ร่อนตามลม…สัมผัสชีวิตเด็กสาวที่ไนเจอร์ ประเทศที่แย่ที่สุดสำหรับการเกิดเป็นเด็กหญิง

หัว-ร่อนตามลม

 

 

 

Advertisement

 

 

ขณะที่ “วัย 13 ปี” ของเด็กหญิงส่วนใหญ่ เป็นช่วงชีวิตที่สดใส ร่าเริง ได้ไปโรงเรียน ได้เล่นกับเพื่อน วันๆ ไม่ต้องมานั่งคิดกลัวว่า วันนี้จะมีข้าวกินหรือไม่ แต่วัย 13 ปี ของรามาตู เด็กหญิงในสาธารณรัฐไนเจอร์ ประเทศหนึ่งในแอฟริกาตะวันตก ไม่ใช่แบบนั้นเลย!!!

Advertisement

ทุกวัน รามาตูจะเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการทำงาน เก็บกวาดลานดินหลังบ้าน ล้างจาน และเข้าครัวทำอาหารเช้าให้แม่และพี่น้องอีก 7 คน แต่บ่อยครั้งที่รามาตูไม่จำเป็นต้องทำงานอย่างหลัง เพราะในบ้านไม่มีอะไรสักอย่างที่สามารถจะหยิบจับมาทำเป็นอาหาร

รามาตูเล่าว่า อาหารประจำของครอบครัวเธอคือพาสต้าและข้าว ส่วนเนื้อสัตว์ เนื้อปลา แทบจะพูดได้ว่ามีโอกาสตักเข้าปากนับครั้งได้ และบ่อยครั้งด้วยที่คนทั้งบ้านไม่มีอาหารตกถึงท้องตลอดทั้งวัน

เด็กสาวชาวไนเจอร์คนนี้ใฝ่ฝันอยากจะไปโรงเรียน แต่ความฝันนี้ก็ดูมืดมนเกินกว่าจะเป็นจริง!!!

อย่างไรก็ตาม รามาตูก็ยังรู้สึกว่าเธอยัง “โชคดี” กว่าเด็กสาววัยเดียวกันหลายเท่า ที่ยังสามารถขัดขืนแรงกดดันจากแม่ ไม่ยอมแต่งงานมาได้ 2-3 ปีแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มูลนิธิเซฟ เดอะ ชิลเดรน ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนของสหประชาชาติ ที่มีการดำเนินงานในกว่า 115 ประเทศทั่วโลกตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของยูเอ็น ได้เผยแพร่รายงานประเทศที่มีสถานภาพดีที่สุดและประเทศที่มีสถานภาพเลวร้ายที่สุดสำหรับเด็กหญิง โดยพิจารณาจาก 5 ปัจจัย ซึ่งมีทั้งปัจจัยเรื่องการแต่งงานตั้งแต่วัยเด็ก และอัตราการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่น โดยทำการศึกษาเก็บข้อมูลจาก 144 ประเทศทั่วโลก ซึ่งพบว่าสาธารณรัฐไนเจอร์อยู่อันดับท้ายสุด โดยเด็กสาวราว 76% ในประเทศที่มีประชากรอยู่ 15 ล้านคนแห่งนี้ ถูกจับแต่งงานก่อนอายุ 18 และ 1 ใน 5 ของเด็กสาววัยรุ่นคลอดลูกกันทุกปี ขณะที่ 20 อันดับสุดท้าย ต่างเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา

รามาตูให้สัมภาษณ์กับ เซฟ เดอะ ชิลเดรน ว่าเมื่อไรก็ตามที่ครอบครัวลำบากเข้าตาจน แม่ก็จะเครียด และคิดอยากให้เธอแต่งงานออกจากบ้านไป แต่พ่อของเธอซึ่งเลิกกับแม่ หลังจากพ่อประสบอุบัติเหตุจนต้องออกจากงาน และไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัว เป็นคนที่คอยให้กำลังใจเธอมาตลอด ให้เธอยืนหยัดต่อสู้ และอย่ายอมแต่งงานก่อนวัยอันควรเด็ดขาด

 

รามาตู 1

รามาตู 3jpeg

 

ทั้งนี้ มีรายงานขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า มีพ่อแม่ในประเทศยากจนจำนวนมากที่เลือกตัดปัญหาให้ลูกสาวแต่งงานออกจากเรือน เพราะไม่มีเงินจะเลี้ยงดูลูกๆ แต่ปัญหาการแต่งงานตั้งแต่วัยเด็กก็เป็นวังวนของปัญหาความยากจน เด็กสาวที่แต่งงานตั้งแต่ยังเด็กมีโอกาสที่จะได้กลับไปเรียนต่อน้อยมาก อีกทั้งยังตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ถูกคู่ชีวิตทำร้ายมากกว่าเด็กสาวที่แต่งงานช้า

นอกจากนั้น การแต่งงานในวัยเด็กยังก่อให้เกิดปัญหาระหว่างตั้งครรภ์และระหว่างคลอดบุตร ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ของการเสียชีวิตของเด็กหญิงอายุ 15-19 ปีทั่วโลก ขณะที่ทารกที่เกิดจากแม่วัยใส ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะแท้ง หรือเสียชีวิตหลังจากลืมตาดูโลกได้เพียง 2-3 สัปดาห์

ด้วยวัยเพียง 13 ปี รามาตูเล่าว่า เธอเคยเจอมาแล้วทั้งการถูกกดดันให้แต่งงาน เมื่อปีที่แล้วเพื่อนของเธอ 2 คนก็ถูกจับแต่งงาน และเธอยังได้รู้เรื่องราวชีวิตของเด็กหญิงคนอื่นในหมู่บ้านเดียวกับเธอที่ถูกจับแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กว่าต้องเผชิญกับสภาพชีวิตอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ จากรายงานของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ ระบุว่าระหว่างปี 2551-2555 มีเด็กหญิงในไนเจอร์ได้เข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาเพียง 9.6% สำหรับรามาตูเคยมีโอกาสเข้าโรงเรียนตอนที่อายุถึงเกณฑ์เข้าเรียน แต่หลังจากป่วย เธอจึงต้องหยุดเรียน และยังไม่เคยได้กลับเข้าไปเรียนอีกเลย

ถึงความฝันที่จะได้เรียนต่อดูจะมืดมน แต่รามาตูก็ยังฝันว่าจะได้ไปเรียนเย็บจักร เพื่อเธอจะได้มาประกอบอาชีพเพื่อช่วยเหลือครอบครัว และยังเฝ้าหวังในใจว่า “ฉันอยากกลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง ความรู้จะทำให้ฉันสามารถพัฒนาตัวเอง เพื่อจะได้ไปหางานทำ และช่วยครอบครัวที่ฉันรักได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image