ครบทุกเรื่อง “งานวิวาห์” จัดยังไง..ให้เหมาะช่วงนี้

ในห้วงเวลาแห่งความโศกเศร้าเช่นนี้ ว่าที่เจ้าบ่าว-เจ้าสาวหลายคู่ที่ตั้งใจจะแต่งงานในช่วงเวลาใกล้ๆ นี้ คงจะมีความรู้สึกกังวลอยู่บ้าง

แต่แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้ 14 ตุลาคม-12 พฤศจิกายนนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการไว้ทุกข์ งดงานรื่นเริง แต่สำหรับงานแต่งงานแล้ว ก็สามารถจัดขึ้นได้ตามแต่สถานการณ์และความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

ในเรื่องนี้ อัญรัตน์ จรัสมาธุสร บรรณาธิการบริหารนิตยสาร “วี” ให้ข้อมูลว่า ถือเป็นเรื่องยากสำหรับบ่าว-สาวหลายคู่ที่มีฤกษ์แต่งงานในช่วงนี้ แล้วทำตัวไม่ถูกกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลายคู่ไม่สามารถเลื่อนได้ เพราะจะต้องรอฤกษ์อีกนานนับปี รวมถึงเรื่องเงินทองที่จ่ายไปจำนวนมาก จึงแนะนำว่าหากไม่สามารถเลื่อนได้แล้ว บ่าว-สาวควรรีบแจ้งข่าวกับเพื่อนๆ และแขกเหรื่อต่างๆ ปรึกษาว่าสะดวกหรือไม่ที่อาจจะมาร่วมงานในกำหนดการเดิม แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบของงาน เช่น การเปลี่ยนจากเลี้ยงช่วงเย็นเป็นเลี้ยงต่อจากพิธีเช้าไปเลย

“จริงๆ แล้วพิธีแต่งงานหากเป็นแบบไทยพิธีก็จบไปตั้งแต่การรดน้ำสังข์แล้ว หรือหากเป็นจีนก็จบตั้งแต่ยกน้ำชา การกินเลี้ยงก็เหมือนการเลี้ยงขอบคุณ เป็นธรรมเนียมใหม่ที่เพิ่งเข้ามา ซึ่งหากไม่มีเลี้ยงช่วงเย็นก็ใช่ว่างานแต่งงานจะขาดอะไรไปในหัวใจของบ่าว-สาวช่วงนี้ รูปแบบของงานอาจจะไม่มีการเปิดเพลง มีเพียงบรรเลงเล็กๆ ตอนเปิดตัวบ่าว-สาว ไม่มีการเปิดเพลงมหาฤกษ์ หรือดื่มฉลองชัย ไม่มีเลี้ยงแอลกอฮอล์ รวมทั้งเจ้าภาพต้องขอความร่วมมือกับแขกเหรื่อแต่งกายสีสุภาพ ด้วยสีขาว เทา สีครีมแบบกลางๆ เรียบง่าย”

Advertisement

“นั่นทำให้เราระลึกถึงพระองค์ได้ด้วยว่า เราแต่งงานอย่างพอเพียงตามคำสอน”

ในส่วนของรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นั้น อัญรัตน์แนะนำเพิ่มเติมว่า อย่างพิธีแห่ขันหมากที่มีรำวง กลองยาว ก็อาจเปลี่ยนเป็นการเดินถือของเงียบๆ รับตัวเจ้าสาวแทน หรือหากบ่าว-สาวจัดพิธีจีน ที่มีชุดแต่งงานธรรมเนียมจีนในชุดแดง ก็อาจให้เป็นพิธีส่วนตัวภายใน ส่วนการถ่ายภาพร่วมกันระหว่างบ่าว-สาวและแขกเหรื่อนั้นก็อาจจะต้องอดใจไว้ก่อน ไม่นำมาโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย

 

Advertisement

ขอบคุณภาพจาก wallpapersafari

 

ส่วนหลายคนที่ตัดสินใจเลื่อนงานแต่งออกไปนั้น อัญรัตน์แนะนำต่อว่า สิ่งแรกคือต้องดูฤกษ์ คู่บ่าว-สาวหลายคู่จะมีฤกษ์แต่งงานหลัก และรองอยู่แล้ว ก็อาจใช้ฤกษ์รองแทน จากนั้นจึงต้องแจ้งกับเจ้าของสถานที่จัดงานแต่งงาน ว่ามีวันว่างหรือไม่ และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเท่าไหร่ หรือบางคู่อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่แต่งงานไปเลย ต่อจากนั้นจึงไปแจ้งกับเวดดิ้งแพลนเนอร์และแขกเหรื่อตามลำดับสำคัญ ที่เชื่อว่าแต่ละคนจะเข้าใจถึงเหตุที่ต้องเลื่อนเป็นอย่างดี เพราะทั้งบ่าว-สาวและแขกต่างก็เข้าใจถึงความสูญเสียของทั้งประเทศ จากนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องแจ้งหน่วยงานและร้านต่างๆ เช่น ช่างภาพ ช่างแต่งหน้า ผม และร้านอาหารร้านเค้กต่อไป

“เชื่อว่าในช่วงนี้ทุกคนคงอยู่ในบรรยากาศเสียใจ เจ้าบ่าว-เจ้าสาวเองก็คงรู้สึกซาบซึ้งที่ทุกคนยังมายินดี เป็นกำลังใจให้กัน แต่อีกใจหนึ่งก็คงรู้สึกเศร้าใจ เชื่อว่าในใจคนไทยคงรู้อยู่แล้วว่าเรื่องใดควรทำหรือไม่ควรทำ” อัญรัตน์ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image