ส่องวิชั่นพรรคการเมือง ชูนโยบาย “นักการเมืองหญิง-เท่าเทียมเพศ” เอาจริง หรือแค่อีเวนต์?
ประเทศไทยเตรียมพร้อมเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 ประเด็น “นักการเมืองหญิง-ความเท่าเทียมทางเพศ” จึงถูกพูดถึงอีกครั้ง เป็นสัญญาณน่าสนใจในงานสัมมนาออนไลน์ วาระสตรีสากล: ทลาย “อคติ” ก้าวแรกและทันที ซึ่งช่วงหนึ่งมีการอภิปรายเรื่อง “ผู้หญิงคือผู้เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่” จัดโดย สถาบันพระปกเกล้า
ในงานเปิดโอกาสให้นักการเมืองหญิง ซึ่งเป็นตัวแทนแต่ละพรรคการเมือง ได้มาถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวที่มากว่าจะมีวันนี้ และเปิดนโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศ ที่แต่ละพรรคเตรียมหาเสียง ดังนี้
เริ่มที่ วรรณวิภา ไม้สน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดพรรคก้าวไกล มาถึงจุดนี้ได้เธอไม่ได้เป็นลูกอดีตนักการเมือง หรือประสบความสำเร็จทางธุรกิจมาก่อน แต่เป็นผู้นำสหภาพแรงงานที่รู้กฎหมาย เข้าใจปัญหา จึงพยายามสะท้อนปัญหาและความต้องการให้พรรคการเมืองไปจัดทำนโยบาย สุดท้ายมาเป็นนักการเมืองหญิงแบบไม่ได้ตั้งใจ
วรรณวิภา เล่าว่า ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจว่าอยากเห็นสังคมดีกว่านี้ จึงทำให้ดิฉันก้าวเข้ามาเป็นนักการเมืองหญิง เข้ามาได้รับการพัฒนาศักยภาพมากมาย ตั้งแต่อบรมการพูด ลงพื้นที่หาเสียง พบปะประชาชน รู้นโยบายละเอียดลึกซึ้ง ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลเน้นความหลากหลายเป็นหลัก แต่ละคนมีความชำนาญและเรื่องราวที่อยากผลักดัน อย่างดิฉันคือเรื่องแรงงาน ส่วนคนอื่นก็มีเรื่องแอลจีบีทีคิว ชาติพันธุ์ ฯลฯ
ส่วนประเด็นการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ วรรณวิภาเชื่อว่าระบบปัจจุบันก็เอื้อแล้วระดับหนึ่ง แต่สำคัญคือ ต้องเสริมพลังผู้หญิงให้แกร่งจากภายใน เธอยกเหตุการณ์ตอนเป็นสหภาพแรงงาน เคยกำหนดในข้อบังคับสหภาพว่าต้องมีสัดส่วนผู้ชายต่อผู้หญิงเท่าใด แม้สุดท้ายจะทำได้ แต่กลายเป็นว่าได้ผู้หญิงเข้ามาแบบไม่เต็มใจ หรืออยากทำจริงๆ ฉะนั้นคิดว่าการจะสร้างนักการเมืองหญิง ผู้นำหญิง จะต้องติดอาวุธ และจุดประกายทางความคิดว่าเห็นอะไร อยากเปลี่ยนแปลงอะไร แล้วให้เขาลงมือทำ
ส่วนอดีตนักแสดงที่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักการเมืองหญิง นาถยา แดงบุหงา เคยเป็น ส.ส.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันย้ายมาอยู่พรรคไทยสร้างไทย เธอยืนยันว่าสิ่งที่ทำให้มีวันนี้ได้ เพราะความมุนานะ อดทนลงพื้นที่จนประชาชนเชื่อมั่นใจตัวเธอ และเชื่อมั่นว่าผู้หญิงก็มีความสามารถไม่แพ้ผู้ชาย
นาถยา เล่าว่า ดิฉันไม่เคยถูกวิจารณ์เลยว่า มาเป็น ส.ส.ได้เพราะเป็นนักแสดงมาก่อน หรือว่าอะไร อาจเพราะสามารถพิสูจน์ตัวเองว่าทำได้ โดยเฉพาะการอภิปรายสะท้อนปัญหาภาคใต้ที่ผู้หญิงถูกลิดรอนเยอะก่อนหน้านี้
เธอมองว่าปัจจุบันไทยมี ส.ส.หญิงน้อย ยิ่งเป็น ส.ส.หญิงที่เป็นชาวมุสลิมยิ่งมีน้อย แม้อยากเชิญชวนผู้หญิงมุสลิมให้เข้ามาในเส้นทางนี้มากขึ้น เพื่อสะท้อนปัญหาในพื้นที่ไปสู่การแก้ไข แต่ก็ไม่ง่าย เพราะอุปสรรคใหญ่คือตัวผู้หญิงเอง อาจไม่กล้า ไม่พร้อม จึงเป็นที่มาการจัดทำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้หญิงในทางการเมือง ที่พรรคไทยสร้างไทยอยากให้ความรู้ตั้งแต่แนวคิด อุดมการณ์การเมือง การระดมทุน การหาเสียง ตลอดจนการอภิปราย เพื่อผลิตนักการเมืองหญิงคุณภาพเข้าสู่ตำแหน่ง
ด้านนโยบาย พรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่เกิดจนสูงอายุ โดยเฉพาะมิติแม่ นาถยานำเสนอนโยบายคุ้มครองช่วยเหลือดูแลผู้หญิง ตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด
ส่วน รฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคเสมอภาค ก็เห็นเหมือนกันว่าต้องส่งเสริมบทบาทผู้หญิงให้มีพลังจากข้างในก่อน ถึงจะเพิ่มสัดส่วนนักการเมืองหญิงได้ พรรคเสมอภาคจึงมีนโยบายการส่งเสริมบทบาทผู้หญิงให้เป็นวาระแห่งชาติ
