ลวนลาม=ผิดกฎหมาย แจ้งตร.ได้ ‘ห้ามแต่งโป๊’ เล่นสงกรานต์ แก้ผู้หญิงไม่ถูกคุกคามได้จริงหรือ?

ลวนลาม=ผิดกฎหมาย แจ้งตร.ได้ ‘ห้ามแต่งโป๊’ เล่นสงกรานต์ แก้ผู้หญิงไม่ถูกคุกคามได้จริงหรือ?

จากกรณี ‘กรุงเทพมหานคร’ จัดงานเทศกาลสงกรานต์ กทม. 2566 ‘สืบสานวิถีไทย ร่วมใจสู่สากล’ โดยออก ‘กฎ 3 ป’ ห้ามแป้ง-ปืน-โป๊ โดยกฎระบุว่า ‘ห้ามจำหน่ายและดื่มแอลกอฮอล์ การงดเล่นแป้ง และปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ตลอดจนห้ามแต่งตัวโป๊วาบหวิวโดยเด็ดขาด แต่รณรงค์ให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพแทน หากฝ่าฝืนจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด’

จากกฎดังกล่าว ‘2 ป’ แรก ทุกฝ่าย ‘ไม่ติดใจ’ แต่ที่หลายฝ่ายตั้งคำถาม คือ การห้ามแต่งตัวโป๊!

ซึ่งเป็นการตอกย้ำวาทกรรมที่ ‘โยนบาป’ ให้เหยื่อที่ถูกลวนลามทางเพศ และเหมือน ‘ปกป้อง’ คนทำผิดให้ลอยนวล

  • ควรเลิกวาทกรรม ‘ห้ามแต่งโป๊’

ต่อประเด็นดังกล่าว นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ผิดหวังมากคือการที่ กทม.ได้เน้นย้ำว่าห้ามแต่งตัวโป๊ หรือวาบหวิว เล่นสงกรานต์ เพราะเสี่ยงที่จะถูกคุกคามทางเพศ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่การแต่งตัวโป๊ หรือวาบหวิวเลย แต่สาเหตุที่แท้จริงของการคุกคามทางเพศ มาจากอำนาจที่เหนือกว่าของผู้กระทำ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์จะเห็นผู้กระทำมักจับกลุ่มกันทำพฤติกรรมลวนลามทางเพศ และส่วนใหญ่มีอาการมึนเมา เช่น การแตะเนื้อต้องตัว ใช้แป้งเป็นข้ออ้างเข้าไปสัมผัสอวัยวะต่างๆ ของผู้ถูกกระทำไม่ว่าจะแต่งตัวอย่างไร อายุเท่าไหร่ ก็ถูกคุกคามทางเพศได้ จุดนี้เราขอยืนยัน

ADVERTISMENT

‘มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และภาคเครือข่ายได้ร่วมกับ กทม. ในการรณรงค์ ป้องกันอย่างเข้มข้น ไม่ให้มีปัญหาการคุกคามทางเพศในพื้นที่เล่นน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์มากว่า 10 ปี และทุกๆ ครั้ง ข้าราชการประจำของ กทม. ตลอดจนผู้ว่าฯ ยังเสนอวาทกรรมซ้ำๆ คือห้ามแต่งตัวโป๊ แต่ปัญหาก็ยังมีให้เห็นตลอด แล้วทางมูลนิธิฯก็เคยท้วงติงไปหลายครั้ง ปีล่าสุดนี้กลับยังใช้วาทกรรมเดิมๆ เสมือนเป็นการโยนความผิดใส่ผู้ถูกกระทำ แล้วปล่อยคนผิดลอยนวล ผมคิดว่าควรเลิกวาทกรรมห้ามแต่งตัวโป๊เสียที’ นายจะเด็จกล่าว

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
  • จี้ ‘ตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุ’ 

ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าวต่อว่า สิ่งที่ กทม.ควรทำเพื่อให้เทศกาลสงกรานต์เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และผู้ร่วมงานมีความปลอดภัย คือออกกฎห้ามการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ ทุกเพศสภาพ รณรงค์ให้ช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ มากกว่าการที่จะมาออกกฎควบคุมคนที่ถูกกระทำโดยการห้ามแต่งตัวโป๊ และ กทม.ควรประสานหน่วยงานรัฐ เช่น ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้คอยเฝ้าระวัง และลงโทษผู้ที่กระทำการละเมิด จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุไม่พึงประสงค์ในพื้นที่เล่นน้ำ หรือจัดกิจกรรม ตลอดจนการอำนวยความสะดวกหากผู้เสียหายต้องการใช้สิทธิในทางกฎหมาย

  • เส้นแบ่ง ‘ความโป๊’ อยู่ตรงไหน? 

