นักเรียนทุนอานันทมหิดล สืบสานพระราชปณิธาน ร.9

พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชปกเกล้าชาวไทยทุกคน รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับพระราชทานพระเมตตาให้ได้รับ “ทุนหลวง” ศึกษาต่อในระดับสูงได้เท่าที่กำลังสติปัญญาจะไปถึง ดังเช่น สมาชิกชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ที่ทุนการศึกษาจากพระองค์ได้เข้ามาเปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล

มิ่งขวัญ ทองพฤกษา อายุ 35 ปี พนักงานบริษัท หลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับพระราชทานทุนการศึกษาปี พ.ศ.2545 ไปศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ ระดับปริญญาโทและเอก ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจและถือเป็นที่สุดในชีวิตที่ได้รับโอกาสอันสำคัญสุดในชีวิตเช่นนี้ และอยากจะมอบโอกาสนี้แก่ผู้อื่นต่อไปด้วยการทำหน้าที่เป็นอาจารย์ให้ความรู้กับประชาชน การที่ได้มากราบสักการะพระบรมศพถือเป็นความตื้นตันอย่างมาก

“หากจะถามถึงความรักและประทับใจที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ต้องนับย้อนไปถึงสมัยที่ได้รับโอกาสไปศึกษาต่อที่คอร์แนล ช่วงที่เรียนต่อปริญญาเอกนั้นรู้สึกว่ายาก ท้อแท้ แต่ละวิชาเรียนได้เอฟ และถอนแทบทุกวิชาในแต่ละเทอม จนรู้สึกท้อใจและคิดว่าไม่ไหวแล้ว เดินไปลาออก แต่มีอาจารย์ท่านหนึ่งชาวอินโดนีเซียกล่าวกับเราว่า หากเราจะลาออกย่อมทำได้ แต่เราจะเป็นนักเรียนทุนคิงคนเดียวที่ลาออกกลางทาง คำนั้นทำให้เราได้คิดและกลับไปตั้งใจเรียนต่อ จากเอฟได้พัฒนาไปเป็นเกรดซี บี และเอในทรานสคริปต์ในที่สุด จากพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็พยายามคุยกับต่างชาติ พยายามมากที่สุด จนจบภายใน 5 ปี และรู้ว่าเรื่องการศึกษานี้เป็นสิ่งสำคัญที่อยากจะส่งต่อโอกาสให้กับนิสิต และคิดหาอาชีพให้กับพวกเขาต่อไป” มิ่งขวัญกล่าว

มิ่งขวัญ
มิ่งขวัญ

ขณะที่ สมหญิง พัฒน์ธีรพงศ์ อายุ 42 ปี อาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกแพทยศาสตร์ปี 2543 ไปศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโอกาสให้ตัวเองไม่ใช่เพียงได้เรียนจบในระดับสูงเท่านั้น แต่ยังได้นำความรู้จากต่างประเทศมาต่อยอดสอนให้กับนิสิตนักศึกษาในประเทศไทย ทุนมูลนิธิอานันทมหิดลจึงถือได้ว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติอย่างมาก

Advertisement
สมหญิง (ซ้าย)
สมหญิง (ซ้าย)

รศ.ดร.พูนพิภพ เกษมทรัพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักเรียนทุนอานันทมหิดล ปี 2527 กล่าวว่า ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด ขอจดจำไปตลอดชั่วชีวิต ที่ครั้งหนึ่งได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนต่อจนสามารถไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่เปลี่ยนแปลงชีวิตไปตลอดกาล เพราะหากไม่ได้รับทุนอานันทมหิดล คงไม่มีวันนี้ หลังใช้เวลาศึกษาต่อ 5 ปี เมื่อจบการศึกษาจากสหรัฐ ก็กลับมารับราชการ เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วงนั้นถือเป็นเวลาที่วิเศษที่สุดอีกครั้งในชีวิต เพราะทุกปีนักเรียนทุนอานันทมหิดล จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ ยังจดจำบรรยากาศและความรู้สึกได้ดี พระองค์จะรับสั่งกับพวกเราอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองนาน 2-3 ชั่วโมง สิ่งที่พระองค์รับสั่งและประทับใจมากที่สุด คือ “พวกเราทุกคนเป็นเด็กของในหลวง”

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยรับสั่งกับพวกเราด้วยว่าการที่พระราชทานทุนส่งเสียให้ไปศึกษาจบต่างประเทศนั้น สิ่งที่พระองค์ตั้งพระทัยไว้แต่ต้นคืออยากจะตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมา แล้วให้ทุกคนที่เรียนจบได้นำความรู้ที่เรียนมากลับมาสอนต่อ แต่เนื่องจากพระราชทรัพย์ไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถทำได้ การที่ได้กลับมารับใช้ชาติในสาขาอาชีพต่างๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้มีความหลากหลาย พระองค์ไม่เคยบอกว่าคนที่เรียนจบทุนอานันทมหิดลจะต้องกลับมาเมืองไทย เรื่องนี้อยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคน แต่ยืนยันว่าจากการที่ได้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิด ต่อเนื่องมารวม 5 ครั้ง และได้รับฟังพระราชดำรัสของพระองค์ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของปากท้อง ทรงอยากให้พวกเราได้นำความรู้มาช่วยพัฒนาประเทศชาติ เพื่อให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สิ่งที่ทรงรับสั่งกับพวกเราทั้งหมด ผมตั้งมั่นไว้ว่าจะนำมาปรับใช้และยึดมั่นตามที่ได้ทรงสอนสั่งตลอดไป ด้วยการพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้า ตามหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์” รศ.ดร.พูนพิภพกล่าว

จากพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสร้างคนๆ หนึ่งด้วยการศึกษา บัดนี้ เขาเหล่านี้ได้กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและช่วยเหลือคนไทยอีกหลายต่อหลายคน

Advertisement
S__69353518
รศ.ดร.พูนพิภพ เกษมทรัพย์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image