เปิดวิธีปฏิบัติเมื่อตกน้ำ-เรือล่ม ปลดของถ่วงตัว ออกห่างตัวเรือ ผู้เห็นเหตุการณ์ต้องตะโกนบอกทันที

เปิดวิธีปฏิบัติเมื่อตกน้ำ-เรือล่ม ปลดของถ่วงตัว ออกห่างตัวเรือ ผู้เห็นเหตุการณ์ต้องตะโกนบอกทันที

การเดินทางทางน้ำ นับเป็นอีกหนึ่งการสัญจรที่ได้รับความนิยมไม่แพ้การเดินทางทางบกและอากาศ ทว่าไม่ว่าจะเดินทางสัญจรบนยวดยานพาหนะใดก็ควร “ไม่ประมาท” และควรศึกษาวิธีการปฏิบัติตัวตลอดจนวิธีรับมือเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน

ดังเช่นในกรณีที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคมในขณะนี้ กับการหายตัวไปของดาราสาว “แตงโม นิดา” หลังลงเรือไปกับเพื่อนๆ และยังคงไม่ทราบสาเหตุ ทว่ากลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นาๆ ถึงสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับดาราสาว รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่เธอจะพลัดตกน้ำ

อ่านข่าว : เปิดไทม์ไลน์ กว่า 10 ชั่วโมง หลัง ‘แตงโม’ พลัดตกน้ำ กลางเจ้าพระยา
อ่านข่าว : แม่แตงโมเข้าแจ้งความ หวังช่วยหาข้อเท็จจริง ตร.เผยเพื่อนเตรียมให้ปากคำบ่ายนี้

ชวนย้อนกลับมาคิดว่าหากเกิดอุบัติเหตุตกน้ำหรือเรือล่ม จะต้องทำอย่างไร?

Advertisement

ใน “คู่มือเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำ” โดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ระบุตอนหนึ่งถึง “วิธีปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุตกน้ำหรือเรือล่ม(สละเรือ)” ไว้ดังนี้

– หากเกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารตกน้ำ จะเป็นเพราะความประมาท ความพลาดพลั้งหรือจากการที่เรือเสียการทรงตัวกะทันหัน ให้ผู้โดยสารที่เห็นเหตุการณ์รีบตะโกนให้นายท้ายเรือทราบทันที บอกให้ชัดเจนว่าคนตกน้ำบริเวณจุดใดของตัวเรือ เพื่อที่นายท้ายเรือจะได้หันเหเรือหลบไม่ให้ใบจักรเรือทำอันตรายต่อคนตกน้ำ

– โยนเครื่องช่วยชีวิต เช่น พวงชูชีพ หรือเสื้อชูชีพ ไปให้คนตกน้ำ

Advertisement

– โทรติดต่อแจ้งศูนย์ประสานงานและรับแจ้งเหตุที่ใกล่ที่สุด หรือสายด่วนกรมเจ้าท่าหมายเลข 1199

– ส่วนผู้ที่ตกน้ำต้องควบคุมสติให้มั่น เมื่อตกน้ำให้ว่ายน้ำและผละออกจากเรือจนพ้นระยะอันตรายจากใบจักรเรือแล้วให้หยุดว่าย แต่ให้เน้นพยุงตัวลอยตามน้ำไว้ กรณีอยู่ไกลอย่าพยายามว่ายเข้าฝั่งเพราะอาจหมดแรงก่อน

– สิ่งที่ควรระวังอย่างมากคือ อย่าพยายามว่ายกลับเพื่อคว้าจับกราบเรือขณะที่เรือกำลังแล่นเป็นอันขาดเพราะจะถูกน้ำดูดเข้าไปใต้ท้องเรือหรือจมไปพร้อมกับเรือ

– หากทำได้ ให้ถอดรองเท้า เข็มขัด หรือสิ่งของติดตัวที่จะเป็นเครื่องถ่วงออกให้หมด

– คอยคว้าจับสิ่งลอยน้ำที่มีผู้โยนให้จากเรือ เพื่อใช้เป็นเครื่องพยุงตัว

– หากคว้าจับไม่ได้หรือไม่มีผู้โยนสิ่งใดมาให้ ให้ถอดเสื้อหรือกางเกงออกทำเป็นโป่งลอยน้ำพยุงตัวไว้ชั่วคราว แล้วปล่อยตัวลอยตามน้ำรอจนกว่าหรือเรือจะวกกลับมาช่วยเหลือหรือจนกว่ากระสน้ำพัดเข้าใกล้ฝั่งที่ตื้นหรือที่มั่นคงซึ่งพออาศัยยึดเหนี่ยวได้ และรอการช่วยเหลือ

