‘ไรขน’ บนหน้าคน สะท้อนประวัติศาสตร์

ภาพ-EYE OF SCIENCE/SCIENCE SOURCE

ทีมวิจัยของโบว์ดิน คอลเลจ ในเมืองบรันสวิค รัฐเมน สหรัฐอเมริกา นำโดย รศ.ไมเคิล เอฟ. พาโลโพลิ ศึกษาวิจัยสายพันธุ์ของ “ไรขน” (ชื่อวิทยาศาสตร์ เดโมเดกซ์ ฟอลลิคิวโลรัม) ปรสิตขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นที่อาศัยอยู่ตามรูขุมขนต่างๆ บนใบหน้าของคนโดยทั่วไป พบว่า ชนิดของไรขนบนใบหน้าคนเราจะแตกต่างกันออกไปตามบรรพบุรุษ และสามารถใช้ความแตกต่างดังกล่าวนี้ศึกษาเพื่อหารูปแบบของการอพยพ โยกย้ายถิ่นฐานของบรรพชนของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ได้

การศึกษาวิจัยดังกล่าวใช้กลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครจำนวน 70 รายในการวิจัย ทำให้พบว่า ดี.ฟอลลิคิวโลรัมบนหน้าผากของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดนั้นสามารถจำแนกสายพันธุ์ออกได้มากถึง 4 สายพันธุ์ และพบด้วยว่า คนที่มีบรรพบุรุษจากพื้นที่แตกต่างกัน จะมีไรขนที่แตกต่างสายพันธุ์กันออกไปด้วย นอกจากนั้นกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาวเอเชียและชาวยุโรปจะมีชนิดของไรขนน้อยกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มาจากละตินอเมริกาและแอฟริกา งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า พ่อแม่และลูกที่เป็นผู้ใหญ่แล้วมักจะมีไรขนที่มีพันธุกรรมแบบเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไรขนแพร่ออกไปผ่านการสัมผัสทางร่างกายนั่นเอง

ไรขนอาจวิวัฒนาการขึ้นมาพร้อมกับมนุษย์ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมันตลอดระยะเวลาหลายล้านปี ดังนั้น จึงสามารถใช้เป็นตัวอย่างในการศึกษาประวัติการเดินทางของมนุษย์ในยุคประวัติศาสตร์ได้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image