จีนรุกคืบภารกิจบนอวกาศ ยิงจรวด “ลองมาร์ช5”

(ภาพ-China Aerospace Science and Technology Corporation)

จีนประสบความสำเร็จในการยิงจรวด “ลองมาร์ช 5” จรวดส่งที่ทรงพลังมากที่สุดเท่าที่เคยผลิตขึ้นมาเมื่อเวลา 20.43 น. (ตรงกับ 17.43 น.ตามเวลาไทย) ของวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นการขยับคืบหน้าไปอีกระดับหนึ่งตามโครงการเพื่อการก่อสร้างสถานีอวกาศของตนเองในวงโคจรรอบโลกในอนาคต

จรวดสำหรับนำส่งสัมภาระหนัก ลองมาร์ช 5 ถูกยิงจากฐานปล่อยจรวดในศูนย์ปล่อยจรวดเหวินชาง บนเกาะไหหลำ บริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศ และแม้ว่าทางการจีนจะไม่เปิดเผยรายละเอียดอื่นใดเกี่ยวกับภารกิจของการยิงจรวดครั้งนี้ แต่เชื่อกันว่า จีนใช้การยิงจรวดครั้งนี้เพื่อนำดาวเทียมเพื่อการทดลองที่ใช้ชื่อ “สือเจี้ยน-17” ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ดาวเทียมสือเจี้ยน-17 ถูกออกแบบมาสำหรับใช้ในการทดสอบเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าในห้วงอวกาศนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของการปล่อยจรวดลองมาร์ช 5 ครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการทดสอบการใช้งานจรวดรุ่นนี้เป็นครั้งแรก ลองมาร์ช 5 เป็นจรวด 2 ตอน สูง 57 เมตร ใช้เชื้อเพลิงเหลว (ออกซิเจนเหลวและไฮโดรเจนเหลว) ทรงพลังมากที่สุดในบรรดาจรวดส่งทุกรุ่นที่จีนเคยผลิตออกมาใช้งาน มีขีดความสามารถในการนำสัมภาระหนัก 25 เมตริกตัน ขึ้นสู่อวกาศในระดับวงโคจรต่ำใกล้โลก (โลว์ เอิร์ธ ออร์บิท-แอลอีโอ) และนำสัมภาระหนัก 14 เมตริกตัน สำหรับการขึ้นไปสู่วงโคจรคงที่ หรือวงโคจรค้างฟ้า (จีโอสเตชันนารี ทรานสเฟอร์ ออร์บิท-จีทีโอ) ซึ่งทำให้ลองมาร์ช 5 มีพลังใกล้เคียงกับจรวดส่งที่ทรงพลังที่สุดที่สหรัฐอเมริกาใช้อยู่ในเวลานี้อย่าง “เดลตา 4 เฮฟวี” รวมทั้ง จรวดเอเรียน 5 ของยุโรป และโปรตอน ของรัสเซียเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม จรวดส่งที่กำลังพัฒนาอยู่ในเวลานี้ของสหรัฐอเมริกามีหลายลำที่ทรงพลังกว่า อาทิ “ฟัลคอน เฮฟวี” จรวดในเชิงพาณิชย์ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ซึ่งคาดว่าจะถูกประจำการเพื่อใช้งานเป็นครั้งแรกในช่วงต้นปี 2017 ที่จะถึงนี้ โดยฟัลคอน เฮฟวี สามารถขนสัมภาระสู่วงโคจรระดับแอลอีโอได้ถึง 60 ตัน

Advertisement

สมรรถนะของจรวดลองมาร์ช 5 ถือเป็นความจำเป็นสำหรับโครงการอวกาศในอนาคตของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนที่เป็นโมดูลของสถานีอวกาศจีนซึ่งคาดว่าจะมีน้ำหนักรวมถึง 60 ตัน ขึ้นไปประกอบเป็นสถานีอวกาศในวงโคจรรอบโลก ทั้งนี้ นายหวัง จงกุ่ย รองผู้อำนวยการการออกแบบโครงการสำรวจอวกาศโดยมนุษย์ของจีน ระบุว่า สถานีอวกาศใหม่ของจีนที่จะประกอบด้วย 3 โมดูลนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถใช้งานได้ภายในปี 2022 เพื่อทดแทนเทียนกง สถานีอวกาศเดิมของจีนที่จะตกกลับสู่ชั้นบรรยากาศในปี 2017 ที่จะถึงนี้

นอกจากนั้น ลองมาร์ช 5 ยังมีความจำเป็นในการใช้เพื่อส่ง “ฉางเอ๋อ 5” ยานหุ่นยนต์เพื่อการสำรวจ-เก็บตัวอย่างจากพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อนำกลับสู่พื้นโลก โดยในขณะนี้ ฉางเอ๋อ 5 มีกำหนดจะถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปีหน้า แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน

ลองมาร์ช 5 เป็นจรวดในตระกูลลองมาร์ชของจีน ซึ่งใช้ในการจัดส่งดาวเทียมและยานสำรวจอวกาศมาตลอดระยะ 40 ปีที่ผ่านมา

Advertisement

รวมทั้ง “ลองมาร์ช 6” และ “ลองมาร์ช 7” ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนปี 2015 และมิถุนายน ปี 2016 ตามลำดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image