‘คังคุไบ’ สะเทือน ‘เซ็กเวิร์กเกอร์’ เมืองไทย ตีแผ่ชีวิตที่ถูกยัดเยียดให้เป็น ‘อาชญากร’
“ทำให้การค้าประเวณีถูกฎหมายทีค่ะ” หนึ่งในบทสนทนาระหว่างคังคุไบ กับ “ชวาหะร์ลาล เนห์รู” นายกรัฐมนตรีของอินเดีย (เป็นนายกฯ อินเดีย 17 ปี นับตั้งแต่อินเดียได้เอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2490) เรียกร้องสวัสดิภาพแก่ผู้ประกอบอาชีพโสเภณีในประเทศอินเดีย
ฉากทัชใจผู้ประกอบอาชีพเซ็กเวิร์กเกอร์ (Sex Worker) ในประเทศไทย ที่ให้ความสนใจดูภาพยนต์เรื่อง “คังคุไบ” หรือ “Gangubai Kathiawadi” ภาพยนตร์ที่กำลังฉายใน “Netflix” สร้างจากเรื่องเล่าในหนังสือ “Mafia Queen of Mumbai” และกำลังเป็นกระแสโด่งดังไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย
บทสนทนาระหว่างเธอกับนายกฯ ยังดำเนินต่อไปอีกว่า
“เป็นไปไม่ได้หรอกคังคุไบ การค้าประเวณีไม่ได้มีเพื่อสวัสดิภาพของสังคม” นายกฯ กล่าว
“แต่ตราบใดที่สังคมยังดำรงอยู่ การค้าประเวณีก็เช่นกัน ขณะที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ มีผู้หญิงถูกขายหรือมีคนซื้อตัวเธอไป ผู้ขายและผู้ถูกซื้อควรถูกลงโทษ แต่ใครกลับเป็นคนถูกทำโทษล่ะคะ เด็กสาวคนไร้เดียงสาคนนั้นไง” คังคุไบ เผย
“ผมเข้าใจ” นายกฯ อินเดีย
“ไม่ค่ะ ไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่เราต้องเจอหรอก แม้แต่พระเจ้าเองก็ตาม เราเป็นเหยื่อแต่กลับถูกปฏิบัติเหมือนอาชญากร” คังคุไบ กล่าวแย้ง
ทุกคำที่คังคุไบกล่าวกับนายกฯ อินเดียด้วยท่าทีนอบน้อม แต่เต็มไปด้วยความแน่วแน่และเข้มแข็ง สร้างความประทับใจให้กับ “ทันตา เลาวิลาวัณยกุล” ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ โดยเธอสะท้อนว่า ภาพยนต์เรื่องนี้สอนสังคมได้เยอะ ชอบที่นางเอกเก่ง รู้จักคิดว่าจะจัดการอย่างไรในการเปลี่ยนวิกฤต เปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นโอกาส
“แต่ชอบที่สุด คือตอนที่คังคุไบเข้าพบนายกฯ ที่เธอพูดว่า ในเมื่อทุกคนรู้ว่า ผู้หญิงเป็นเหยื่อ แต่ทำไมปฏิบัติกับผู้หญิงเหมือนเป็นอาชญากร” ทันตาว่า
มอง “อินเดีย” แล้วย้อนดู “ไทย”
สถานการณ์สอดคล้องกับประเทศไทย ทันตาเผยว่า “ประเทศเราก็เป็นเช่นนั้น บอกว่า ผู้หญิงเหล่านี้ด้อยโอกาสทางสังคม น่าสงสาร แต่กลับยัดเยียดสถานะการเป็นอาชญากรให้ เพราะพ.ร.บ.การค้าประเวณีฯ เป็นกฎหมายอาญา นี่คือ สิ่งที่เกิดความย้อนแย้งในสังคมเรา”
