‘ประเวศ’แนะพส.สร้างนวัตกรรมสังคม ใช้ความคิดถึง’ในหลวง ร.9’สร้างสันติสุข

ด้วยยุคโลกาภิวัตน์ทำให้ปัญหาสังคมยิ่งซับซ้อนยากต่อการแก้ไข จึงเป็นโอกาสเหลาความคิดและปรับยุทธศาสตร์ทำงานแก้ไขปัญหาสังคม ในโครงการพัฒนาทักษะการสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อพัฒนางานสวัสดิการสังคม ISMART จัดโดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวบรรยายเรื่อง “การเสริมพลังประชารัฐเพื่อสังคม” ซึ่งมีผู้บริหาร พส. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้ารับฟัง ว่า นวัตกรรมทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญกว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพราะสิ่งสูงสุดของความเป็นมนุษย์คือ การได้อยู่ในสังคมสันติสุข ฉะนั้น พส.ซึ่งทำให้คนเข้าถึงสิ่งสูงสุดของความเป็นมนุษย์ หากทำตรงนี้ได้ดีจะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ สร้างความสุขให้คนไทยทุกคน

“เพราะมนุษย์ไม่สามารถจัดการการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โลกจึงเกิดปัญหาต่างๆ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตอาหาร โลกร้อน ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในส่วนความเหลื่อมล้ำยังเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพ ปัญหาสังคม และความรุนแรง ถือเป็นปัญหาใหญ่ของโลก จะเห็นว่าประเทศสหรัฐอเมริกาแม้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นประชาธิปไตย และมีเทคโนโลยีก้าวหน้า แต่กลับเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำมากที่สุด สหรัฐเมื่อถูกพายุเฮอริเคนถล่ม บางครั้งเกิดการแย่งชิงอาหารจนต้องใช้ทหารเข้าควบคุมความโกลาหล หรือกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ ก็เกิดการปฏิวัติคนจนที่กว่า 3 ทศวรรษไม่ได้รับการพัฒนา จึงเลือกนายโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะต้องการเปลี่ยนแปลง แต่กับประเทศญี่ปุ่นที่มีเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด หลายปีก่อนที่เกิดสึนามิถล่มโรงไฟฟ้า คนญี่ปุ่นก็ยังสงบในการยืนต่อแถวรับการช่วยเหลือ”

นพ.ประเวศกล่าวอีกว่า แต่ลำพัง พส.ไม่อาจแบกรับปัญหาได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีนวัตกรรมทางความคิดและวิธีการทำงานที่สำคัญ เช่น ปรับแนวคิดการทำงานให้ทันการเปลี่ยนแปลงเสมอ, สร้างพลังจิตสำนึกให้คนทำงาน ที่ไม่ช่วยแค่การสงเคราะห์ แต่เป็นช่วยอย่างเรียนรู้หรือสังเคราะห์, การให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมกับอนาคตประเทศไทย, ประสานและสร้างสังคมเครือข่าย

Advertisement

“ที่สำคัญคือ วันนี้คนรุ่นใหม่มีเยอะและมีการศึกษา ที่ผ่านมาเขาอาจไม่รู้ว่าอะไรเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ไม่มีช่องทางให้เขา ก็อยากให้ใช้โอกาสที่คนไทยกำลังคิดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จากที่ผ่านมาเคยคิดแตกต่างบ้าง ทะเลาะบ้าง แต่ไม่เคยคิดตรงกันได้มากขนาดนี้ ใช้โอกาสที่เขาอยากทำอะไรดีๆ รวมตัวกันทำอะไรดีๆ ประสานและจัดการให้เขาได้ทำ ให้เกิดน้ำใจอาสาสมัครเต็มแผ่นดิน เพื่อให้เกิดพลังสร้างสันติสุข ทั้งนี้ เพราะเงิน ความรู้โดยไม่เรียนรู้ และอำนาจ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมอันซับซ้อนได้ แต่ต้องการกระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการ” นพ.ประเวศกล่าว และทิ้งท้ายว่า

“สมองคนเป็นโครงสร้างที่วิจิตรที่สุดในจักรวาล เรามีเซลล์สมองแสนล้านตัว แต่ละตัวเชื่อมโยงตัวอื่นอีกประมาณ 7 หมื่นตัว หากเราเอากลุ่มที่ทำงานเรื่องต่างๆ มาเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย เรียนรู้ร่วมกันเหมือนกลไกสมอง เชื่อว่าสังคมไทยจะอุดมปัญญา มีคุณภาพ และน่าอยู่ที่สุด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image