“ปีวอก” ตั้งต้นชีวิตใหม่ “สลายเครียด” ใช้ชีวิตให้ “สดใส”

ใกล้สิ้นปีแบบนี้ หลายคนคงกำลังวางแผนชีวิตในปีใหม่ “ลด ละ เลิก” พฤติกรรมที่ไม่ดีในปีเก่าทิ้งไป แล้วมาเริ่มต้นใหม่กับเรื่องราวดีๆ โดยเฉพาะ “ความเครียด” ที่สะสมมาเป็นแรมปี

นายแพทย์ฮันส์ เซลเยอ ชาวออสเตรีย ผู้ศึกษาเรื่องฮอร์โมน เผยว่า เมื่อคนเราเกิดความเครียด ฮอร์โมนกว่า 30 ชนิดในร่างกายเราจะปั่นป่วน ฮอร์โมนบางชนิดอาจจะหายไปหรือหยุดทำงาน และฮอร์โมนบางชนิดอาจจะทำงานหนักมากเกินไป ความปั่นป่วนของฮอร์โมนนี้เองที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางกาย เริ่มตั้งแต่เจ็บป่วยเล็กน้อยไปจนถึงป่วยหนักเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ได้

ขณะที่ เภสัชกรหญิงวิชชุลดา ผรณเกียรติ์ ผู้เชี่ยวชาญจากเมก้า วีแคร์ อธิบายเกี่ยวกับความเครียดว่า ความเครียดเป็นกลไกธรรมชาติของมนุษย์ในการตอบสนองต่อสิ่งที่คุกคามหรือกดดัน ซึ่งส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ จริงๆ แล้วหากเป็นความเครียดในระดับที่เหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายกระตือรือร้นและขวนขวายหาความสำเร็จ แต่ถ้าความเครียดมากเกินไปและสะสมจะส่งผลเสียมากมาย ซึ่งพฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความเครียดเรื้อรังแบบไม่รู้ตัวได้แก่ การเป็นคนที่ชอบชิงดีชิงเด่นเอาชนะ เป็นคนที่เข้มงวด ไม่มีการผ่อนปรน เป็นคนที่พยายามทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เป็นคนที่ใจร้อนไม่ชอบรอนาน เป็นต้น

lad03261258p2
เภสัชกรหญิงวิชชุลดา ผรณเกียรติ์

“ความเครียดที่มากเกินไปส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายๆ ด้าน ตั้งแต่อาการเล็กๆ น้อยๆ อย่างปวดศีรษะบ่อย ปวดไมเกรน รวมทั้งความเครียดเรื้อรังยังส่งผลให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกิดการตึงตัว และทำให้มีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว รวมไปถึงกระตุ้นวงจรการนอนหลับให้ผิดปกติได้”

Advertisement

“ในบางรายอาจมีอาการเจ็บป่วยอยู่บ่อยๆ อย่างภูมิแพ้ ซึ่งถือเป็นโรคยอดฮิตของคนเมือง ทั้งภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจหรือภูมิแพ้ทางผิวหนัง เพราะความเครียดจะไปกดระบบภูมิคุ้มกันโดยผ่านฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต่ำหรือบกพร่องไป จึงทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น หรืออาจมีอาการกระเพาะอาหารปั่นป่วนหรือเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร เพราะปัจจัยทางจิตใจมีผลทำให้สารคัดหลั่งในกระเพาะอาหารออกมามาก แต่ในบางรายที่มีความเครียดสูงๆ และเรื้อรังนานมากๆ อาจเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ เช่น โรคความดันโลหิตและโรคหัวใจ”

“นอกจากนี้ ความเครียดส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลง มีอาการปวดประจำเดือนเป็นประจำ หรือมีโอกาสเป็นหมัน และยังพบว่าผู้ที่มีความเครียดเป็นประจำจะมีโอกาสการแท้งขณะตั้งครรภ์ได้บ่อย เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งมากกว่าคนปกติด้วย” ภกญ.วิชชุลดา อธิบาย

เมื่อเครียดแล้วไม่มีอะไรดีสักอย่าง หยุดเครียด แล้วมาใช้ชีวิตให้มีความสุขดีกว่า

ภกญ.วิชชุลดาบอกว่า ต้องหาวิธีบรรเทาความเครียด ปรับทัศนคติและวิถีชีวิตให้เหมาะสม อันดับแรก รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างครบถ้วนและมีวิตามินบีสูงเพียงพอ สามารถช่วยคลายเครียดได้ เช่น ไข่แดง ตับ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว แป้งไม่ขัดสี ธัญพืชและถั่ว เป็นต้น เพราะวิตามินบีเป็นโคเอนไซม์ที่สำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานจากสารอาหารให้สมอง

“เพราะในขณะที่ร่างกายต้องเผชิญความเครียด สมองและระบบประสาทต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก และวิตามินบีในร่างกายจะถูกดึงไปใช้หมดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้สมองและระบบประสาทขาดพลังงาน นำไปสู่ความเครียดที่รุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้อยู่ในภาวะเครียดจึงควรได้รับวิตามินบีปริมาณสูงเพียงพอเพื่อใช้เปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงานแก่สมองและระบบประสาทได้ทันที ส่วนผู้ที่ได้รับวิตามินบีในปริมาณที่เพียงพอจะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง อารมณ์ดีขึ้น ประปรี้กระเปร่าขึ้น และมีปฏิกิริยาการตอบสนองที่เร็วขึ้นอีกด้วย โดยร่างกายคนเราควรได้รับวิตามินบี 25-50 มิลลิกรัมต่อวัน”

พร้อมกันนี้ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เพราะการออกกำลังกายจนได้เหงื่อจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา ช่วยให้ร่างกายและจิตใจสดชื่นกระปรี้กระเปร่า และที่สำคัญ การพูดคุยปรึกษาปัญหากับคนใกล้ชิดสามารถช่วยลดความเครียดได้

“รู้จักปรับเปลี่ยนความคิด อย่ามัววิตกกังวลให้มากเกินไป ลองปรับทัศนคติมองโลกในแง่ดีบ้าง หรือแม้แต่การเจริญสติและการฝึกสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก จะช่วยชะลอความโกรธ คลายความกังวล ลดความกลัวและความตื่นเต้นลงได้ สามารถช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี แนะนำให้ทำสมาธิทุกวันก่อนเข้านอนเป็นเวลา 20 นาที เพียงแค่นี้ก็จะบรรเทาความเครียดจากการทำงาน และมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง” ภกญ.วิชชุลดากล่าว

ปีหน้าฟ้าใหม่ ลด ละ เลิกเครียด แล้วมาใช้ชีวิตให้มีความสุขกันเถอะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image