ทันตาย้อนเล่าว่า ปัญหาที่สำคัญของไทย คือ เซ็กเวิร์กเกอร์ในประเทศไทยยังอยู่ในฐานะ “อาชญากร” เพราะมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่มีมาตั้งแต่ปี 2503 ใช้มาอย่างยาวนาน ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมตอนปี 2539 แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานะของคนที่อยู่ในสถานการณ์เหล่านี้มีสถานะที่ดีขึ้นเลย”
ทันตา ขยายความว่า จากกฎหมายตัวนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 1.การทำงานบริการไม่ได้ลดลง 2.อยากจะช่วยเหลือ แต่ทำให้เขาอยู่ในสถานะอาชญากร 3.กฎหมายนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการคอรัปชั่นในสังคมและยังเป็นต้นเหตุให้เกิดการค้ามนุษย์อีกด้วย
“กฎหมายนี้ไม่มีคุณค่าอะไรเลย เราก็เลยพยายามเอากฎหมายนี้ออก แต่รัฐบาลเอง ก็พยายามที่จะปรับเปลี่ยน แก้ไข แทนที่จะเห็นอยู่แล้วว่า กฎหมายไม่มีประโยชน์ ก็ยังปรับเปลี่ยนแก้ไขอยู่นั่นแหละ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็พยายามทำให้เป็นการจดทะเบียน ซึ่งคุณบอกว่า ผู้หญิงเหล่านี้น่าสงสาร เป็นเหมือนเหยื่อ แต่คุณก็กำลังจะตีตราผู้หญิงเหล่านี้”
“การตีทะเบียนไม่ได้แปลก ถ้าคุณตีทะเบียนเขาในฐานะแรงงาน แต่ไม่ใช่การจดทะเบียนโสเภณี นั่นเท่ากับไปกดขี่เขาซ้ำ ไปตีตราเขาเพิ่ม”
“ขณะที่คนเหล่านี้ เขาทำงานในสถานบริการที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว ทำไมไม่ให้เขาอยู่ภายใต้ประกันสังคม และจดทะเบียนภายใต้ประกันสังคมก็จบเรื่องแล้ว”
“แต่ถ้าเมืองไทยจะมีกฎหมายที่จดทะเบียนโสเภณี เท่ากับยอมรับว่า ประเทศไทยมีโสเภณีเต็มบ้านเต็มเมือง อะไรมันดีกว่ากัน เอ็มพาวเวอร์ พยายามบอกรัฐบาลแบบนี้มา 36 ปีแล้ว ทำไมไม่ฟังเสียงเราเลย”
ความลำบากที่ไม่มีใครเข้าใจ
ทันตา ตีแผ่ชีวิตเซ็กเวิร์กเกอร์ในประเทศไทยว่า ชีวิตที่อยู่ภายใต้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ ที่ยังทำให้พวกเราอยู่ในฐานะอาชญากร ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากสถานบริการ ซึ่งเขาจะออกกฎอะไรก็ได้ที่ผิดกฎหมายแรงงาน เช่น ถ้ามาสายหักนาทีละ 5 บาท สมมุติสายหนึ่งชั่วโมงก็ไม่ต้องไปทำงานแล้ว หรือทำงานโดยที่ไม่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน แต่ถ้าวันไหนไม่ไปทำงาน จะต้องจ่ายให้ร้านแทน เคยเจอมั้ย หรือว่า น้ำหนักเกิน ปรับกิโลละ 500 แต่เป็นบางร้านนะ เช่น ร้านที่เต้นอะโกโก้
