หนึ่งเดียวคนไทย ‘อ.บันชา’ ศิลปินสีน้ำระดับโลก เล่าเบื้องหลังสุดหิน ‘มนุษย์ที่บ้าคลั่งเขียนรูป’

หนึ่งเดียวคนไทย ‘อ.บันชา’ ศิลปินสีน้ำระดับโลก เล่าเบื้องหลังสุดหิน ‘มนุษย์ที่บ้าคลั่งเขียนรูป’

เป็นที่ภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยมี “ศิลปินสีน้ำระดับโลก” ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ  “อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช” ประธานเครือข่ายสีน้ำนานาชาติแห่งประเทศไทย และศิลปินสีน้ำระดับ World Master คนไทยคนแรกหนึ่งเดียวในระดับโลกของ IWS (International Watercolor Society)

อาจารย์บันชาได้รับการยกย่องจากการประกวดวาดภาพ การจัดแสดงงาน และเวิร์กช็อปที่มีขึ้นทั่วโลก ผลงานของเขาได้รับการสะสมจากคอลเล็กเตอร์ทั้งไทยและต่างประเทศ ภาพวาดจิตรกรรมสีน้ำในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้ชม ผลงานของอาจารย์บันชาจึงอยู่ในใจของผู้รักงานศิลปะทั่วโลก

นับได้ว่า ผลงานสีน้ำของเขาเดินทางมาแล้วในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ฟาบริอาโน อควาเรลโล ประเทศอิตาลี พิพิธภัณฑ์สีน้ำ ประเทศอิตาลี พิพิธภัณฑ์สีน้ำ ประเทศเซอร์เบีย พิพิธภัณฑ์สีน้ำแห่งชาติ ประเทศเม็กซิโก พิพิธภัณฑ์ในประเทศจีน พิพิธภัณฑ์ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เป็นต้น

Advertisement

ปัจจุบันอาจารย์บันชา ดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายสีน้ำโลก (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่เผยแพร่และประขาสัมพันธ์งานจิตรกรรมสีน้ำ ผ่าน IWS Global ที่มีเครือข่ายใน 90 ประเทศทั่วโลก มีสมาชิกกว่า 15 ล้านคน รวมทั้งส่งเสริมความรู้ด้านการวาดสีน้ำตั้งแต่ในระดับพื้นฐานให้แก่เยาวชน เปิดโอกาส และหาพื้นที่จัดแสดงงานจิตรกรรมสีน้ำให้แก่ศิลปิน และสำหรับในระดับมาสเตอร์มุ่งเน้นเรื่องการเผยแพร่ชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ตลอดจนส่งเสริมการซื้อขายผลงานจิตรกรรมสีน้ำให้มูลค่าสูงเทียบเท่างานจิตรกรรมสีน้ำมัน หรือจิตรกรรมประเภทอื่นๆ

การเดินทางด้านศิลปะครั้งล่าสุดของอาจารย์บันชาได้มาบรรจบที่ “เมโทร อาร์ต” (Metro Art) อาร์ต สเปซแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพในสถานีรถไฟฟ้า MRT พหลโยธิน

Advertisement

อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช อายุ 52 ปี ย้อนเล่ากว่าจะมาเป็นศิลปินสีน้ำว่า เริ่มจากเด็กๆ เกิด และโตที่ จ.อุดรธานี เป็นเด็กบ้านนอกที่ชอบวาดรูป ซึ่งครอบครัวได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี เมื่อโตขึ้นก็เข้าร่วมแข่งขันวาดภาพสีน้ำในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ซึ่งกวาดรางวัลต่างๆ มากมาย เมื่อเข้าเรียนในวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ก็ได้รับการสนับสนุนจากครูบาอาจารย์และเพื่อนๆ โดยเฉพาะศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู ศิลปินผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการเขียนภาพเหมือนบุคคลอันดับต้นๆ ของเมืองไทย

“เราเป็นเด็กบ้านนอกที่ชอบวาดรูป ในระหว่างที่พ่อกับแม่กำลังดำนาเกี่ยวข้าวเราก็วาดรูป ตอน 10 ขวบ ก็ไปหาซื้อเทปราคาถูกของบีโธเฟนมาฟัง ชอบอะไรที่สวยงาม อีกทั้งพ่อแม่ก็สนับสนุน ทั้งที่คนปกติจะไม่สนับสนุนให้ลูกไปเรียนวาดรูป เพราะไม่รู้ว่าจะทำมาหากินอะไร แต่พ่อแม่ส่งเสริมให้ไปประกวด และคนวาดม้าให้ดูครั้งแรกคือพ่อ พ่อดำนาเสร็จก็มาล้างมือและวาดม้าใส่กระดาษเอ 4 ให้ดู และเมื่อมาเรียนก็วาดรูปอย่างเดียว ซึ่งก็พาโรงเรียนกวาดรางวัลมาเยอะมาก จนโรงเรียนประจักษ์ศิลปาคาร ตั้งแผนกศิลป์ก็เพราะผม”

