จะดีไหม ‘เทคฮอร์โมน-ผ่าตัดแปลงเพศ’ เป็นสวัสดิการของรัฐ ฝันที่อยากเห็นของคนข้ามเพศ
เห็นเป็นคนร่าเริงสนุกสนาน แต่ลึกๆ แล้วเพื่อนหลากหลายทางเพศ หรือแอลจีบีทีคิวไอพลัส (LGBTQI+) อาจกำลังทุกข์หนัก หรือครุ่นคิดเรื่องอะไรที่คนทั่วไปอาจไม่ได้ใส่ใจอยู่
อย่างเรื่องที่แอลจีบีคิวไอพลัสต้องเจอทุกคน คือ การเทคฮอร์โมนเพศตามเพศสภาพที่อยากเป็นเข้าไปในร่างกาย ผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งมีราคาที่ต้องจ่าย
เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกพูดถึงในงานกิจกรรม “เมื่อการข้ามเพศ ต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ” จัดโดย โครงการส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย (T-HAT : Transgender Health Access Thailand) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ณ ห้องเอนกประสงค์ ชั้นที่ 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตพญาไท กรุงเทพฯ
ภายในงานให้คนข้ามเพศมาบอกเล่าประสบการณ์การข้ามเพศ ทุกคนยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”
ข้ามเพศมีราคาต้องจ่าย
อย่าง ตฤณ พัฒนเวโรจน์ ชายข้ามเพศ ในวัย 40 กลางๆ เขาเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ เปลี่ยนร่างกายจากผู้หญิงให้เป็นผู้ชายโดยสมบูรณ์แบบ หน้าตาหล่อเหลา สามารถโชว์หน้าอกแมนๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่แลกกับค่าใช้จ่ายรวมถึง 1 ล้านบาท
ตฤณ เล่าว่า ผมใช้เงินของผมเองทั้งหมดกับการผ่าตัดแปลงเพศนี้ จริงๆ ผมไม่ใช่เป็นคนมีเงินอะไร เงินนี่ก็ได้มาจากการเลย์ออฟพนักงานช่วงโควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา ซึ่งคิดว่าไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะทำได้ ทั้งนี้ ตอนนี้ร่างกายผมเป็นผู้ชายแล้ว เหลือเปลี่ยนคำนำหน้านางสาวให้เป็นนาย ก็ถือว่าครบสมบูรณ์
เขาได้พูดคุยให้คำปรึกษากับน้องทรานส์แมนหลายคน พบว่าหลายคนไม่กล้าแสดงออกกับคนที่บ้าน ไม่กล้ามาโรงพยาบาล แล้วไปหายาซื้อยากินเอง ซึ่งร่างกายอาจเสี่ยงอันตรายระยะยาวได้ ขณะที่อีกหลายคนสะท้อนว่าไม่มีเงินซื้อยา
ส่วน พักตร์วิไล สหุนาฬา ชายข้ามเพศจากชนบทใน จ.สุรินทร์ เขามีความฝันจะได้ผ่าตัดแปลงเพศ แต่ด้วยเป็นคนรายได้น้อย ทำให้เขาทำตามความฝันไม่ได้สักที กระทั่งได้มาพูดคุยกับหมอโอ๋ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (ผู้ก่อตั้งคลินิก Gen V คลินิกเพื่อสุขภาพเพศของคนข้ามเพศ) ได้รับการชักชวนให้ลองสักครั้ง
เขาตอบตกลง ก่อนลงนัดทำการผ่าตัดเต้านมในเดือนธันวาคมนี้ เป็นความตื่นเต้นของชายข้ามเพศวัยหลังเกษียณ
“ก็ตอบตกลงไปทั้งที่ยังไม่มีเงินเลย ที่ทำตรงนี้ไม่ได้มองเรื่องความสวยงาม แต่ตอบสนองเรื่องสุขภาวะ ที่ประกอบไปด้วยร่างกายและจิตใจ”
พักตร์วิไล กล่าวฝากว่า จริงๆ อยากให้การผ่าตัดแปลงเพศเป็นบริการฟรีของรัฐ ส่วนตัวมองว่าคนข้ามเพศก็เสียภาษีเหมือนกัน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ประเทศได้เช่นกัน เพราะลำพังสิทธิบัตรทองไม่เพียงพอต่อคนข้ามเพศ
สวัสดิการการข้ามเพศ
ภายในงานยังเปิดให้คนข้ามเพศได้สะท้อนปัญหาและความต้องการ มีตั้งแต่การถูกตีตราจากการใช้บริการต่างๆ โดยเฉพาะภาครัฐที่ยังมีอคติและไม่เข้าใจ การไม่มีสถานบริการที่ครอบคลุมเพียงคนข้ามเพศในต่างจังหวัด การไม่ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำให้ไม่มีเงิน เข้าไม่ถึงบริการ ต้องพาตัวเองออกไปหาทางเลือกอื่นๆ ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยและมั่นคง
ต่างๆ นานาเมื่อนำภาพฝันของแต่ละคนมารวมกันแล้ว นี่คือ การอยากได้รับความคุ้มครองจากรัฐอย่างเท่าเทียม
