พบ ‘พีระมิดซ้อน’ ใน ‘มหาวิหารมายา’ ที่เม็กซิโก

AFP

เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมสำรวจทางโบราณคดี นำโดย ศาสตราจารย์เรเน ชาเวซ เซกูโร นักวิชาการด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเพื่อการปกครองตนเองแห่งชาติเม็กซิโก เผยแพร่การตรวจสอบพบโครงสร้างซ้อนชั้นที่ 3 อยู่ภายในพีระมิดมหาวิหารแห่งเทพคูคุลคาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซากโบราณสถานจากอารยธรรมมายา ภายในพื้นที่ของกลุ่มโบราณสถานชนเผ่ามายาภายในเมืองโบราณที่เรียกกันว่า “นครชีเชน อิทซา” ตั้งอยู่ในรัฐยูคาตาน ทางตะวันออกของประเทศเม็กซิโก

มหาวิหารแห่งเทพคูคุลคาน (เทพเจ้าที่ชาวมายาบูชามีลักษณะเป็นงู มีแผงคอเป็นขนนก) ทำเป็นพีระมิดขั้นบันได สูงราว 30 เมตร ครอบครองพื้นที่บริเวณใจกลางและเป็นหัวใจสำคัญของนครชีเชน อิทซา ประเมินกันว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 9-12 ความสลับซับซ้อนของพีระมิดขั้นบันไดแห่งนี้ทำให้ยังคงมีการสำรวจเพื่อทำความเข้าใจเรื่อยมาจนถึงขณะนี้ นับตั้งแต่ถูกเอ่ยถึงเอาไว้ครั้งแรกในปี 1843 ในหนังสือของ จอห์น ลอยด์ สตีเฟน นักสำรวจชาวอเมริกัน

 

National Autonomous University of Mexico
National Autonomous University of Mexico

เมื่อปี 1935 มีการสำรวจพบโครงสร้างรูปพีระมิดชั้นที่ 2 ที่ซ่อนอยู่ภายในโครงสร้างวิหารพีระมิดส่วนนอก ส่วนโครงสร้างรูปพีระมิดชั้นที่ 3 ที่เพิ่งมีการค้นพบใหม่นี้ มีความสูงเพียง 10 เมตร ซ่อนอยู่ภายในโครงสร้างใหญ่ด้านนอกมิดชิด นักวิชาการใช้วิธีการตรวจสอบแบบโดยการผ่านกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เข้าไปในโครงสร้างวิหาร ในระดับที่ไม่สูงมากจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างใดๆ แล้วใช้คอมพิวเตอร์ตรวจจับความแตกต่างของกระแสไฟฟ้า นำความต่างที่ตรวจวัดได้มาสร้างเป็นภาพโครงสร้างภายในขึ้นมาในที่สุด

Advertisement

ศาสตราจารย์ ชาเวซ เซกูโร อธิบายว่าการค้นพบครั้งใหม่นี้ทำให้พีระมิดมหาวิหารคูคุลคาน มีลักษณะเหมือนตุ๊กตามาตรีออชกาของรัสเซีย ที่มีตุ๊กตาซ้อนอยู่ภายในตัวตุ๊กตาหลายๆ ชั้นนั่นเอง

ปริศนาที่น่าสนใจก็คือ ทำไมพีระมิดขั้นบันไดของชาวมายาถึงจำเป็นต้องมีพีระมิดขนาดย่อมซ่อนอยู่ภายใน มีข้อสันนิษฐานในเรื่องนี้ออกไปในหลายๆ ทาง ข้อสันนิษฐานหนึ่งก็คือเป็นรูปแบบในการก่อสร้างด้วยการทำชั้นในก่อนแล้วค่อยขยายโครงสร้างออกมาเป็นชั้นนอก แต่นักวิชาการทางโบราณคดีกลับเชื่อว่า เหตุผลน่าจะสืบเนื่องจากการก่อสร้างซ้อนทับกันหลายชั้นในระยะเวลาต่างกันมากกว่า

ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมต้องสร้างทับซ้อนกันนั้น นักโบราณคดีเชื่อว่าอาจเป็นเพราะโครงสร้างขนาดเล็กเดิมทรุดโทรม จึงมีการซ่อมแซมหรือสร้างขึ้นใหม่ทับซ้อนในที่เดิมในรูปเดิม หรือไม่ก็เป็นการสร้างพีระมิดใหม่ครอบพีระมิดเดิมเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนผู้กุมอำนาจทางการเมืองใหม่นั่นเอง

Advertisement

นักโบราณคดีเพิ่งตรวจสอบพบเมื่อปีที่ผ่านมานี่เองว่า มหาวิหารคูคุลคาน สร้างอยู่เหนือจุดของ “เกโนเต” หรือ “ลำน้ำใต้ดิน” ซึ่งพบทั่วไปในบริเวณยูคาตานและเป็นแหล่งเคารพบูชาของชาวมายา เนื่องจากเป็นแหล่งที่มาของความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวมายาเลือกทำเลที่ตั้งในการก่อสร้างวิหารของเทพเจ้าสำหรับสักการะอีกด้วย

ทุกวันนี้นครโบราณชีเชน อิทซา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ทะนุบำรุงของรัฐบาลเม็กซิโก

ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมปีละไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image