ด้าน ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เผยหลังจากทราบถึง ‘กฎ 3 ป’ โดยเฉพาะกฎห้ามแต่งโป๊ของ กทม.ว่า รู้สึกผิดคาด เมื่อพุ่งเป้ามาที่ผู้หญิง คำถามที่สังคมสงสัย คือ ‘มาตรฐาน’ ของการระบุว่า ‘โป๊-ไม่โป๊’ เส้นแบ่งอยู่ตรงไหน

‘พอบอกว่า ห้ามแต่งโป๊ มันเจาะจงมาที่ผู้หญิง ทั้งที่ผู้ชายใส่กางเกงขาสั้น กางเกงบ๊อกเซอร์ตัวเดียว ไม่ใส่เสื้อเดินไปเดินมา ก็ไม่มีใครประณามว่าโป๊ แต่ผู้หญิงทั้งที่ปิดบนปิดล่าง นุ่งกางเกงขาสั้น ใส่เสื้อกล้าม เสื้อเกาะอก เห็นหัวไหล่ เห็นเนินอก ก็บอกว่าโป๊’

‘คำถามก็คือว่า คุณเอามาตรฐานตรงนี้มาจากไหน เพราะการตัดสินว่า โป๊-ไม่โป๊ 1.เป็นเรื่องของรสนิยม 2.เป็นเรื่องของความคุ้นชินในสังคม เช่น ถ้าเราไปอยู่ในสังคมตะวันตก เวลาหน้าร้อน เขาก็นุ่งกางเกงขาสั้น ใส่เสื้อเกาะอกกันเป็นปกติ เวลาไปชายหาดหรือว่ายน้ำ ก็ใส่บิกินี ทูพีซ กันเป็นปกติ’

‘แต่พอเป็นสังคมไทย ซึ่งจริงๆ อากาศเมืองไทยก็ร้อนมาก ถ้าจะใส่กางเกงขาสั้นและเสื้อกล้าม หรือเสื้อเกาะอก มันสมเหตุสมผลในแง่สภาพอากาศ ยิ่งถ้าจะบอกว่า จะไปเล่นน้ำสงกรานต์ มันก็เป็นเรื่องปกติ เพราะคุณจะไปเปียก คุณจะใส่เสื้อแจ๊กเก็ต หรือกางเกงขายาวทำไม อันนี้เป็นเรื่องความคุ้นชิน’

‘แต่พอไปเจอกับคนที่ไม่คุ้นชิน หรืออาจจะคุ้นชิน รู้ว่าสังคมอื่นแต่งกันได้ แต่ว่ามีเรื่องของมาตรฐานศีลธรรมส่วนตัวเข้ามาตัดสินว่า ฉันว่าถ้ากางเกงหรือกระโปรงเลยเข่าขึ้นไปสัก 5 นิ้ว 10 นิ้ว มันถือว่าโป๊ หรือว่าเสื้อที่ไม่มีแขน แล้วมันเห็นหัวไหล่กลมๆ ของผู้หญิง ถือว่าโป๊ หรือเห็นเนินหน้าอกถือว่าโป๊ อันนี้เป็นการใช้มาตรฐานส่วนตัวมาตัดสินคนอื่น’

เมื่อเส้นแบ่งความโป๊-ไม่โป๊ ไม่มีอะไรชัดเจน เป็นความคิด มุมมอง บรรทัดฐานส่วนตัวของแต่ละคน

‘การที่เราบอกว่า เราไม่ชอบและคิดว่าการนุ่งสั้นใส่เสื้อกล้ามมันโป๊ เราไม่แต่ง ไม่มีใครว่า แต่ว่าเราอย่าเอามาตรฐานของตัวเราเอง ไปตัดสินคนอื่นในสังคม เพราะเรื่องการแต่งกายเป็นฐานของสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิที่จะตัดสินว่า ฉันจะจัดการกับร่างกายของฉันอย่างไร’

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
  • มองให้ชัด ‘ปัญหาอยู่ที่วิธีคิด’ ของคนกระทำ

ดร.วราภรณ์ระบุว่า ประเทศเราไม่ได้มีกฎหมายห้ามเรื่องการแต่งกายว่า ผู้หญิงห้ามใส่กางเกงเหนือเข่าขึ้นไปเกิน 5-10 นิ้ว เมื่อมันไม่มี แล้วคุณเอาอำนาจอะไรมาสั่งว่าห้ามแต่งโป๊

‘การพูดในลักษณะนี้ เป็นการพูดที่ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพ ทั้งที่เป็นพื้นฐานของบุคคลจะจัดการกับเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง ตราบใดที่เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายในลักษณะที่เข้าข่ายอนาจาร เขาจะแต่งตัวยังไง ก็ควรจะแต่งได้’