“จากนั้นก็มาเรียนอาชีวะที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ก็เป็นตัวแทนแข่งจนได้แชมป์ภาคและแชมป์ประเทศไทย พอจบอาชีวะก็มาเข้าเพาะช่าง ทำให้ได้เจอครูเก่งอย่าง อ.ปัญญา เพ็ชรชู ซึ่งท่านเป็นเซียนสีน้ำ เป็นศิษย์ก้นกุฏิ มากินมานอนอยู่เพาะช่าง ท่านก็สนับสนุน ซื้อเครื่องไม้เครื่องมือมาให้”

หลังจากเรียนจบอาจารย์บันชาก็เข้ารับราชการเป็นครูสอนสีน้ำ โดยทำไปพร้อมๆ กับเปิดธุรกิจกรอบรูป ที่มีจำหน่ายสีน้ำในร้านด้วย ก่อนตัดสินใจลาออกจากชีวิตราชการ มุ่งหน้าสู่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เดินทางสู่ “ศิลปินสีน้ำ” ที่เขาฝันไกลว่าจะไปให้ถึงระดับโลก

“เอกลักษณ์ศิลปะในสไตล์ของผม คือ นีโอคลาสสิค หรือ คลาสสิคใหม่ เป็นลักษณะงานอิมเพรสชันนิสต์ ที่งานจะเหมือนจริง มีความเป็นธรรมชาตินิยม เขียนด้วยความสนุก เขียนด้วยความสุข มีเสียงคนเดิน เสียงน้ำ เป็นการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งอิมเพรสชันนิสต์เป็นรากเหง้าของศิลปะสมัยใหม่”

ผลงาน อ.บัญชา ที่จัดแสดง ที่ IWS Gallery พหลโยธิน

กว่าจะขึ้นแท่นศิลปินสีน้ำระดับโลกไม่ใช่เรื่องง่าย ปัจจุบันทั่วโลกมีศิลปินสีน้ำระดับ World Master ประมาณ 40-50 คน โดยสมาคมสีน้ำโลก IWS (International Watercolor Society) จัดลำดับศิลปินเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับ เมเจอร์ (Major) หรือ สมัครเล่น 2.ระดับศิลปิน (Artist) คือ ศิลปินทั่วไป และ 3.ระดับมาสเตอร์ (Master) ปรมาจารย์

“เวิลด์มาสเตอร์ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ ยากที่สุด คือ การทำแรงกิ้ง (ranking) ระดับโลก เขาวัดกันที่แนวคิด ไม่ได้วัดกันที่ทักษะอย่างเดียว โดยเมื่อปี 2016-2017 ผมยื่นทำแรงกิ้งเป็นอาร์ตติส พอยื่นไปทางประธานสีน้ำโลกบอกว่า งานของผมต้องเป็นระดับมาสเตอร์แล้ว เราก็เลยได้เป็นเวิลด์มาสเตอร์” 

ทั้งนี้ การยื่นเป็นเวิลด์มาสเตอร์นั้นไม่ใช่พิจารณาผลงานศิลปะเท่านั้น แต่ยังพิจารณาการทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง พัฒนาการ และแนวคิดด้วย

“การที่เราไปทำแรงกิ้ง เราต้องยื่นทั้งผลงาน แนวคิด และแสดงออกให้เค้าเห็นว่าเราทำได้ ต้องต่อสู้ ต้องวางแผน และทำทุกอย่าง การเป็นเวิลด์มาสเตอร์มันลึกซึ้งมาก ซึ่งเราได้ยื่นผลงานให้พิจารณาประมาณ 10 ชิ้น และนำเสนอบทความแนวคิดเกี่ยวกับการกระเจิงของแสง และพหุวิชาที่อยู่ในงานศิลปะ”

อาจารย์บันชา อธิบายบทความเรื่องการกระเจิงของแสงและพหุวิชาที่อยู่ในงานศิลปะคร่าวๆ ว่า