ฐิติญานันท์ หนักป้อ ผู้อำนวยการมูลนิธิซิสเตอร์ และคณะทำงานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า คนอาจคิดว่าประเทศไทยมีเงินก็สามารถซื้อฮอร์โมนมาเทคได้ ไม่เหมือนสหรัฐฯที่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ถึงซื้อมาเทคได้ ตรงนี้เป็นดาบสองคมว่า เราไม่รู้ว่าฮอร์โมนที่เทคส่งผลกระทบอะไรกับเรา เราได้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ถูกต้องอย่างไร ฉะนั้นคนข้ามเพศควรได้รับการดูแล และสามารถเข้าถึงความรู้ได้ อย่างปัจจุบันที่มีคลินิกคนข้ามเพศเกิดขึ้นมาก แต่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ก็อยากให้กระจายบริการเหล่านี้ไปให้ครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ
ส่วนการผ่าตัดแปลงเพศ เขามองว่าคงต้องหาจุดกึ่งกลางระหว่างสิทธิของประชาชนที่รัฐต้องดูแล กับการลงทุนของคนข้ามเพศ ในการแปลงเพศรัฐจะจ่ายให้ทั้งหมดหรือช่วยจ่าย ก็อยากให้มีการพูดคุยและจัดทำเป็นมาตรฐาน แต่ทั้งนี้ มองว่าควรมีการทำงานวิจัยและจัดเก็บสถิติคนข้ามเพศในไทย เพื่อนำไปจัดทำข้อเสนอและการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป
โดย ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เพิ่งได้เข้าใจคนหลากหลายเพศถึงความละเอียดอ่อนต่างๆ อย่างการต้องเทคฮอร์โมน การผ่าตัดแปลงเพศ จริงๆ ยังมีมิติอื่นๆ อย่างเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามตามเพศสภาพ รวมถึงการใช้ชีวิตคู่ต่างๆ นี่ไม่ใช่เพียงมิติสุขภาพอีกแล้ว แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ซึ่งทุกหน่วยงานต้องมาขับเคลื่อนร่วมกันเป็นภาพใหญ่
ส่วนการจะทำให้การเทกฮอร์โมน ผ่าตัดแปลงเพศเป็นสิทธิทางการพยาบาลหนึ่งนั้น ผศ.ภญ.ยุพดีกล่าวว่า การจะกำหนดให้เป็นสิทธิประโยชน์หนึ่งใด จะต้องดูถึงความคุ้มค่าและผลที่จะตามมาก่อน สมมุติให้สิทธิเทคฮอร์โมน ก็จะต้องดูผลที่ตามมาว่าได้สร้างผลกระทบต่อร่างกายให้เกิดโรคที่ต้องมารักษาในอนาคตหรือไม่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรากำลังให้ศึกษาและพูดคุยอยู่
ผศ.ภญ.ยุพดีมองว่าเรื่องนี้มีความเป็นไปได้ หากมีคนข้ามเพศออกมาส่งเสียงอยู่ตลอด เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและผลักดันขึ้นได้ เหมือนในอดีตที่รัฐไม่กล้าสนับสนุนกางเกงผ้าอ้อมให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง แต่เพราะเกิดการวอยซ์ การขับเคลื่อน ปัจจุบันก็สนับสนุนกางเกงผ้าอ้อมกันเป็นเรื่องปกติ
กทม.เปิดคลินิกสุขภาพฯ-พื้นที่แสดงออก
ในพื้นที่ กทม.มีการแอคชั่นเชิงนโยบายขานรับกลุ่มแอลจีบีทีคิวไอพลัส โดย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.ให้ความสำคัญและสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศภาวะในสังคม
และส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพแก่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างทั่วถึง โดยนำร่องเปิด “คลินิกสุขภาพเพศหลากหลายกรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic)” จำนวน 11 แห่ง ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต ได้แก่ กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ กรุงเทพกลาง กรุงเทพใต้ กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ กรุงธนใต้ และจะเพิ่มเป็น 21 แห่งภายในปี 2565
“ไม่เพียงดูแลมิติสุขภาวะคนข้ามเพศ แต่เรายังมีนโยบายส่งเสริมทุกด้าน เช่น การมีพื้นที่อิสระให้แสดงออก มีพื้นที่กิจกรรม รวมถึงปลูกฝังเด็กและเยาวชนผ่านระบบการศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม.ให้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน เคารพสิทธิกัน เพื่อมองการอยู่ท่ามกลางความหลากหลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งหมดนี้อยากดูแลคนข้ามเพศใน กทม.ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นมีไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ให้มีความสุขต่อไป และ กทม.พร้อมรับฟังความคิดเห็น พร้อมทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย” รศ.ทวิดากล่าว