กระนั้น ก็จะมีประเด็นว่า ที่บอกแบบนี้เพราะห่วง กลัวจะไม่ปลอดภัย และอยากให้คนที่ออกไปเล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย ให้ผู้หญิงปลอดภัย

‘การคุกคาม หรือลวนลามทางเพศก็ต้องมองให้ชัดว่า ปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่ไหน ปัญหามันอยู่ที่การแต่งตัวของผู้หญิงเป็นต้นเหตุ หรือว่าต้นเหตุอยู่ที่วิธีคิดของผู้ที่จะคุกคาม หรือจ้องจะคุกคามลวนลามผู้อื่นที่มีวิธีคิดไม่เคารพเนื้อตัวร่างกายของคนอื่น แล้วคิดจะไปเกะกะระรานกับร่างกายของคนอื่นยังไงก็ได้’

‘ปัญหาอยู่ที่เป็นวิธีคิดของคนที่จ้องจะลวนลามคนอื่น แล้วก็หาโอกาสช่วงสงกรานต์’

  • ผู้กระทำย่ามใจ ทำแล้วไม่มีใครเอาผิด

ดร.วราภรณ์กล่าวอีกว่า การมีมาตรการแบบนี้ออกมา ถือเป็นการสนับสนุนให้คนที่จ้องจะลวนลาม เพราะทำแล้วไม่มีใครเอาผิด โดยแบบแรก คนก็อาจจะแบบว่าหยวนๆ กันไปช่วงสงกรานต์ มันก็ต้องโดนบ้างแหละ ส่วนแบบที่ 2 ก็กล่าวโทษผู้หญิง แต่งตัวโป๊ ก็เลยโดน โดยที่ไม่จัดการอะไรกับคนที่จ้องจะคุกคามลวนลามคนอื่นเลย

‘เมื่อคุณไม่จัดการอะไร ก็เหมือนการสนับสนุนให้เขาทำได้ เพราะเขาเห็นตัวอย่างแล้ว รอบๆ ตัว ทำแล้วไม่เกิดอะไรขึ้น ปีที่แล้วก็ทำ ก็ไม่เห็นมีใครมาว่าอะไร ไม่มีใครทำอะไรได้ ไม่มีใครเอาเรื่องเอาราวอะไร ปีนี้ก็ทำอีก ทั้งที่จริงๆ ผิดกฎหมายด้วยซ้ำ’

  • นัยยะลึกห้ามแต่งโป๊ = เราไม่ดูแลคุณนะ

‘เปรียบเทียบ สมมุติ กทม.บอกว่าเวลากลางคืนดึกๆ จะมีคนลักวิ่งชิงปล้น เราห่วงความปลอดภัยของประชาชน เพราะฉะนั้นใครที่บ้านอยู่ในซอยลึกเกิน 100 เมตร และจะออกมาซื้อมาม่าที่ร้านสะดวกซื้อหลัง 4 ทุ่ม ห้ามออก เพราะเดี๋ยวจะมีโอกาสเสี่ยงถูกลักวิ่งชิงปล้น คิดดูว่าถ้า กทม.ออกประกาศแบบนี้ คนจะคิดยังไง คนจะลุกฮือขึ้นมาแน่นอน ว่า กทม.คุณเป็นอะไร คุณมองไม่ออกเลยเหรอปัญหาอยู่ตรงไหน ถ้าคิดว่ามีความเสี่ยงลักวิ่งชิงปล้น คุณไปป้องกันตรงนั้น ไม่ใช่คุณมาห้ามคนออกจากบ้าน

‘อันนี้ กรณีเดียวกันเลย ไปมองว่าแต่งตัวโป๊คนจะมาลวนลาม เพราะฉะนั้นห้ามแต่งตัวโป๊ แต่คุณไม่ได้แก้ปัญหา มองข้ามต้นตอปัญหาไปเลย การที่คุณมองข้ามต้นตอของปัญหา คุณไม่ไปจัดการตัวที่ทำให้เกิดปัญหาที่มันไปคุกคามลวนลามคนอื่น เท่ากับคุณกำลังยอมรับให้เหตุการณ์การคุกคามลวนลามเกิดขึ้นได้เป็นปกติ และก็เป็นหน้าที่ของคนที่มีความเสี่ยง จะต้องป้องกันดูแลตัวเอง เพราะเราจะไม่ได้ดูแลคุณ นี่มันคือความคิดพื้นฐานที่อยู่ใต้การออกคำประกาศที่ห้ามแต่งตัวโป๊’ ดร.วราภรณ์กล่าว