“ปกติเราเรียนวาดรูป เราก็จะบอกว่า วาดต้นไม้ อะไรอยู่ไกลๆ ก็ทำเบลอๆ หน่อย อะไรอยู่ใกล้ๆ ก็ทำชัดขึ้นมาหน่อย แต่ผมไปค้นพบว่า สีที่เดินทาง สีทุกสีในโลก เดินทางด้วยความเร็วไม่เท่ากัน สีส้มเดินทาง 700 – 800 นาโนเมตรต่อวินาที สีฟ้าเดินทางช้าที่สุด 300 กว่านาโนเมตรต่อวินาที ก็ทำให้มีเหตุผลว่าจะเอาอะไรไว้ตรงไหน มันถึงจะสร้างระยะและมิติในรูปได้สมจริงสมจังที่สุด มันเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความเชื่อแล้ว แล้วเราไปค้นพบเรื่องเรโซแนนซ์และการสั่นสะเทือน วัตถุอะไรที่อยู่ใกล้เรามันจะสั่นสะเทือนน้อย จะมีขอบคมมากกว่าขอบนวล คือ Sharp edges กับ Soft edge พอไกลไปจะเริ่มสั่นสะเทือนมาก ก็จะมี Soft edge เข้ามาปนเยอะ ภูเขาไกลๆ ถึงเป็นสีฟ้าๆ เทาๆ และเป็นขอบพร่าๆ เบลอๆ หายไปในท้องฟ้า”

“ซึ่งมันเป็นวิทยาศาสตร์หมดเลย ผมพยายามต่อจิ๊กซอแต่ละตัวมาผสมกันทั้งความรู้ทางด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ วิศวกรรม สถาปัตย์ เปอร์สเปคทีฟ ตรีโกณมิติ นอกจากนี้ เราค้นพบว่า มันเกี่ยวกับจักรวาลด้วย คือโลกเราหมุนไปตำแหน่งไหน รูปที่เราเขียนต้องสัมพันธ์กันด้วย เราหลอกคนไม่ได้ เราต้องเขียนให้ถูกต้องตามจักรวาลวิทยา เช่น ลองติจูด ละติจูด ศิลปะไม่ใช่เรื่องแพชชั่นอย่างเดียวแล้ว แต่เดิมเขียนโดยใช้แพชชั่นอย่างเดียว แต่พอเราศึกษาไปเรื่อยๆ มันมีเรื่องฟิสิกส์ ควอนตัม และอีกหลายอย่างเข้ามาเกี่ยว ซึ่งนี่คือตัวอย่างเท่านั้น เพราะที่ยื่นไปละเอียดกว่านี้ เพราะผมเขียนจำนวน 500 กว่าหน้า”

“ฉะนั้น เมื่อเราเป็นมาสเตอร์จริงๆ เราแทบจะต้องรู้ทุกเรื่องเลย เช่น ฤดูหนาว เวลาเราเขียน คนในรูปต้องใส่เสื้อโอเวอร์โค้ท หนาวอุณหภูมิเท่าไหร่ เราก็ต้องเช็กวันที่เราวาดด้วย ว่าอุณหภูมิกี่องศา ถ้าร้อน คนก็ต้องใส่เสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้น ใส่รองเท้าสบาย มันเกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์ด้วย เพราะงั้นในรูปเขียนรูปหนึ่งมันบอกอะไรได้หลายอย่าง นี่คือ ศิลปะ”

ผลงาน อ.บัญชา ที่จัดแสดง ที่ IWS Gallery พหลโยธิน

ตลอดชีวิตการทำงานศิลปะของอาจารย์บันชาสร้างสรรค์ผลงานมาแล้วกว่า 10,000 ชิ้น ปัจจุบันมีคอลเลคชั่นเก็บสะสมประมาณ 2,000 ชิ้น เรียกได้ว่า เป็นศิลปินที่เขียนรูปเยอะที่สุดคนหนึ่งเลยทีเดียว

“ผมเป็นมนุษย์ที่บ้าคลั่งที่สุดในการเขียนรูป ซึ่งสถิตินี้ยังไม่มีใครลบได้ อย่างสมัยเรียนที่เพาะช่าง อ.ปัญญาสอน 14  ครั้งต่อเทอม คือ 14 สัปดาห์ ทุกคนต้องส่งสัปดาห์ละ 1 ชิ้น คือ  14 ชิ้น แต่บันชาจะส่งประมาณ 400-500 ชิ้นทุกเทอม แปลว่าผมต้องเขียนรูปวันละ 3-4 ชิ้นทุกวัน นั่นจึงเป็นที่มาของความพิสดาร คือเป็นคนบ้าคลั่ง เขียนไม่หลับไม่นอน นอนวันละ 3 ชั่วโมง แล้วก็ตื่นมาเขียน คือเหมือนเรานั่งฝึกฝนตัวเองเพื่อจะเป็นเซียน แม้ทุกวันนี้ก็ยังเขียนอยู่”

