เสียง…ที่สังคมไม่ได้ยิน เสียง…ของความเท่าเทียมทางเพศ

เสียง นาฬิกาปลุกที่ดังสนั่นหวั่นไหวทั่วห้อง สื่อนัยยะกระตุกให้สังคมตื่นเพื่อหันมามองปัญหาร่วมกัน ในงานเสวนาปลุกเสียงเงียบ ทลายความคิด สู่สังคมเสมอภาค กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์และมูลนิธิส่งเสริม ความเสมอภาคทางสังคมจัดขึ้นเพื่อที่จะรับรู้ปัญหา ปลุกปัญญา ปลุกความคิด และก้าวข้ามไปสู่การเปิดใจ เพื่อเดินหน้าไปสู่การแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจ นำไปสู่การลดความรุนแรงในสังคมในทุกๆ ด้าน

โดยเฉพาะเรื่องของความเสมอภาคระหว่างเพศ ตลอดจนการถูกเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นในสังคม

น้อง แก้ม (นามสมมุติ) พริตตี้สาวที่ถูกละเมิดสิทธิจากผู้ว่าจ้างที่รับงาน จนถึงขณะนี้เธอระบุว่า ไม่มีความคืบหน้าทางคดีภายหลังได้ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันต้องเปลี่ยนพนักงานสอบสวนมาแล้วถึง 3 คน เนื่องจากคู่กรณีเป็นผู้มีอิทธิพล

“หนูทั้งหวาดกลัว วิตกกังวล ฝันร้ายตลอด เราอยากหาที่พึ่ง อยากให้คนทำผิดได้รับโทษ เราเดือดร้อนจึงไปหาตำรวจ แต่ทุกครั้งที่ไปสอบถามความคืบหน้าคดี เขาก็บ่ายเบี่ยง พูดว่าเราต้องการอะไรอีก แค่นี้ยังไม่พออีก มันเจ็บปวดที่ไปทุกครั้งก็ต้องเล่าเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ หนูอยากเรียกร้องสิทธิ อยากได้ความเป็นธรรม เรียกร้องความยุติธรรมให้ถูกต้อง เราทุกคนมีศักดิ์ศรี และศักดิ์ศรีของความเป็นคนก็ควรเท่าเทียมกัน”

Advertisement

lad01070159p2

ขณะ ที่ อาภาณี มิตรทอง ตัวแทนกลุ่มผู้พิการที่ถูกเลือกปฏิบัติ บอกว่า คนพิการ ความเชื่อที่คนในสังคมเชื่อคือ ทำเวรกรรมมา ทำบาปมาจากชาติที่แล้ว ซึ่งนี่เป็นความเชื่อความคิดที่ทำให้การพัฒนาคนเท่ากันมันถูกลดทอนไป เป็นเรื่องเวรกรรมเข้ามาทำให้ต้องได้รับการสงเคราะห์ โดยไม่ได้มองว่า แท้จริงแล้วเขาเป็นคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่โดนอคติทางเพศซ้ำอีก ทั้งอ่อนแอ ไร้ค่า ไม่ต้องพัฒนา

“ผู้หญิงพิการโดนอคติกรอบทางเพศอีกกรอบ จับเด็กหญิงทำหมัน เด็กถูกละเมิดสิทธิทางเพศ สิ่งที่สังคมทำคือจับทำหมัน ไม่ได้มองคนให้เป็นคนและต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่าง ปลอดภัย ผู้หญิงพิการได้เรียนหนังสือน้อย ว่างงานมากกว่าผู้ชายพิการ และที่สำคัญเหมือนหลงลืมที่จะสร้างนโยบายพิการเพื่อผู้หญิงเพื่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลง เราไม่เห็น”

Advertisement

อาภาณีตั้งคำถามที่สะเทือนใจด้วยว่า “ผู้หญิงพิการไม่มีมดลูกหรือ?”