เสนอมีบ้านพักคนชรา-กองทุนสุขภาพเพื่อคนข้ามเพศ
ปิดท้ายงานด้วยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างบริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศ จาก T-HAT เสนอ 2 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.สร้างความเข้าใจและตระหนักรู้สิทธิด้านสุขภาวะแบบรอบด้านของคนข้ามเพศ 2.สร้างระบบบริการสุขภาวะที่เป็นธรรมภายใต้หลักประกันสุขภาพและเข้าถึงได้ สำหรับบุคคลข้ามเพศ
ในรายละเอียดได้เสนอ อาทิ ให้มีการพัฒนาจัดการองค์ความรู้ ฐานข้อมูล จัดทำศูนย์สุขภาพ บ้านพักฉุกเฉิน บ้านพักคนชราสำหรับคนข้ามเพศ โดยเป็นบริการที่คำนึงถึงความอ่อนไหวทางเพศสภาพ ตลอดจนมีสวัสดิการและกองทุนสุขภาพเพื่อคนข้ามเพศ
นายชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวในการเปิดงานตอนหนึ่งว่า โครงการ T-HAT เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนข้ามเพศมีช่องทางสื่อสารความต้องการ ข้อจำกัดด้านบริการสุขภาพ และร่วมกันพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของคนข้ามเพศ เพื่อเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะแม้ไทยจะได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย แต่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังถูกเลือกปฏิบัติในสังคม จากความเชื่อและทัศนคติแง่ลบ ส่งผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ เช่น เป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแก ถูกเลือกปฏิบัติ และพบว่าเข้าถึงบริการด้านสุขภาพน้อยกว่ากลุ่มรักต่างเพศ ส่วนหนึ่งเกิดจากสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านสุขภาพผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีอยู่จำกัด
มีประเด็นละเอียดอ่อนเรื่องเพศ รวมถึงการขาดนโยบายทางสุขภาพที่ครอบคลุมความจำเป็นของผู้รับบริการ เช่น บุคคลข้ามเพศที่ต้องใช้ฮอร์โมน ค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการ ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกกังวล ขาดความมั่นใจ และไม่อยากเข้ารับบริการด้านสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ในบุคคลข้ามเพศที่ต้องการเปลี่ยนแปลงร่างกายให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ส่วนใหญ่หาซื้อฮอร์โมนกินเองตามท้องตลาด หรืออินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เกิดการใช้ฮอร์โมนเกินขนาด หรือผิดวิธี มีความเสี่ยงทางสุขภาพ อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อร่างกายและเป็นอันตรายถึงชีวิต ขณะนี้ สสส. ร่วมกับ GenV Clinic คลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี สานพลังภาคีเครือข่ายจัดตั้งศูนย์ให้บริการสุขภาพบุคคลข้ามเพศ ทั้ง 4 ภาค เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จึงเป็นที่มางานนี้เพื่อสื่อสารเรื่องราวชีวิตในแง่มุมต่างๆ
ของบุคคลข้ามเพศ และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นต้นทุนที่จะนำไปขับเคลื่อนการทำงานสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ ให้ได้รับสิทธิบริการทางสุขภาพและสังคมที่สอดคล้องความจำเป็นในการใช้ชีวิตต่อไป
อีกหนึ่งกลุ่มประชากรที่รอวันรัฐคุ้มครองอย่างเท่าเทียม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ครั้งเดียว เปลี่ยนชีวิต..’การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพ’ วันที่ควรเป็นสิทธิ ไม่ใช่แค่ความสวยงาม
- นักรณรงค์สุขภาวะของคนข้ามเพศ เผย ‘แปลงเพศไม่ใช่เพราะสวยงาม’ แต่เป็นเรื่องจิตใจ ขอ สปสช. ให้ความชัดเจน
- นายกสมาคมศัลยแพทย์ฯ เผย “แปลงเพศ” ครั้งเดียวเปลี่ยนทั้งชีวิต เปิดค่าใช้จ่ายผ่าตัด รพ.รัฐ ถูกกว่าเอกชน 3 เท่า
- LGBTQ+ เฮ! สปสช. เผยใช้บัตรทอง ‘ผ่าตัดแปลงเพศ’ ได้ เร่งออกข้อกำหนดให้ชัด