ทั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า หากเกิดเหตุเรือล่มกลางทะเลหรือกลางแม่น้ำ เจ้าหน้าที่ประจำเรือควรเร่งอพยพผู้โดยสารและต้องกระทำทันทีก่อนที่เรือเอียงมากกว่า 20 องศา โดยผู้โดยสารทุกคนต้องใส่เสื้อชูชีพหรืออุปกรณ์นิรภัยเตรียมพร้อมอย่างถูกต้อง ส่วนผู้ที่อยู่ภายในตัวเรือให้พยายามหาประตูฉุกเฉินออกมาด้านนอกตัวเรือ

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ฉุกเฉินสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือการตั้งสติเพื่อสร้างสมาธิและการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

ด้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยแพร่บทความ “เรียนรู้วิธีโดยสารเรืออย่างปลอดภัย” ผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 อ้างถึง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีโดยสารเรืออย่างปลอดภัย ไม่ยืนรอเรือใกล้ขอบท่าเรือมากเกินไป รอให้เรือจอดเทียบท่าให้เรียบร้อยก่อนจึงขึ้นหรือลงเรืออย่างเป็นระเบียบ รวมถึงกระจายการนั่งให้เรือเกิดความสมดุล และสวมเสื้อชูชีพไว้ตลอดเวลาที่โดยสารเรือ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยทางน้ำ

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อุบัติภัยทางน้ำ โดยเฉพาะเรือโดยสารล่ม มักเกิดจากความประมาท และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย ขอแนะวิธีโดยสารเรืออย่างปลอดภัย ดังนี้ การรอเรือ ให้ยืนรอบนฝั่งหรือท่าเทียบเรือที่ปลอดภัย ไม่ยืนรอบนโป๊ะ เพราะโป๊ะรับน้ำหนักได้จำกัด หากมีคนจำนวนมาก โซ่หรือเชือกยึดเหนี่ยวโป๊ะกับหลักอาจขาด ทำให้โป๊ะพลิกคว่ำได้ รวมถึงไม่ยืนใกล้ขอบท่าเรือมากเกินไป เพราะขณะที่เรือจอดเทียบท่าหรือมีเรือแล่นไปมา คลื่นอาจซัดทำให้ท่าเรือโคลงเคลงจนเสียการทรงตัว ตลอดจนไม่หยอกล้อเล่นกันระหว่างรอเรือ เพราะอาจพลัดตกน้ำได้

การขึ้น – ลงเรือ ควรรอให้เรือจอดเทียบท่าให้เรียบร้อยก่อนจึงขึ้นหรือลงเรืออย่างเป็นระเบียบ

ห้ามกระโดดขึ้น – ลงเรืออย่างเด็ดขาด เพราะอาจก้าวเท้าพลาด หรือลื่นล้มพลัดตกน้ำได้ เมื่อเรือเข้าเทียบท่าแล้วให้ทยอยกันขึ้น อย่าลุกขึ้นยืนพร้อมกัน เพื่อมิให้เรือรับน้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ส่งผลให้เรือพลิกคว่ำได้

หากเรือมีคนจำนวนมากหรือน้ำหนักบรรทุกตามที่กำหนดแล้ว ควรใช้บริการเรือลำอื่นแทน การโดยสารเรือเมื่อลงเรือแล้วให้เข้าไปนั่งประจำที่ในตัวเรือ ไม่เปลี่ยนที่นั่งไปมา กระจายการนั่งให้เรือเกิดความสมดุล โดยคำนึงถึงการทรงตัวของเรือเป็นหลัก ไม่ยืนบริเวณท้ายเรือ ไม่นั่งบนกราบเรือหรือหลังคาเรือ ไม่นั่งรวมกลุ่มหรือหยอกล้อเล่นกันบริเวณข้างใดข้างหนึ่งของเรือ เพื่อป้องกันเรือล่มหรือพลัดตกน้ำ

กรณี โดยสารเรือขนาดเล็ก ไม่ควรขยับตัวหรือเปลี่ยนที่นั่งบ่อยครั้ง เพราะจะทำให้เรือเสียสมดุลและเสี่ยงต่อการล่มได้ ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่มีน้ำหนักเบา ถอดออกได้ง่าย หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าหุ้มส้นหรือชนิดผูกเชือก หากจำเป็นต้องลงเรือ ควรแก้เชือกรองเท้าให้หลวม หรือถอดรองเท้าออกก่อน

ที่สำคัญ ควรสวมเสื้อชูชีพไว้ตลอดเวลาที่โดยสารเรือจนถึงที่หมายค่อยถอดเสื้อชูชีพออก แม้จะว่ายน้ำเป็นก็ตาม หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้สามารถลอยตัวรอการช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัย

รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะโดยสารเรือ เพราะจะทำให้ขาดสติ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีโดยสารเรืออย่างปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยทางน้ำ

ที่มา : คู่มือความปลอดภัยทางน้ำ , เรียนรู้วิธีโดยสารเรืออย่างปลอดภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image