ที่มา | มติชนรายวันหน้า 23 |
---|---|
เผยแพร่ |
ด้วยตัวอักษรเพียง 6 ตัว อย่าง Hermes ทำให้คนทั่วโลกต่างต้องการจะครอบครองแอร์เมส สักชิ้น ไม่ว่าจะด้วยความหรูหรา การดีไซน์ เทรนด์ ความคุ้มค่า หรือคุณภาพก็ตาม
โดยเฉพาะกับกระเป๋าใบหรูรุ่นเบอร์กิ้น และเคลลี่ ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นที่ต้องการของหนุ่มสาวไฮโซทั่วโลก แต่ก็ใช่ว่าแอร์เมสจะมีดีแค่กระเป๋าหนังเท่านั้น เพราะโปรดักต์อื่นๆ ของแอร์เมส ก็เรียกว่าควรค่าแก่การครอบครองไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ “นาฬิกา” ที่พิถีพิถันสมกับความเป็นแอร์เมส ไม่แพ้กระเป๋าหนังใบหรู
ความพิถีพิถันในการผลิต ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้นคือองค์ประกอบของงานศิลป์ ที่เรียกว่ากว่าจะเป็นเรือนเวลาหรู 1 เรือน ต้องผ่านกระบวนการความคิดมาไม่น้อย และเพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ของงานหัตถศิลป์บนเรือนเวลาที่แท้จริง แอร์เมสจึงรวบรวมเอาผลงานมาสเตอร์พีชจากช่างฝีมือ 9 ชนิด 17 เรือน มาไว้ในนิทรรศการ คราฟติ้ง ไทม์ ที่เวียนมาจัดแสดงให้ชมที่บูติกแอร์เมส เซ็นทรัลเอ็มบาสซี ให้แฟนพันธุ์แท้ได้ร่วมสัมผัส พร้อมทั้งได้ ฟิลิปป์ เดโลตัล ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และสไตล์ ลา มงตร์ แอร์เมส เมืองบรูค ผู้อยู่เบื้องหลังความเลอค่าของนาฬิกาแอร์เมสรุ่นต่างๆ มาร่วมไขประสบการณ์ร่วมกัน
“งานสร้างสรรค์ของแอร์เมสบนเรือนเวลาแต่ละเรือนนั้น จะแสดงออกถึงปรัชญาของแอร์เมสที่ต้องการเชิดชูศิลปิน ที่เชี่ยวชาญงานหัตถศิลป์ งานบางชิ้นเป็นการร่วมมือกันของศิลปินหลากชาติ แม้ว่างานบางชิ้นจะดูยากและไม่น่าเป็นไปได้ แต่การสร้างสรรค์นาฬิกาของแอร์เมส ต้องทะลุข้อจำกัดเดิมๆ ไปให้ได้ ให้ต่างไปจากสิ่งที่เป็นอยู่ นั่นเพราะเราคิดถึงอนาคตอยู่ตลอดเวลา กล้าลองและกล้าเสี่ยง ความไม่หยุดนิ่งนี้เอง ทำให้เราแตกต่างจากแบรนด์นาฬิกาไฮเอนด์อื่นๆ”
นี่เอง เป็นที่มาที่ทำให้ฟิลิปป์ เดินทางไปทั่วโลกเพื่อเสาะแสวงหางานศิลป์ชั้นครู มาไว้บนหน้าปัดนาฬิกาแอร์เมส
ฟิลิปป์เผยว่า ถือเป็นความโชคดีของแอร์เมส ที่มีลายต่างๆ ที่อยู่บนผ้าพันคอ หรือเนกไทของแอร์เมสอยู่แล้วพร้อมให้คัดสรรมาใช้ได้ถึง 4,000 ลาย และมีช่างฝีมือที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ ถึง 4,000 คน ซึ่งแอร์เมสก็พร้อมที่จะสนับสนุนความสามารถของศิลปิน-ช่างฝีมือเหล่านี้ อาทิ รุ่น “slim d”Hermes Koma Kurabe” ที่ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบอกเวลา ที่ได้นำศิลปะการทำเครื่องกระเบื้องเคลือบของฝรั่งเศสมาผสมผสานกับงานจิตรกรรมอะคาเอะ ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากปลายพู่กันของ บุซัง ฟุกุชิมะ จิตรกรระดับปรมาจารย์ของญี่ปุ่น ที่ฟิลิปป์เผยว่า กว่าจะมาเป็นผลงานชิ้นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเทคนิคจิตรกรรมบนเครื่องเคลือบนี้มักทำบนพอร์ซเลนขนาดใหญ่ เช่น แจกัน จานชาม เมื่อมาวาดลายลงบนหน้าปัดต้องย่อส่วนลงเยอะย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