รฎาวัญ เล่าว่า เชื่อว่าที่ผู้หญิงเข้ามาสู่แวดวงการเมืองน้อย มาจากเหตุผลส่วนตัวของผู้หญิงเป็นลำดับแรกเลย ตั้งแต่ทัศนคติ ความไม่พร้อม รู้สึกกลัว อิดๆ ออดๆ พรรคจึงตั้งใจจะทำเป็นสถาบันผู้นำทางความเสมอภาค เปิดอบรมสร้างจิตสำนึก ความเชื่อมั่นให้ผู้หญิง ใครก็ได้ ไม่ว่าพรรคไหน หากอยากเรียนรู้เรื่องนี้เราอบรมให้
ด้านนโยบาย พรรคเสมอภาคมีนโยบายจัดสวัสดิการให้ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อย่างสวัสดิการผ้าอนามัย เสื้อชั้นใน รวมถึงยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน กระจายอำนาจหน้าที่ให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.)ที่เน้นพัฒนาสังคม มีศูนย์พัฒนาครอบครัวชุมชนที่ยึดโยงกับ อปท. ตลอดจนมีโรงเรียนพ่อแม่
อีกพรรคที่ชูประเด็นสวัสดิการผ้าอนามัยคือ พรรคเพื่อไทย ล่าสุดได้จัด ‘นิทรรศกี’ เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า ณ อาคารพรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรี
มุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เล่าว่า พรรคสนับสนุนเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ และลดช่องว่างระหว่างวัย ผ่านการมีทีมงานพรรคที่เป็นผู้หญิงทั้งนั้นด้วย อีกทั้งได้เสนอท่าน “แพทองธาร ชินวัตร” มาเป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย
“อย่างประเด็นผ้าอนามัย ก็คนรุ่นใหม่คิดทั้งนั้น คุณแพรทองธารคิดนิทรรศกี ได้รับคำชื่นชมมากเลย จะเห็นว่าเรามีความคิดใหม่ๆ เข้ามา”
พรรคเพื่อไทยยังปลุกระดมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมือง และการปกครองทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงร่วมคิด ร่วมปรึกษากัน และทดลองทำในบางหมู่บ้านที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน ให้มีผู้ช่วยชาย 1 คน ผู้ช่วยหญิง 1 คน
ขณะที่ ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า พรรคประชาธิปัตย์มองไกลกว่านั้น คือ ใครก็ได้ ไม่ใช่เพียงชายหญิง หากมีความสนใจก็สามารถเข้าสู่ถนนการเมืองได้
“หลายคนกังวลว่าเราเป็นโนบอดี้ ไม่ใช่ทายาททางการเมือง จะเข้ามาสู่เส้นทางนี้คงลำบาก อยากบอกว่าดิฉันเป็นตัวอย่างของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่เข้ามา ไม่ใช่มาดามปู แต่เป็นปูธรรมเนี่ยแหละ ที่เดินเข้ามา แสวงหาโอกาสให้ตัวเอง พิสูจน์ตัวเองด้วยศักยภาพ ไม่ใช่เรื่องเพศ”
ดรุณวรรณยืนยันพรรคจริงจังกับเรื่องนี้ ด้วยการทำระบบภายในพรรคเป็นตัวอย่าง คณะกรรมการบริหารพรรคฯ กำหนดสัดส่วนผู้หญิงต่อผู้ชาย 1 ใน 4 หมายความว่า 40 คน มีผู้หญิง 10 คน ส่วนในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 15 ชุดของพรรค หนึ่งในชุดหลักคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ
ปิดท้ายด้วย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวฝากพรรคการเมืองและนักการเมืองว่า ประชาชนครึ่งหนึ่งของประเทศคือผู้หญิง ฉะนั้นอยากให้แต่ละพรรคได้ส่งเสริมความเสมอภาคให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงลมปากหรืออีเวนต์ ซึ่งสามารถทำได้ ตั้งแต่เวลาพิจารณางบประมาณของหน่วยงาน มีการคำนึงถึงมิติทางเพศ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 71 มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งการออกกฎหมายในรัฐสภา ที่จะต้องประเมินผลกระทบ ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ได้มองผลกระทบทางสังคมและเพศมากแค่ไหน เพราะการออกกฎหมายบางครั้งมีผลกับคนด้อยโอกาส คนบางกลุ่ม ซึ่งเราไม่เคยคำนึง และการตรวจสอบใช้งบประมาณ ตลอดจนเวลาพิจารณากฎหมายที่จะตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ขอให้ระบุว่าต้องมีสัดส่วนที่มาจากอะไร จากเหตุอะไร
“เพื่อให้เห็นถึงความตั้งใจทำจริงๆ เพราะจากที่เห็นมา ทำให้ดิฉันไม่เชื่อเลย” ดร.ถวิลวดีกล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดประวัติ อดีตพระมหา ห. แอบแซ่บ ‘นักการเมืองหญิง’ อ้างน้ำไม่ไหล สามีจับได้ขณะเปลือย
- สามี เล่านาทีจับชู้ตอนตี 5 พ้อหยามใจ นักการเมืองหญิง-พระ เปลือยกายนอนทับที่ ปรี่แย่งมือถือ
- รู้จัก ‘มาดามเปิ้ล’ ประภาภรณ์ เชยวัดเกาะ นักการเมืองหญิง คนดังแห่งเมืองสุโขทัย
- เศรษฐาชี้ แม้เปิดกว้าง แต่ LGBTQIA+ ไทย ยังถูกปิดกั้น ชู 3 นโยบาย ชี้ สิทธิทุกคนต้องเท่ากัน