คนรางวัลสิทธิมนุษยชน “58 สิทธิไม่ใช่เรื่องซับซ้อน เป็นเรื่องใจเขาใจเรา

สมัชชาสหประชาชาติมีมติประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันสิทธิมนุษยชน (Human Right Day)” ซึ่งเพื่อให้ความสำคัญวันดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดยนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม.จึงจัดกิจกรรมวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2558 หัวข้อ “สิทธิมนุษยชนกับการเดินหน้าประเทศไทย” พร้อมมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2558 โดยผู้ที่ได้รับรางวัล อาทิ น.ส.สุรินทร์ พิมพา, รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสิรฐ, นายพงษ์นรินทร์ นนท์ก่ำ, กลุ่มเยาวชนสงขลาส่องแสง, น.ส.นิรมล เมธีสุวกุล, น.ส.อรอุมา เกษตรพืชผล, มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน, สหภาพแรงงานไทยเรยอน ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น

นางศิริพร สะโครบาเน็ค ประธานมูลนิธิผู้หญิง หนึ่งในผู้รับรางวัลประเภทบุคคล กล่าวว่า ทำงานช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ที่ถูกละเมิดสิทธิและถูกเอารัดเอาเปรียบมาเป็นเวลา 30 ปี ปัจจุบันยังช่วยเรื่องการค้าผู้หญิงและเด็กหญิง การย้ายถิ่น ความรุนแรงและสิทธิมนุษชนของผู้หญิง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะเดียวกันยังเผยแพร่ความรู้เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่ทำงานสิทธิมนุษยชนผู้หญิง

lad02221258p2
ศิริพร สะโครบาเน็ค

“สถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้านสตรี แม้จะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสาระอย่างเห็นผล ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบ กฎหมาย ฉะนั้นจะทำอย่างไรที่จะให้กฎหมายมีการนำไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อผู้หญิงจริงจัง ยกตัวอย่างความรุนแรงต่อเด็กและสตรี แม้จะมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 แต่ก็ยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่อง คิดว่าเพราะคนยังไม่รู้ว่ามีกฎหมายนี้” นางศิริพรกล่าว และว่า

lad02221258p3
ทิชา ณ นคร

“งานต่อไปคือการเผยแพร่องค์ความรู้ งานตรงนี้เป็นเรื่องทัศนคติของคนในสังคม ดิฉันโชคดีเกิดมาในครอบครัวที่ไม่รู้สึกว่าเลือกปฏิบัติ มีพ่อเป็นแรงบันดาลใจ มีสามีที่ดีและเข้าใจ ทำให้มองว่าจริงๆ ก็มีผู้ชายที่ดีและเข้าใจอยู่ไม่น้อย ก็มาศึกษาว่าผู้ชายเหล่านี้เขาถูกหล่อหลอมมาอย่างไร เพื่อจะไปหล่อหลอมคนต่อๆ ไป เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ฝังรากลึกต่อไป”

Advertisement

ขณะที่นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก รางวัลประเภทองค์กรภาครัฐ กล่าวว่า สิทธิไม่ใช่เรื่องซับซ้อน เป็นเรื่องใจเขาใจเรา เราก็คงไม่อยากให้ใครมาปฏิบัติกับเราเช่นนั้น เช่นเดียวกับเราก็ไม่ควรไปปฏิบัติต่อใครเช่นนั้น

“ภายใต้การให้ของดิฉัน ไม่ได้สูญเสียอะไรเลย ยังอยู่ครบเท่าเดิม จริงๆ อาจเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ คือพลังและความรู้สึก เมื่อได้เห็นคนที่ได้รับงอกงามและเติบโต ก็รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจไปด้วย”

ทิชาให้ความสำคัญเรื่องสิทธิ เธอใช้แนวคิด “บ้านกาญจนาภิเษกไม่ใช่คุก เยาวชนไม่ใช่นักโทษ เจ้าหน้าที่ไม่ใช่ผู้คุม” ในการบริหารจัดการบ้าน

“เด็กบ้านกาญจนาภิเษกจะรู้เลยว่า ที่เราเคารพเขา เพราะสิทธิในเนื้อตัวร่างกายมันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ว่าเรากลัวเขา เพราะอาจเคยก่ออาชญากรรมอะไรมา ที่ให้ได้ขนาดนี้ เพราะว่าในตัวเขามีความเป็นมนุษย์อยู่ด้วย ซึ่งยิ่งใหญ่เท่ากับความเป็นมนุษย์ของเจ้าหน้าที่ในบ้าน เช่นเดียวกับ คนแวดล้อมตัวเขาก็ต่างมีสิ่งที่เป็นมนุษย์ มีสิทธิเหมือนกับเรา ไม่ใช่เพียงได้สิทธิไปแล้วจะหยุดตรงนั้น แต่ว่าต้องให้คนอื่นต่อ” นางทิชากล่าว

สำหรับการทำงานของบ้านกาญจนาฯในอนาคต ทิชาบอกทันทีว่า “ยังเป็นโจทย์ใหญ่” เพราะ “ระบบราชการไทยไม่สามารถจัดการองค์กรแบบบ้านกาญจนาฯได้”

“หากอยากให้มีบ้านกาญจนาภิเษกหลังที่ 2 ที่ 3 ต้องออกจากระบบของรัฐ ต้องยอมรับว่าลักษณะงานหลายอย่าง รัฐมีข้อจำกัด ไม่ใช่ข้อจำกัดด้านบุคลากร แต่เป็นข้อจำกัดทางโครงสร้างที่ไม่ดีพอ ทำให้พลังของผู้คนที่น่าจะมีพลัง ถูกซุกหีบไปหมด ซึ่งงานบางอย่างหากต้องการการเปลี่ยนแปลง รัฐต้องไม่ทำ แต่ต้องสนับสนุนให้คนอื่นทำ”

“อย่างดิฉันอยากเห็นบ้านกาญจนาภิเษกเป็นเอกชนภายใต้การสนับสนุนของรัฐ ที่มีอิสระ มีพื้นที่บริหารจัดการ เพราะบ้านกาญจนาภิเษกพิสูจน์แล้วว่า ที่ตอบโจทย์สังคม เพราะมีความเป็นรัฐน้อยมาก” ทิชาทิ้งท้าย

สิทธิไม่ใช่เรื่องซับซ้อน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image