“สถานบริการเหล่านี้จะเอารัดเอาเปรียบคนทำงาน เช่น ต้องมาแต่งหน้าทำผมที่ร้านทุกวัน และต้องเสียเงินเอง ต้องมียูนิฟอร์มที่ต้องเสียเงินเอง วางแก้วน้ำให้ลูกค้าเสียงดัง ถูกหัก 200 เสาร์ – อาทิตย์ที่เป็นวันคนเยอะถ้าไม่มาทำงาน หักวันละพัน (ทั้งที่ไม่มีค่าจ้างให้) แล้วให้ผู้หญิงเอาเงินมาจ่ายด้วย ผู้หญิงจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อ ได้ค่าดื่ม ค่าทิป หรือต้องไปกับลูกค้าเท่านั้น
นี่คือ การเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งที่เอาเปรียบขนาดนี้ก็เพราะว่า เขาต้องเอาเงินไปจ่ายส่วย คือ เงินใต้ดิน มากมายมหาศาล”
“ถ้าให้อาชีพนี้ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วให้ผู้หญิงจ่ายภาษี เราเอานะ เพราะว่า เราไม่ต้องจ่ายส่วย เพราะส่วยมันแพงกว่า ขอแค่อย่าจดทะเบียนเราเป็นโสเภณีเท่านั้นเอง”
แรงงานถูกกฎหมาย
ทันตา เรียกร้องว่า ขอให้จดทะเบียนให้เราเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย ให้อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่มาระบุอย่างนั้นอย่างนี้ถึงจะถูกกฎหมาย ซึ่งกฎหมายแรงงาน ก็ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่า 1.ต้องอายุ 18 ปี ขึ้นไป ถึงจะทำงานได้ กฎหมายคุ้มครองเด็กก็มี กฎหมายเมืองไทยครอบคลุมหมดแล้ว ไม่ต้องมีกฎหมายใหม่ และเอากฎหมายค้าประเวณีฯ ออกตัวเดียวก็จบ ไม่จำเป็นต้องมาเห็นด้วยกับอาชีพเรา แต่ก็ไม่ควรลงโทษอาชีพเรา”
“เพราะทุกคนไม่ว่าอาชีพไหนต้องขายแรงงาน ขายความรู้ ขายสติปัญญา เราก็ขายแรงงานเหมือนกัน และเราก็ทำงานหนักเหมือนกัน ทำไมถึงคิดว่า งานของเราผิดศีลธรรม อะไรเป็นกรอบกำหนดศีลธรรมของไทย ทุกวันนี้ ที่มีปัญหาเพราะเขาใช้คำอ้างเรื่องศีลธรรม”
ทันตา ย้ำว่า ในยุคปัจจุบัน กฎหมายควรจะอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน เพราะคำว่า ศีลธรรม มันไม่รู้ว่าเอาศีลธรรมของใครเป็นตัวกำหนด เอาศีลธรรมของใครมากล่าวอ้าง ไม่มีความชัดเจน
“ถ้าจะให้เที่ยงธรรมที่สุด กฎหมายต้องดำรงความยุติธรรม กฎหมายจะต้องอยู่บนพื้นฐานของสิทธิ ไม่ใช่พื้นฐานของศีลธรรมอีกต่อไป”
“ตราบาป” เยอะเหลือเกิน
รุ้งตาคำ อดีตเซ็กเวิร์กเกอร์ที่มาเป็นอาสาสมัครให้มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ บอกหลังดูคังคุไบจบว่า เรื่องนี้ดูแล้วรู้สึกบวก เพราะไม่ได้ตีความเศร้าออกมา แม้จะมีดราม่า แต่เป็นการดึงดราม่าให้เป็นความเข้มแข็ง และจริงๆ เราเป็นแบบนั้น เราอยู่ในประเทศไทยก็ดราม่าแบบนี้แหละ อาจไม่ถึงขั้นโดนหลอกไปขาย แต่ก็ฐานะยากจนเหมือนกัน
