เปิดหลุมศพ “พระเยซู” ครั้งแรกในรอบกว่า 400 ปี

(ภาพ-ODED BALILTY/NATIONAL GEOGRAPHIC)

ทีมบูรณะซ่อมแซม “วิหารศักดิ์สิทธิ์เอดิคูเล” ซึ่งอยู่ภายใน “โบสถ์แห่งสุสานศักดิ์สิทธิ์” หรือ “เชิร์ช ออฟ โฮลี เซพัลเคอร์” ในนครเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล จำเป็นต้องเปิดหินปิดแท่นวางพระศพพระเยซู ภายในอุโมงค์พระศพ ซึ่งมีการก่อสร้างวิหารศักดิ์สิทธิ์เอดิคูเลครอบทับอยู่ เป็นครั้งแรกในรอบ 461 ปีเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้เพื่อให้งานบูรณะ ซ่อมแซมโครงสร้างของวิหารแห่งนี้เป็นไปได้โดยสมบูรณ์ด้วยการเข้าถึงและบูรณะโครงสร้างย่อยได้นั่นเอง

ทีมบูรณะดังกล่าวเป็นผู้เชี่ยวชาญจาก เนชั่นแนล เทคนิคอล ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ เอเธนส์ ของประเทศกรีซ ได้ชื่อว่าเป็นคนกลุ่มแรกที่เปิดแผ่นหินวางพระศพดังกล่าวหลังจากที่มีการนำเอาแผ่นหินใหม่มาปิดทับแผ่นหินดั้งเดิมไว้มายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1555 เป็นอย่างน้อย โดยเป็นไปได้ว่า อาจจะไม่เคยมีการเปิดแผ่นหินมานานก่อนหน้านั้น ทั้งนี้จากการเปิดเผยของ เฟรดริก ฮีเบิร์ต นักโบราณคดีประจำสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเพื่อการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่นี้

(AP Photo/Dusan Vranic)
(AP Photo/Dusan Vranic)

นักประวัติศาสตร์ทางเทววิทยาบางส่วนเชื่อว่า พระเยซูมีตัวตนจริงโดยเกิดเมื่อปีคริสต์ศักราช 1 หรือก่อนหน้านั้นที่เมืองเบธเลเฮม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองตนเองปาเลสไตน์ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ในเมืองนาซาเรธ ที่ประเทศอิสราเอลในเวลาต่อมา เชื่อกันว่าพระเยซูสิ้นพระชนม์ในราวคริสต์ศักราชที่ 29 หลังถูกตรึงกางเขนโดยทหารโรมัน และตามเนื้อความในคัมภีร์ไบเบิลภาษาฮีบรูว์ ระบุว่ามีผู้นำพระศพไปเก็บรักษาไว้ในอุโมงค์หิน โดยวางไว้บนแท่นหินราบเพื่อรอวันคืนฟื้นชีพในอีก 3 ต่อมาในปีคริสต์ศักราช 326 จักรพรรดิคอนสแตนติน จักรพรรดิคริสเตียนองค์แรกแห่งโรมส่ง พระนาง เฮเลนา ผู้เป็นมารดามาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประจำเยรูซาเลม

ต่อมามีชาวบ้านในท้องถิ่นเยรูซาเลมชี้ไปยังอุโมงค์แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่เคยเป็นสุสานฝังศพในยุคศตวรรษที่ 1 ว่า เป็นสถานที่เก็บพระศพพระเยซู จักรพรรดิคอนสแตนตินจึงมีบัญชาให้สร้างมหาวิหารขึ้นครอบอุโมงค์ดังกล่าวไว้ และให้ขุดเปิดด้านบนของอุโมงค์ออก เพื่อให้ผู้จาริกแสวงบุญสามารถมองลงไปยังแท่นวางพระศพได้ วิหารนี้เป็นที่รู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อ มหาวิหารศักดิ์สิทธิ์เอดิคูเล

Advertisement

ในตอนต้นทศวรรษ 1800 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นทำให้จำเป็นต้องมีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนหน้าการบูรณะครั้งนี้

ตัววิหารศักดิ์สิทธิ์เอดิคูเลตั้งอยู่ภายในโบสถ์ โฮลี เซพัลเคอร์ หรือโบสถ์แห่งการฟื้นคืน ซึ่งเป็นทั้งสถานที่ประกอบศาสนกิจและเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญสำคัญ ตัววิหารศักดิ์สิทธิ์เอดิคูเลนั้นสร้างขึ้นเหนืออุโมงค์ที่เชื่อว่าเป็นสถานที่เก็บพระศพโดยตรง มีปีกวิหารด้านหนึ่งทอดยาวออกไปครอบคลุมพื้นที่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน ปัจจุบันนี้ทั้งโบสถ์และวิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ตกอยู่ภายใต้การดูแลของ 3 คริสตจักรประกอบด้วย คริสตจักร กรีก ออร์โธดอกซ์ คริสตจักร โรมัน แคทอลิก และคริสตจักร อาร์เมเนีย ออร์โธดอกซ์

ทั้ง 3 คริสตจักรตกลงกันเมื่อปี 1958 ว่าจำเป็นต้องมีการบูรณะวิหารศักดิ์สิทธิ์เอดิคูเล แต่ต้องใช้เวลานานถึง 50 ปีจึงตกลงกันถึงวิธีการและเงินทุนเพื่อการนี้ซึ่งคาดว่าจะเกินกว่า 4 ล้านดอลลาร์ (ราว 144 ล้านบาท) ได้ ทีมนักวิชาการจากกรีซได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ดังกล่าวจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ได้จากการบูรณะสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่ทั้งหลายรวมทั้ง วิหารพาร์เธนอน ในกรุงเอเธนส์อีกด้วย ทั้งนี้ ทีมบูรณะจำเป็นต้องยกแผ่นหินอ่อนปิดแท่นหินวางพระศพขึ้นเป็นชั้นๆ เริ่มจากชั้นบนสุดที่วางลงไปปิดทับเมื่อศตวรรษที่ 19 ถัดลงไปเป็นแผ่นหินที่วางปิดทับไว้เมื่อศตวรรษที่ 15 ซึ่งปิดทับแผ่นหินจากสมัยศตวรรษที่ 12 ไว้อีกต่อหนึ่ง จึงจะถึงแท่นหินวางพระศพเดิม

ศาสตราจารย์ฮีเบิร์ตยอมรับว่า ไม่มีใครรู้ว่าแท่นหินดังกล่าวเคยเป็นแท่นวางพระศพจริงหรือไม่ และในตอนนี้ก็ไม่มีอะไรหลงเหลือให้พิสูจน์แล้ว ขึ้นอยู่กับศรัทธาและความเชื่อของแต่ละคนเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image