ทึ่ง! ชาวบาบิโลน รู้จัก ‘แคลคูลัส’

ภาพ-Mathieu Ossendrijver-The British Museum

ดร.มาติเยอ ออสเซนไดรจ์เวอร์ นักดาราศาสตร์โบราณคดี จากมหาวิทยาลัยฮัมโบลดท์แห่งเบอร์ลิน ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า นักดาราศาสตร์ยุคโบราณสมัยอาณาจักรบาบิโลเนีย ในเมโสโปเตเมีย ที่มีชีวิตอยู่เมื่อเกือบ 4,000 ปีก่อน อาศัยหลักการของคณิตศาสตร์ชั้นสูงสมัยใหม่ในการคำนวณหาตำแหน่งดวงดาวคล้ายคลึงกับการคำนวณในวิชาแคลคูลัส ซึ่งเพิ่งมีการพัฒนาขึ้นเมื่อราว 1,400 ปีให้หลัง

ดร.ออสเซนไดรจ์เวอร์ พบข้อมูลดังกล่าวอยู่ในจารึกดินเหนียว ที่ใช้อักษรลิ่ม (คูนิฟอร์ม) กดลงบนแผ่นดินเหนียวขณะที่ยังนิ่มจากนั้นปล่อยให้แห้งแข็ง แล้วเก็บเข้าคลังที่เป็นเหมือนห้องสมุดในยุคใหม่ ส่วนหนึ่งของจารึกดินเหนียวดังกล่าวถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่ “บริติช มิวเซียม” พิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษ ในจำนวนนี้มีอยู่ 4 ชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการคำนวณทำนองดังกล่าว แต่ไม่ได้แสดงวัตถุประสงค์เอาไว้ จนกระทั่ง ดร.ออสเซนไดรจ์เวอร์ได้รับมอบแผ่นจารึกดินเหนียวอีกแผ่นจากนักโบราณคดีรายหนึ่ง ที่บรรยายถึงการคำนวณหาตำแหน่งของดาวพฤหัสบดี (จูปิเตอร์) ล่วงหน้า โดยใช้วิธีการแบบเดียวกันจึงได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการคำนวณดังกล่าว

เมื่อเราอยู่บนพื้นโลก การเคลื่อนที่ของดาวพฤหัสบดีไม่ได้มีความเร็วคงที่ จากวันแรกนับตั้งแต่ดาวดวงนี้ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า เรื่อยไปจนถึงวันที่ 60 การเคลื่อนที่ของดาวพฤหัสบดีจะ “ดูเหมือน” ช้าลงเรื่อยๆ ดังนั้นการคาดการณ์ถึงตำแหน่งของดาวพฤหัสบดีในท้องฟ้าจึงจำเป็นต้องอาศัยคณิตศาสตร์ชั้นสูง

“ชาวบาบิโลนเข้าใจเรื่องนี้จริงๆ เข้าใจว่าถ้าเราคำนวณพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ก็จะรู้ได้ถึงความเร็วที่เปลี่ยนแปลงไปสัมพันธ์กับเวลา และสามารถรู้ได้ว่า ณ เวลาหนึ่งๆ ดาวพฤหัสบดีจะเดินทางไปเป็นระยะทางเท่าใด เหมือนกับที่เราใช้แคลคูลัสในการคำนวณพื้นที่ใต้เส้นลาดเอียงนั่นเอง” ดร.ออสเซนไดรจ์เวอร์ระบุ

Advertisement

ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวที่มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับชาวบาบิโลน เพราะถือว่าเป็นดาวประจำพระเจ้าสูงสุดของพวกตน คือ “มาร์ดุก” ซึ่งถือกันว่าเป็นพระผู้สร้าง และตำแหน่งของดาวพฤหัสบดีบนท้องฟ้าจะบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหาร เรื่อยไปจนถึงระดับของน้ำในแม่น้ำยูเฟรติสได้

นักดาราศาสตร์ในยุคโบราณที่ทำหน้าที่คำนวณตำแหน่งดวงดาวดังกล่าวเป็นการล่วงหน้า น่าจะเป็นนักบวช ตามความเห็นของ ดร.ออสเซนไดรจ์เวอร์ ซึ่งอาศัยการคำนวณทางดาราศาสตร์นี้สำหรับทำนายทายทักในเชิงโหราศาสตร์ และเป็นกลุ่มคนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของตำแหน่งดาวพฤหัสบดี จนเป็นที่มาของวิธีการที่ถือว่าทันสมัยอย่างมากในการคำนวณหาตำแหน่งดังกล่าว

ศ.อเล็กซานเดอร์ โจนส์ นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาจารึกดินเหนียวดังกล่าว ระบุว่า แนวความคิดเกี่ยวกับการคำนวณดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏเป็นหลักฐานใดๆ อีกเลยจนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 14 ในยุโรป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาระดับเลิศของปัญญาชนในสมัยเมโสโปเตเมียได้เป็นอย่างดี

โนเอล สเวิร์ดโลว์ นักวิจัยเชิงประวัติศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย ซึ่งไม่เกี่ยวกับการศึกษาดังกล่าวเช่นกันยอมรับว่า การคำนวณดังกล่าวน่าทึ่งอย่างมาก ยิ่งเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาในอดีตมากขึ้นก็ยิ่งประทับใจและทึ่งกับผลงานเหล่านี้ ที่แสดงให้เห็นถึงความฉลาดอย่างยิ่งได้

ดร.ออสเซนไดรจ์เวอร์เชื่อว่า ภูมิปัญญาทำนองเดียวกับการคำนวณแบบนี้ แม้จะสูญหายไปเพราะจารึกดินเหนียวไม่สามารถคงทนอยู่ได้นาน แต่น่าจะถ่ายทอดผ่านต่อมายังคนรุ่นหลังได้ ชาวกรีกโบราณน่าจะเป็นผู้รับเอาวิธีการเหล่านี้มาและทำให้ดาราศาสตร์ในยุคนี้สามารถสืบสาวย้อนหลังกลับไปถึงยุคสมัยโบราณได้

บาบิโลเนีย ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับสมัยใหม่แต่อย่างใด จึงถือได้ว่าเป็นรากเหง้าของภูมิปัญญาในเวลานี้ได้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image