“ผลงานนี้นอกจากจะเป็นการยากที่ต้องวาดลวดลายลงบนกระเบื้องแล้ว ยังต้องใส่ใจขั้นตอนอื่นๆ เช่น ต้องทิ้งไว้ให้แห้งหลายวัน จากนั้นมาถึงขั้นตอนเผาดินดิบ และการขัดเงาทั่วทั้งแผ่นเพื่อลบรอยที่เหลือ ก่อนสู่ขั้นตอนเคลือบเครื่องกระเบื้อง ที่ต้องเคลือบชั้นใสและนำไปเผาจำนวน 4-6 ชั้น ก่อนจะนำแผ่นกระเบื้องมาตัดแบ่งเป็นรูปร่างเพื่อทำหน้าปัดเรือนเวลาต่อไป”
หรือจะเป็น Arceau Cheval d”Orient เรือนเวลาที่ชุบชีวิตอาชาตะวันออกไว้บนหน้าปัด ผ่านกรรมวิธีการลงรักแบบฝรั่งเศสจากผลงานของช่างฝีมือแอร์เมสถือเป็นความแปลกใหม่ด้วยไม่ได้ลงรักบนเนื้อไม้แบบดั้งเดิม แต่เลือกจะลงรักบนโลหะแทน เพียงแค่ลงพื้นหลังอย่างเดียวก็ต้องลงรักชั้นแรกด้วยน้ำมันเคลือบเงา พักไว้ถึง 3 วันเต็มก่อนจะนำไปขัดเงาได้ ซึ่งกว่ากรรมวิธีจะเสร็จสิ้นก็ต้องเคลือบกว่า 30 ชั้น เพื่อให้ได้สีดำสนิทสวยงาม
ต่อจากนั้นนาตาลี ศิลปินเจ้าของผลงาน จึงเริ่มดีไซน์ด้วยดินสอ ก่อนจะผสมสีมาแต่งแต้มอย่างประณีตเพื่อให้ผืนพรมเปอร์เซียบนม้านั้นดูมีชีวิตชีวา กว่าจะเสร็จสมบูรณ์นั้นต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 วัน เพื่อให้สีแห้ง ก่อนนำไปเคลือบแร็กเกอร์ใสอีก 20 ชั้นอีกครั้งจนแห้งสนิท เรียกว่าใช้เวลาไม่น้อย
เรือนเวลา อาร์โซ มิเลฟิโอรี่ ที่ได้ ซาวิเยร์ ซิมเมอร์มานน์ ศิลปินแห่งชาติเจ้าของผลงาน มาเผยถึงผลงานชิ้นนี้ด้วยตัวเองว่า ปกติแล้วที่โรงงานคริสตัลเลอรีส์ เดอ แซงต์-หลุยส์ ในเครือแอร์เมส จะทำที่ทับกระดาษคริสตัลตามปีนักษัตรจีนต่างๆ จนกระทั่งฟิลิปป์มาให้และรู้ว่านี่สามารถเป็นหน้าปัดได้ จึงได้เริ่มทำหน้าปัดคริสตัลบนนาฬิกาครั้งแรก
ส่วนขั้นตอนวิธีการทำนั้น เรียกว่าไม่ง่าย ด้วยตั้งแต่นำท่อเหล็กจุ่มเข้าไปในเตาหลอมดึงออกมาเป็นแท่งคริสตัล จนเป็นเนื้อเดียวปราศจากฟองอากาศที่เรียกว่า ก็อป ก่อนจะนำแท่งต่างๆ มามัดรวมกันและนำไปเผาดึงเป็นแท่งแก้วเล็กๆ อีกครั้ง เมื่อได้แท่งแก้วที่มีลวดลายซ่อนอยู่แล้ว จึงจะนำเอาแท่งแก้วเหล่านี้มาตัดให้สั้น เรียงลงบนแท่นเป็นรูปดอกไม้พันดอก ตามชื่อของรุ่นนาฬิกา ก่อนจะนำไปหลอมบนแท่นที่จัดเรียงไว้ให้เป็นแผ่นเดียวกัน และนำไปตัดให้บางเพียง 0.6 มิลลิเมตร ที่โรงงานในประเทศเยอรมนี จนได้หน้าปัดนาฬิการุ่นนี้ขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้เห็นนาฬิกาควรค่าแก่นักสะสมที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีแตกต่างกันหลายชิ้น อาทิ นาฬิกาจากฟางข้าว หรือการลงรักแบบฝรั่งเศสที่หลากหลาย ที่รวบรวมเอาเรื่องราว การผสมผสานของศิลปะและเรือนเวลาเอาไว้ด้วยกัน ความพิเศษยังอยู่ที่ช่างฝีมือจะดีไซน์รูปแบบแตกต่างกันในแต่ละเรือน ทั้งไม่มีออกมาให้เห็นกันบ่อยๆ เรือนหนึ่งอาจจะมีเพียงแค่ 3 เรือนทั่วโลกเท่านั้น และต้องสั่งจองกันข้ามปี
จึงไม่แปลกที่ว่านาฬิกาเหล่านี้ ควรค่ากับตัวเลข 7 หลัก จริงๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- มบส.ปลื้มชุมชนบ้านแพ้ว สมุทรสาคร 85% พอใจให้คำปรึกษาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน
- มท. เว้นค่าธรรมเนียม ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม 57 จังหวัด ทำบัตรปชช.-ทะเบียนบ้านใหม่
- ‘พิชัย’ MOU ‘ไทยกับสหราชอาณาจักร’ ยกระดับหุ้นส่วนการค้า 20 อุตฯสาขา ลุยเจรจาFTA ต่อ
- ครูเบญ ผวา คนจากสพป. มาหาตอนซ้อมรับปริญญา พยายามพาไปคุยที่เขตพื้นที่ฯ