็นอาคารสูง 25 ชั้น มีพื้นที่ให้บริการกว่า 7 หมื่น ตร.ม. เพื่อทดแทนและเพิ่มพูนงานบริการอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร

“ตึกนี้จะมีเตียงผู้ป่วย 376 เตียง จากที่เรามีอยู่แล้ว 2,200 เตียง ซึ่งตึกนี้ไม่มีเตียงพิเศษแม้แต่เตียงเดียว เป็นตึกสำหรับผู้ป่วยสามัญหรือด้อยโอกาส ขณะเดียวกันผู้ป่วยเหล่านั้น ถ้าเกิดอาการหนักขึ้นต้องเข้าเตียงผู้ป่วยวิกฤต หรือไอซียู แทนที่ต้องย้ายไปอีกตึกหนึ่ง เราก็เลยสร้างไอซียูในตึกนี้ด้วย โดยมี 62 เตียงผู้ป่วยหนัก มีศูนย์บริการความเป็นเลิศ 14 ศูนย์ นอกจากนี้ยังมีส่วนสำหรับตรวจผู้ป่วยนอก สามารถรองรับเพิ่มได้อีกประมาณ 3 แสนราย/ปี”

นับเป็นการบริการทางการแพทย์ที่ประชาชนไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรจะได้รับการบริการที่ดีเหมือนกันหมด

“จุดกำเนิดของโรงพยาบาลศิริราช เป็นโรงพยาบาลของแผ่นดินที่มุ่งช่วยผู้ป่วยยากไร้ เพื่อให้เขาได้มีโอกาส มันอาจไม่เท่าเทียมกับคนที่มีฐานะ แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรจะแตกต่างจนเกินไป” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ย้ำ

LOGO

สำหรับงาน “๙ นี้เพื่อประชา” จะจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน เป็นกิจกรรมเดิน-วิ่งที่ไม่มีการแข่งขัน และไม่แบ่งกลุ่มอายุ โดยแบ่งระยะทางออกเป็น 2 ช่วง คือ 6 กิโลเมตร และ 12 กิโลเมตร

โดยประเภท 6 กม.เริ่มต้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ผ่านถนนราชดำเนินนอก เลี้ยวขวาแยก จปร. เพื่อขึ้นสะพานพระราม 8 เข้าสู่ถนนอรุณอมรินทร์ เลี้ยวซ้ายสี่แยกศิริราช เข้าสู่ถนนวังหลัง และเลี้ยวเข้า รพ.ศิริราช จากนั้นร่วมถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยพร้อมเพรียงกัน ณ ลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ประเภท 12 กม. เริ่มต้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ผ่านถนนราชดำเนินนอก เลี้ยวขวาแยก จปร. เพื่อขึ้นสะพานพระราม 8 เข้าสู่ถนนอรุณอมรินทร์ กลับตัวหน้า รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ย้อนขึ้นสะพานอรุณอมรินทร์ สะพานพระราม 8 เลี้ยวซ้ายแยก จปร. เข้าสู่ถนนราชดำเนิน เข้าเส้นชัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ความพิเศษของงานเดิน-วิ่งครั้งนี้ นอกจากจำนวนผู้เข้าร่วมที่คาดไว้ประมาณ 10,000 คนแล้ว คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อัญเชิญมาไว้บนเสื้อวิ่งและเหรียญสำหรับนักวิ่งที่เข้าเส้นชัย

IMG_9519

“โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่จะนำรายได้มาสร้างอาคารนวมินทรบพิตรฯ และเป็นการเดิน-วิ่งเพื่อแสดงความจงรักภักดีของคนไทย ซึ่งไม่เฉพาะคนที่สมัครเข้าร่วมงานเท่านั้นที่มาร่วมได้ คนไทยทุกคนก็สามารถมาร่วมแสดงความจงรักภักดีได้ โดยสวมเสื้อสีเหลืองมาร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีในเวลา 08.00 น. วันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หรือลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โรงพยาบาลศิริราช”

“การวิ่งครั้งนี้จะเป็นการวิ่งที่ผมคิดว่าจะอยู่ในประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง เพราะสื่อความหมายถึงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแสดงออกซึ่งความร่วมมือกัน สามัคคีกัน รู้รักสามัคคี ของคนไทย”

“งานนี้จะเป็นอีกหนึ่งในสัญลักษณ์ว่า อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคนไทยร่วมกันทำให้อาคารนี้เกิดขึ้นได้จริง เพื่อคนยากไร้ เพื่อคืนชีวิตให้คนนับหมื่นนับแสน คืนความสุขให้ครอบครัวเขา” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

เเบบอาคารนวมิทรบพิตร ๘๔ พรรษา
เเบบอาคารนวมิทรบพิตร ๘๔ พรรษา
ศูนย์ตรวจพิเศษเฉพาะทาง ๑๑ ศูนย์
ศูนย์ตรวจพิเศษเฉพาะทาง 11 ศูนย์
ห้องปฏิบัติการทางรังสี ๑๒ ห้อง
ห้องปฏิบัติการทางรังสี 12 ห้อง
หอผู้ป่วยวิกฤต ๖๒ ห้อง
หอผู้ป่วยวิกฤต 62 ห้อง
หอผู้ป่วยสามัญ ๓๗๖ เตียง รองรับผู้ป่วยใน ๒๐,๐๐๐ รายต่อปี
หอผู้ป่วยสามัญ 376 เตียง รองรับผู้ป่วยใน 20,000 รายต่อปี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image