“ผมไม่ใช่คนที่เขียนรูปมีชิ้นมาสเตอร์พีช แต่ทุกชิ้นคือมาสเตอร์พีช เป็นชีวิตผมทั้งหมด ซึ่งผลงาน 2,000 ชิ้นในยุคหลัง ก่อนจะเป็นมาสเตอร์ในช่วง 15 ปีมานี้ คือผลงานที่เป็นชีวิตทั้งหมด ในนั้นมีเสียงหัวเราะ มีหยดน้ำตา ความทุกข์ ความเศร้า ความโศก มีความดีใจ เสียใจ แม่ป่วย แม่ตาย พ่อป่วย พ่อตาย อยู่ในนี้หมด ทุกรูปบอกทั้งองค์ความรู้ที่มี บอกชีวิต บอกทุกอย่าง เช่นคอลเล็คชั่นม้า บางช่วงที่มีความสุข ม้าก็จะมีแววตาที่สวยงาม แต่บางช่วงที่เราเหนื่อยมากๆ มันก็จะตาเศร้าๆ หน่อย มันแสดงออกในรูปเขียน”

สำหรับอนาคตอาจารย์บันชาวางแผนไว้ว่าจะกลับไปใช้ชีวิตในยุโรป กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพราะตัวคนเดียวไม่มีครอบครัว หากกระนั้นก็มีปณิธานที่อยากจะถ่ายทอดความรู้ความสามารถเกี่ยวกับศิลปะที่มีทั้งหมดให้กับเด็กและเยาวชน ครูอาจารย์ และคนทั่วไปที่สนใจ

“ผมอยากรีบทำ เพราะศิลปินใช้งานได้แค่ 45-65 ปีเท่านั้น ถ้าเราไม่รีบทำช่วงนี้ ต่อไปสมองจะเริ่มทำงานช้าลง ประสิทธิภาพในการนำเสนอจะไม่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด จึงมีความตั้งใจอยากจะสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะที่ไปค้นพบมาจากฝรั่ง ที่ฝรั่งไม่เคยบอกให้กับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น 1.เด็กนักเรียน 2.สื่อมวลชน 3.ผู้สนับสนุนหรือคอลเล็คเตอร์ และภาครัฐ”

ด้วยความตั้งใจที่อยากส่งต่อแรงบันดาลใจให้เด็กเยาวชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจ อาจารย์บันชาจึงร่วมมือกับ “เมโทร อาร์ต” (Metro Art) นำผลงานของตนเองมาจัดแสดงในศูนย์ศิลปะแนวคลาสสิค พร้อมทั้งรวบรวมผลงานของศิลปินดังระดับประเทศ และระดับโลกที่หาชมได้ยากมาจัดแสดง โดยสับเปลี่ยนไปทุก 3 เดือน

“ภาพที่นำมาจัดแสดงมีทั้งของเอ็ดวาร์ด ซาซูน ศิลปินระดับโอลด์มาสเตอร์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับระดับโลก ภาพของศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู สุดยอดครูศิลปะแห่งโรงเรียนเพาะช่าง ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นครูแห่งครูของวงการศิลปะไทย รวมทั้ง สุชาติ วงษ์ทอง ศิลปินสีน้ำที่ได้รับการยอมรับจากไทยและทั่วโลกว่าเป็นผู้บุกเบิกวงการสีน้ำของไทยให้เจริญทัดเทียมกับต่างประเทศ ซึ่งทุกภาพหาชมได้ยาก แต่เราตั้งใจนำมาจัดแสดงให้ชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนได้มาสัมผัสกับงานศิลปินระดับโลกใน Metro Art ที่เดินทางสะดวกและอยู่ใจกลางเมืองในสถานีรถไฟฟ้า MRT พหลโยธิน” อาจารย์บันชาทิ้งท้าย

Metro Art : The Inspiring District เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมและร่วมกิจกรรมต่างๆได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00 – 21.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Metro Mall Bangkok

IWS Learning Centre ที่ เมโทร อาร์ต พหลโยธิน
บรรยากาศห้อง Learning Centre ที่ เมโทร อาร์ต พหลโยธิน
บรรยากาศห้อง Learning Centre ที่ เมโทร อาร์ต พหลโยธิน

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image