  • จัดการผู้กระทำผิดด้วยกฎหมาย 

ดร.วราภรณ์บอกอีกว่า ทุกปีๆ ที่ผ่านมาผู้หญิงจะถูกห้ามแต่งตัวโป๊ ห้ามนู่น ห้ามนี่เสมอเวลาจะออกไปเล่นสงกรานต์ และก็รู้ว่าสังคมเรายังมีปัญหาของคนที่จะล่วงละเมิด ซึ่งผู้หญิงก็ย่อมระวังตัวอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะต้องใส่เสื้อแขนยาวติดกระดุมปลายแขน และติดกระดุมคอ นุ่งกางเกงยีนส์ขายาว ใส่ถุงเท้า รองเท้าหุ้มส้น ซึ่งนี่ไม่ใช่วิธีป้องกัน แต่อย่างไรก็ตาม แม้ผู้หญิงจะดูแลตัวเองได้ถึงระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถจะไปป้องกันคนที่จะมาลวนลามได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าเราจะแต่งตัวยังไงก็ตาม มันก็มีโอกาสจะเกิด ถ้ามีคนจ้องจะทำ

‘เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องเข้ามาช่วยคือว่า คนที่มีอำนาจ และมีหน้าที่ โดยเฉพาะอำนาจในทางกฎหมายที่จะดูแลความปลอดภัย มีหน้าที่ทางการที่จะต้องดูแลความปลอดภัยของประชาชน เพราะเรารู้แล้วว่าสงกรานต์คนจะออกมาเยอะ มันจะมีการเบียดเสียด และก็มีคนที่จ้องคิดจะลวนลามคนอื่น มันจะกระจายตัวอยู่ในพื้นที่แบบนี้ ถ้ารู้แล้ว วิธีการคือป้องกัน อันนี้ก็ต้องฝากไปถึง กทม.ว่าคุณเห็นต้นตอของปัญหาชัดแล้วว่าปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศ มันเกิดจากคนที่จ้องจะทำ และทำแล้ว ไม่เคยมีใครเอาเรื่องเอาราว ถ้าคุณจะแก้ คุณจะป้องกัน คุณต้องเอาใหม่’

1.ประกาศไปเลยว่า กทม.ไม่ยอมรับการคุกคามทางเพศที่จะเกิดขึ้น ฉะนั้น เราจะจับตาดู เราจะมีมาตรการในการป้องกัน และจัดการอย่างจริงจังถ้าเกิดเหตุ

2.เรื่องห้ามแต่งตัวโป๊ ต้องเลิกพูดไปโดยสิ้นเชิง จากนั้นในวันที่จะมีงานต้องมีเจ้าหน้าที่ ทั้งเจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่ตำรวจอะไรต่างๆ ตระเวนดูแล ซึ่งการตระเวนดูแล ก็ไม่ใช่จะคอยแต่ดูว่าใครกินเหล้า ใครใช้ปืนแรงดันสูง ซึ่งมันจะไปทำให้คนอื่นบาดเจ็บ อันนั้นก็สมเหตุสมผล แต่ต้องดูด้วยว่ามันจะเกิดเหตุการลวนลามการคุกคาม ต้องคอยสอดส่องเรื่องนี้ด้วยว่าตรงไหนมันมีเหตุ มีข้อสงสัย มีท่าที ก็ต้องมีลักษณะเข้าไปปราม เป็นต้น และก็ต้องประกาศให้ชัดเจนว่า ถ้ามีเหตุอย่างนี้เกิดขึ้น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เดินตระเวนตรวจตราความเรียบร้อยอยู่ในพื้นที่ได้ หรือไม่ก็มีจุดแจ้งเหตุเลย หรือมีสายด่วนเลย หรือจะใช้ทราฟฟี่ฟองดูว์ก็ได้

‘อันนี้ คือมาตรการที่หน่วยงานใน กทม.ควรจะทำ อีกทั้งเรายังมีกฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดทางเพศ ก็อยากให้ตำรวจหรือผู้ใช้กฎหมายนำกฎหมายเหล่านี้มาใช้อย่างจริงจัง’ ดร.วราภรณ์กล่าว

ลวนลาม=ผิดกฎหมาย 

สาวๆ รู้ไว้ เพื่อป้องกันตัวเอง ประเทศไทยมีกฎหมายเอาผิดผู้กระทำทางเพศ ตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ

(มาตรา 397) โดยถ้าไปเล่นน้ำสงกรานต์แล้วถูกทำให้รำคาญหรือถูกก่อกวน ถ้าถูกกระทำในที่สาธารณสถาน หรือต่อหน้าธารกำนัล หรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(มาตรา 278) แต่ถ้าโดน กอด จูบ ลูบคลำ จับแก้ม จับหน้าอก จับเป้า โดยเราไม่ยินยอม ถือว่าเข้าข่ายอนาจารก็สามารถแจ้งตำรวจเอาผิดได้ตามมาตรา 278 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ต้องร้องทุกข์ หรือดำเนินคดีภายใน 3 เดือน นับจากวันเกิดเหตุ ไม่อย่างนั้นจะเสียสิทธิทางกฎหมาย