“เรื่องนี้ พยายามดึงพลังออกมาให้ไม่เศร้า โลกมันโหดร้าย แต่เราจะอยู่กับความโหดร้ายได้ยังไง แวบแรก รู้สึกว่า มันมีพลัง มันทำให้คนทำงานดูมีคุณค่า เรามาทำอาชีพนี้เพราะอยากมีชีวิตที่ดี อยากให้ลูกได้เรียน ทำงานก็เพื่อเงิน แต่ตราบาปมันเยอะเหลือเกิน”
“สังคมไทยมองเราว่า ผู้หญิงสำส่องไม่ดี เป็นผู้หญิงที่นอนกับผู้ชายเยอะๆ คุณค่าเราไม่มีแล้ว เป็นผู้หญิงผิดผัวผิดเมียผู้อื่น ทั้งๆ ที่จ่ายเงินแล้วแยกย้าย ไม่ได้แย่งใคร คนที่แย่งผัวคนอื่น ทำอาชีพดีๆ เยอะแยะ ทำไมไม่เห็นไปว่า” รุ้งตาคำว่า
โดยฉากที่ชอบที่สุด คือ ฉากที่คังคุไบชนะเลือกตั้ง และเธอขึ้นไปยืนบนโต๊ะแล้วพูดกับผู้หญิงทุกคนที่ทำงานบนถนนทั้งหมด
“คังคุไบบอกว่าดอกไม้มีกลิ่นหอมเหมือนกันหมด เหมือนผู้หญิงไม่ว่าจะอยู่ในวัด ในโรงเรียน ในสถานที่ต่างๆ รวมถึงซ่อง มันก็หอมของมันได้ คือ เขาพยายามพูดกับผู้หญิงให้กำลังใจกันเอง คังคุไบมีพลัง และพยายามทำให้ผู้หญิงที่อยู่ในถนนเห็นว่า เราเป็นดอกไม้ เรามีคุณค่า มีความหอม
“ฉากนี้ ขนลุกมาก ดูแล้วก็รู้สึกว่า มันจริง เพราะอย่างเราตอนแรกๆ ก็ดูมีพลัง สักพักก็เริ่มดรอปพลังลง ถ้าเจอสังคมด่าเยอะๆ แป๊ปๆ ก็เศร้า แป๊ปๆ ก็สตรอง เป็นอยู่อย่างนี้ แต่ตอนดูฉากนี้แล้วรู้สึกว่า เออ! มันก็จริงนะ เราไปให้คนข้างนอกเขาว่าเราซะจนเราก็ว่าตัวเองตามคนข้างนอก แทนที่จะลุกมาเปลี่ยนความคิดคนข้างนอกแบบที่คังคุไบทำ แต่ไปดันคิดไปกับคนอื่น ว่าเราไม่ดี หรือบางคนยังไม่แฮปปี้ ยังอายมากกับอาชีพ ยังตีตราตัวเอง ซึ่งเราพยายามบอกว่า ในเมื่อเรามาทำจุดนี้แล้ว เราจะเปลี่ยนความรู้สึกนี้ยังไง”
จากคังคุไบที่เรียกร้องสิทธิให้โสเภณีอินเดีย ตัดกลับมาที่เมืองไทย รุ้งตาคำ เผยว่า สิ่งที่อยากได้ที่สุดคืออยากให้อาชีพนี้ไม่เป็นอาชญากรก่อน ให้พวกเธอเข้าไปอยู่ในกฎหมายกระทรวงแรงงาน โดยไม่ต้องจดทะเบียนตีตรา
“สมมุติว่าจะไปธนาคาร ธนาคารถามว่าทำงานอะไร “อ๋อ ขายตัวค่ะ” มันพูดได้เหรอ บ้านเรายังไม่พร้อมขนาดนั้น และก็ไม่มีใครอยากลุกมาป่าวประกาศหรอก แต่หมายถึงว่า แค่เอากฎหมายค้าประเวณี เอาความผิดออกไปซะ เราก็ไม่ใช่คนผิดกฎหมายแล้ว” รุ้งตาคำเผย ก่อนทิ้งท้ายว่า
“ตอนนี้ เราลำบากกว่าฟรีแลนซ์ทั่วไปอีก เพราะเรายังโดนจับอยู่เลย”