“เรา ก็มีความรู้สึกรักและความเป็นแม่เหมือนผู้หญิงร่างกายปกติ อยากเป็นภรรยา มีครอบครัว มีความเป็นมนุษย์ แต่สังคมของเรามองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ หลงลืม คิดแค่เรื่องเพศในกลุ่มผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง 3 ทศวรรษที่ผ่านมามีความคิดสำหรับคนพิการคือ คิดแทน ทำให้ทั้งรัฐและสังคมคิดว่าคนพิการไม่มีความคิด ไม่สามารถพัฒนาได้ คิดนโยบายลบต่อการสร้างพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ”

เช่น เดียวกับความเจ็บปวดของ แน่งน้อย แซ่เซ็ง ที่ถูกมองไม่เห็นค่าของความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะบ่อยครั้งที่เธอจะถูกมองหรือตั้งคำถามเพียงแค่เธอเป็นผู้หญิง ชาติพันธุ์ หรือเพียงแค่เธอสวมชุดชาวเผ่าม้ง

“อาบน้ำมั้ย? เราจะถูกถามอย่างนี้ตลอด เราไปโรงพยาบาลป่วยจะตายอยู่แล้ว ยังมาถามให้เราป่วยใจอีก ฉันเป็นจีน-ม้ง ฉันมีหางเหรอ ถึงมาเรียกฉันว่าเป็นตัวๆ เวลาขึ้นรถแต่งชุดชนเผ่าก็ถูกตวาด โดยเฉพาะไปในสถานที่ราชการ ชาวชนเผ่าจบดอกเตอร์ก็มี พูดไทยก็ได้ แล้วคุณพูดภาษาของฉันเป็นหรือเปล่า” แน่งน้อย ตัวแทนของการถูกเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงชาติพันธุ์ระบายด้วยความอัดอั้นต่อ สิ่งที่เธอเจอ

lad01070159p3

ขณะเดียวกันยังมีปัญหาใหญ่ในสังคมที่สำคัญที่ไม่ สามารถที่จะละเลยได้ นั่นคือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับการปฏิบัติที่ติดเชื้อเอชไอวี เช่น ที่บ้านโฮมฮัก เหตุการณ์ที่ถูกกระทำ มาถึงจุดที่ “แม่ติ๋ว” สุธาสินี น้อยอินทร์ แห่งบ้านเยาวชนมูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน (บ้านโฮมฮัก) ซึ่งขณะนี้ต้องหอบเด็กๆ มาบวชเพื่ออาศัยร่มศาสนาเป็นที่พึ่ง จากการถูกเลือกปฏิบัติของคนในสังคม

“กระบวนการยุติธรรมไม่ได้ปก ป้องเด็กๆ ทุกคน ทำเหมือนเราเป็นลูกฟุตบอล โยนกันไปมา สังคมอาจไม่ยอมรับ แต่มองเราด้วยสายตาธรรมดาได้หรือไม่ ขนาดว่ามีคนแอบไปถ่ายรูปว่าอยู่บ้านโฮมฮัก เพื่อให้เอาเด็กออกจากโรงเรียน เราทำงานอยู่กับเด็กติดเชื้อเอชไอวีมา 30 ปี แต่ไม่ได้ติดโรคร้าย แต่ตอนนี้มันติดโรคร้ายจากหัวใจคนในสังคมทั้งสิ้น เราเรียกร้องกันสารพัด แต่ไม่เคยโอบกอดเด็ก ให้สิทธิกับเด็กๆ พวกนี้เลย เขาทำอะไรผิดถึงทิ้งเขา ที่สำคัญเอชไอวีไม่มีนโยบายในประเทศเพื่อที่จะทำงานกัน ดูแลกัน เพราะถ้าเปิดมาก มันกระทบการท่องเที่ยว เขาคิดแค่นี้”

ขณะที่ สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ระบุว่าส่วนใหญ่ปัญหาที่เข้ามารับคำปรึกษาและช่วยเหลือคือ กลุ่มผู้หญิงที่ถูกทำร้าย ถูกคุกคามทางเพศจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง ผู้มีอิทธิพล และการถูกเลือกปฏิบัติ เพราะสังคมยังมีความคิดอคติทำให้มีการคุกคามทางเพศจำนวนมาก มูลนิธิต้องการให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ยิ่งไทยเข้าสู่อาเซียน กฎหมายยิ่งสำคัญ รัฐและเอกชนต้องดูแล คุ้มครองพิทักษ์สิทธิ ให้กลไกทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เป็นกฎหมายใหม่ที่ยังประโยชน์ เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิ เป็นกฎหมายที่ถูกผลักดันให้คนที่ถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกละเมิดสิทธิได้รับ การคุ้มครอง ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคมเพื่อให้เกิดความตระหนักในเรื่อง ความเท่าเทียมระหว่างเพศและวิธีการปฏิบัติต่างๆ ต่อไปนี้อย่าปล่อยให้ผู้ถูกกระทำถูกทำให้เงียบอีกต่อไป!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image