‘สเปซเอ็กซ์’ ก้าวไปอีกขั้น (ใหญ่) เตรียมปล่อยดาวเทียม 4,425 ดวง

REUTERS/Mario Anzuoni/File Photo

บิสเนสอินไซเดอร์ รายงานว่า “สเปซเอ็กซ์” บริษัทเอกชนด้านการบินและอวกาศสหรัฐอเมริกา ของ “เอลอน มัสก์” มหาเศรษฐีอเมริกัน เชื้อสายแคนาดา ก้าวหน้าไปอีกขั้น ด้วยการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการสื่อสารแห่งรัฐ (เอฟซีซี) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อขอปล่อยดาวเทียมมากถึง 4,425 ดวง

ทั้งนี้ ตามฐานข้อมูลของสหภาพนักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ปัจจุบันมีดาวเทียมที่ยังใช้งานได้ที่โคจรอยู่รอบโลกจำนวนทั้งสิ้น 1,419 ดวงด้วยกัน และยังมีดาวเทียมที่ไม่สามารถใช้งานและลอยละล่องอยู่บนอวกาศอยู่อีกราว 2,600 ดวง

ดังนั้น ดาวเทียมของสเปซเอ็กซ์เตรียมจะปล่อยออกไปนั้น ถือว่ามากกว่าดาวเทียมที่โคจรอยู่ในตอนนี้เสียด้วยซ้ำ

โดยดาวเทียมโคจรอยู่ในปัจจุบัน บางดวงเป็นดาวเทียมโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุด มีน้ำหนักหลายตัน ขนาดเท่าประมาณรถโดยสาร และโคจรอยู่เหนือพื้นผิวโลกราว 35,000 กิโลเมตร

Advertisement

แต่หลังจากการดูรายละเอียดที่สเปซเอ็กซ์ยื่นต่อเอฟซีซี พบว่าดาวเทียมของสเปซเอ็กซ์ไม่น่าจะเป็นดาวเทียมโทรคมนาคมธรรมดาทั่วไป เนื่องจากดาวเทียมของสเปซเอ็กซ์จะมีน้ำหนักราว 386 กิโลกรัม และมีขนาดแค่ประมาณ รถมินิคูเปอร์เท่านั้น โคจรเหนือพื้นผิวโลกราว 1,150-1,275 กิโลเมตร

ซึ่งทางสเปซเอ็กซ์ระบุว่า ดาวเทียมแต่ละดวงจะมีรัศมีกระจายสัญญาณได้กว้างราว 2,120 กิโลเมตร

“ระบบได้รับการออกแบบมาเพื่อกระจายสัญญาณบรอดแบนด์เป็นวงกว้างและบริการด้านคมนาคมสำหรับผู้อยู่อาศัย การพาณิชย์ สถาบัน ภาครัฐ และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ทั่วโลก” สเปซเอ็กซ์ระบุรายละเอียดไว้ในแบบยื่นเรื่อง

Advertisement

space X

โดยจะแบ่งการปล่อยดาวเทียมออกเป็น 2 ระยะด้วยกัน แรกเริ่มจะส่งดาวเทียม 1,600 ดวงไปที่ระดับวงโคจรแรกก่อน แล้วตามด้วยดาวเทียมอีก 2,825 ดวง ที่จะกระจายไปตามชั้นวงโคจรทั้งหมด 4 ระดับที่แตกต่างกันไป

“เมื่อปล่อยดาวเทียม 800 ดวงแรก สเปซเอ็กซ์จะสามารถให้บริการบรอดแบนด์ได้ครอบคลุมทั่วสหรัฐอเมริกา และในอีกหลายประเทศ” ข้อมูลของสเปซเอ็กซ์ระบุ และว่า “เมื่อการปล่อยดาวเทียมครบทั้งหมด ระบบจะสามารถให้บริการด้วยแบนด์วิดธ์ที่สูง (คือได้สูงไม่เกิน 1 กิกะบิตต่อวินาที ต่อคน), ความหน่วงของบริการบรอดแบนด์จะต่ำ”

สำหรับความเร็วในระดับ 1 กิกะบิตต่อวินาทีนั้น ถือว่าเป็นความเร็วที่สูงมาก เพราะจากตัวเลขของ สเตท ออฟ อินเตอร์เน็ต ระบุว่า ปัจจุบันความเร็วเฉลี่ยของอินเตอร์เน็ตที่ใช้กันอยู่ เมื่อช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา อยู่ที่ราว 5.1 เมกะบิตต่อวินาทีต่อคน ซึ่งจะน้อยกว่าเป้าหมายที่สเปซเอ็กซ์ตั้งเป้าไว้ถึงราว 200 เท่า

โดยรวมแล้ว เป้าหมายของการปล่อยดาวเทียมหลายพันดวงของสเปซเอ็กซ์ คือการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งก็จะเป็นการช่วยเหลือทำให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เพราะจากรายงานของคณะกรรมาธิการบรอดแบนด์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การยูเนสโก ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ปัจจุบันมีประชากรโลกอีกราว 4,200 ล้านคน ที่ยังไม่ได้มีการเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ต หรือคิดเป็นราว 57 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั่วโลก ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัยด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นเพราะการเชื่อมต่อที่จำเป็น “ไม่มีอยู่” หรือไม่ก็ไม่มีเงินสำหรับจ่ายค่าอินเตอร์เน็ต

การกระจายพื้นที่การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของสเปซเอ็กซ์ ก็จะมาช่วยทำให้ผู้คนบนโลกนี้สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางบิสเนสอินไซเดอร์ได้ติดต่อไปยังสเปซเอ็กซ์ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับโครงการใหญ่นี้ รวมไปถึงกรอบเวลาของการทำงาน และเวลาในการปล่อยดาวเทียม แต่ทางสเปซเอ็กซ์ไม่ได้ตอบคำถามใดๆ กลับมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image