ทำไม “ธุรกิจ” ต้อง “พัฒนาอย่างยั่งยืน”

“ความยั่งยืน” ดูเหมือนเป็นคำกล่าวหรูๆ ที่เมื่อถึงเวลาหนึ่งดูเหมือนจะคิด จะทำอะไรๆ ก็จะพากัน “ยั่งยืน” กันไปเสียทั้งหมด จนพากันงงๆ ตามกันไปว่าจริงๆ แล้ว “ยั่งยืน” นั้นหมายความว่าอย่างไรและหมายถึงอะไร แต่ทุกคนก็ต้องการ “ความยั่งยืน” ด้วยกันทั้งสิ้น

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรเราก็ไม่สามารถยั่งยืนได้ ตราบใดที่เรายังไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของความยั่งยืน

ในเชิงธุรกิจนั้น คุณวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ของ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บริษัทในภาคธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งประกาศตัวว่าดำเนินงานตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ซัสเตนเอเบิล ดีเวลลอปเมนท์-เอสดี) กรุณาแจกแจงเอาไว้ให้เห็นภาพชัดเจนว่า คือการเติบโตไปด้วยกันอย่างเป็นสุขทั้งตัวธุรกิจ, สังคม และสิ่งแวดล้อม

หากมัวมุ่งแต่ทำธุรกิจ หวังกำไรทำรายได้มากๆ เข้าไว้ เพียงอย่างเดียวโดยไม่เหลียวแลสังคม ย่อมไม่ใช่การทำธุรกิจที่พัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ในเวลาเดียวกันหากมัวแต่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ใส่ใจธุรกิจ นั่นคงไม่ใช่การทำธุรกิจแต่คงเป็นองค์กรการกุศลเสียมากกว่า

Advertisement

ถึงอย่างนั้น ถ้าหากขาดความใส่ใจต่อสังคม ไม่ดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ช้าไม่นาน สังคมก็จะเริ่มต่อต้านธุรกิจนั้นๆ สิ่งแวดล้อมที่เสียหายไปก็จะเริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจนั้นๆ เป็นอันยั่งยืนไปไม่ได้ในที่สุด

“ธุรกิจ” ที่ “พัฒนาอย่างยั่งยืน” จึงขึ้นอยู่กับการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างการทำรายได้ กับการดูแลใส่ใจในสังคมและสิ่งแวดล้อมพร้อมๆ กันไปในเวลาเดียว

ตอนพูดน่ะง่าย แต่ตอนทำให้ได้ความสมดุลระหว่าง 3 อย่างข้างต้นนี้ ยากเย็นไม่น้อย แต่คุณวิไลยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมไว้ว่า

Advertisement

อย่างเช่นถ้าเอไอเอสมุ่งแต่จะทำธุรกิจ ขยายเครือข่าย ตั้งเซลไซต์ (ที่ตั้งเสาสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่) โดยไม่สนใจสังคมในท้องถิ่นนั้นๆ ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายมาอย่างไร หากคนในท้องถิ่นไม่เห็นด้วย ไม่ต้องการ อีกไม่นานก็จะเกิดปัญหาตามมา ถ้าจะให้สังคมท้องถิ่นนั้นเห็นด้วย และต้องการเสาสัญญาณ ก็ต้องแสดงให้คนในท้องถิ่นได้ตระหนักว่าพวกเขาได้ประโยชน์จากการมีเสาสัญญาณอย่างไร

สิ่งที่เอไอเอสทำก็คือ “คิด” ผลงานที่ได้จากความคิดดังกล่าวก็คือ “แอพพลิเคชั่น อสม. ออนไลน์” สำหรับให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำท้องถิ่นได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการติดต่อสื่อสาร แจ้งข่าว และช่วยเหลือยามคนในท้องถิ่นเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเกิดโรคระบาดเป็นต้น

เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ ก็ไม่ต่อต้าน แต่กลับต้องการ บริษัทก็ได้รับความสะดวกสบายในการติดตั้งเซลไซต์ สังคมก็ได้ประโยชน์จากการสื่อสารสาธารณสุข นี่คือตัวอย่างของการทำธุรกิจแบบเอสดี ซึ่งคุณวิไลบอกว่า เอไอเอสดำเนินการตามแนวคิดนี้มา 5 ปีแล้ว

คุณวิไลย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ธุรกิจสามารถพัฒนาแบบยั่งยืนได้ก็คือ ทุกองคาพยพขององค์กรธุรกิจนั้นๆ จำเป็นต้องเข้าใจและคิดแบบยั่งยืนอยู่ตลอดเวลา

นั่นคือเหตุผลที่ทางเอไอเอสมุ่งเน้น “การเติบโตไปด้วยกัน” ใน 5 ส่วนพร้อมๆ กันทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตั้งแต่ พนักงาน, พันธมิตรธุรกิจ, ลูกค้า, สิ่งแวดล้อม เรื่อยไปจนถึงสังคมและชุมชน ถือเป็นการ “อยู่ร่วมอย่างยั่งยืน” ไปด้วยกัน

ตัวอย่างง่ายๆ เช่นการรับผู้พิการทางสายตาเข้ามาเป็นพนักงานของบริษัท นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือสังคมและชุมชนแล้ว บริษัทก็สามารถมีพนักงานคอลเซนเตอร์ที่มีคุณภาพ สำหรับบริการลูกค้าอย่างมีคุณภาพได้ด้วยเช่นกัน

หรือในกรณีของโครงการต้นแบบ “จากเมืองสู่ฟาร์ม เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกร” (ซีเอฟเอเอ) ที่เอไอเอสใช้เทคโนโลยีที่บริษัทมีความชำนาญ เข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่สะอาด ปลอดสารเคมี กับผู้บริโภคในตัวเมืองที่ต้องการพืชผักคุณภาพดี ราคาต่ำ เพราะซื้อโดยตรงจากผู้ผลิต เป็นต้น

คุณวิไลเชื่อว่าการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือเอสดี ซึ่งเดิมทีเป็น “ทางเลือก” ที่บริษัทไหนจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ในที่สุดก็จะกลายเป็นกรอบที่บังคับให้องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่จำเป็นต้องเดินไปในแนวทางนี้ เนื่องจากในเวลานี้ ไม่เพียงแต่ตลาดหลักทรัพย์ระดับนานาชาติ ใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องวัดสำคัญประการหนึ่งสำหรับบ่งชี้ “ความน่าลงทุน” ในตัวหุ้นหรือหลักทรัพย์ของบริษัทเท่านั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็เริ่มออกแบบสอบถามเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดแล้วด้วย

ในระดับโลกนั้น มาตรวัดที่สำคัญขององค์กรธุรกิจที่พัฒนาอย่างยั่งยืน คือ ดัชนีชี้วัดความยั่งยืนของดาวโจนส์ หรือดีเจเอสไอ ที่ใช้วิธีให้คะแนนเพื่อจัดกลุ่ม แล้วคัดเอาเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของบริษัททั่วโลกที่ใช้แนวคิดเอสดีดำเนินธุรกิจที่ดีที่สุดเพื่อให้เป็นบริษัทที่อยู่ในรายชื่อ “บริษัทในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ระดับโลก”

ในรายชื่อของดีเจเอสไอนั้นมีบริษัทไทยติดอยู่กับเขาด้วยเพียง 15 บริษัทครับ

เอไอเอสยังไม่ติดอยู่ในระดับโลก แต่เป็น 1 ในบริษัทเอสดีที่ดีที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศเกิดใหม่ แต่คุณวิไลตั้งเป้าหมายว่าจะนำพาเอไอเอสไปสู่ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ระดับโลกให้ได้ต่อไป

ถ้าทำได้กันหลายๆ บริษัท สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมและประเทศก็คงได้กำไรตามไปด้วยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image