ย้อนอ่าน ‘หมอโรคไต’ ห่วงคนไทยซดโซเดียมเกินมาตรฐาน อายุน้อยป่วยโรคไตเยอะขึ้น ชี้ยิ่งกินแต่เด็ก โตไปเสี่ยง ‘ลิ้นติดเค็ม’ น้ำจิ้มข้าวมันไก่-พริกน้ำปลา เมนูรวยโซเดียม
น้ำปลา กำลังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม หลังเครื่องปรุงชูรสนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการวัดคุณค่า ความสุขอย่างพอเพียง กับเมนู ข้าวเปล่าคลุกน้ำผัดผักบุ้ง และไข่ต้มครึ่งซีกเหยาะน้ำปลา นอกจากนี้ ยังมีบทที่กล่าวถึงการกินข้าวมันไก่แต่น้ำจิ้มเผ็ดไป จึงไปขอน้ำปลาจากร้านอื่น เพื่อกินกับข้าวมันไก่ เรียกว่า “น้ำปลา” นั้นถูกกล่าวถึงหลายครั้งในหนังสือแบบเรียน “ภาษาไทยพาที” ป.5
ซึ่งผู้คนจำนวนหนึ่งยังไงกล่าวถึงผลกระทบจากการกินเค็มด้วย ผู้สื่อข่าวจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “การกินเค็ม” ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้
เมื่อต้นปี 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เปิดตัวโครงการลดเค็ม ลดโรค รณรงค์ให้คนไทยเห็นภัยร้ายจากการกินโซเดียมเกินมาตรฐาน
โดย น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า น่าตกใจที่พบ คนไทยส่วนใหญ่ กินโซเดียมเฉลี่ยอยู่ที่ 3,636 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งมากกว่าเกือบ 2 เท่า จากเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ คือ ไม่ควรกินโซเดียมเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม
ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยเสี่ยงป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบตัน ความดันโลหิตสูง ไตวาย รวมถึงโรคเรื้อรังชนิดอื่น สร้างความสูญเสียทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ขณะที่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า โซเดียมและการกินเค็มเป็นภัยเงียบ อาจไม่เห็นผลเสียทันที ยกเว้นคนที่ไวต่อการกินเค็ม เช่น ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีโรคประจำตัว จะมีอาการตาบวม ขาบวม ความดันโลหิตขึ้น ปวดหัว หิวน้ำบ่อย
ติดรสชาติไม่รู้ตัว ยิ่งกินมากแต่เด็ก โตไปติดเค็ม
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัจจุบันพบคนไข้ป่วยเป็นโรคไตหรือไตวายอายุน้อยลงอยู่ที่ 35-40 ปี จากเดิมที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50-60 ปี มีผลจากวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่เปลี่ยนไป นิยมอาหารสำเร็จรูป บุฟเฟต์ ปิ้งย่าง หมูกระทะ อาหารญี่ปุ่น-เกาหลี ที่มีรสเค็มจัดจากการหมักดองเกลือ หรือใส่เครื่องปรุงจำนวนมาก เมื่อกินสะสมบ่อยๆ จึงติดรสเค็มแบบไม่รู้ตัว
อีกปัจจัยคือ การกินเค็มตั้งแต่เด็ก เช่น ขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง-ถ้วย อาหารพวกนี้มีโซเดียมสูง แม้กระทั่งอาหารที่ผู้ปกครองปรุงเอง แต่ใช้ความเค็มสูง เมื่อเด็กที่น้ำหนักตัวน้อยกิน ก็ทำให้บริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ลิ้นจะติดเค็ม มีผลทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เร็วขึ้น
รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวอีกว่า อาหารที่กินแต่ละวัน ผู้บริโภคมักคิดว่าอาหารที่เค็มจะมีโซเดียมสูง เพราะปรุงรสด้วย เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันหอย น้ำพริก ปลาร้า และซอสหรือผงปรุงรสอื่นๆ แต่ทางการแพทย์พบว่ามีโซเดียมที่ไม่เค็ม คือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG) หรือผงชูรส แต่มีผลต่อสุขภาพไม่ต่างกัน
เปรียบเทียบง่ายๆ การกินก๋วยเตี๋ยว น้ำซุปที่ร้านค้าปรุงจะใส่ซุปก้อนสำเร็จรูป ผงชูรส ซีอิ๊ว ซอสปรุง ในน้ำจะมีโซเดียม 60-70% ขณะที่เส้น ผัก เนื้อสัตว์ มีโซเดียมไม่ถึง 30-40% แม้ความอร่อยจะอยู่ในน้ำซุป แต่เป็นความอร่อยที่แฝงไปด้วยภัยเงียบ
หมอโรคไตแนะนำว่า หากหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูงไม่ได้ ต้องเลือกกินเฉพาะเนื้อสัตว์ ผัก ลดการซดน้ำให้น้อยที่สุด ไม่ได้ห้ามซด แต่กินในปริมาณที่พอดี ไม่ว่าจะเป็นซุปน้ำใส น้ำข้น หรือแกงชนิดอื่นๆ เพราะปัจจุบันพบว่าร้านค้ามากกว่า 95% ใช้ผงปรุงรสสำเร็จรูปมากกว่าเคี่ยวน้ำซุปด้วยผักหรือเนื้อสัตว์ เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่า
พริกน้ำปลา ภัยร้ายใกล้ตัว
นางอรพินท์ บรรจง จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยผลวิจัยตำรับอาหารท้องถิ่นพบว่า เรื่องใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม หลังพบคนไทยชอบความเค็มด้วยพริกน้ำปลาระหว่างรับประทานอาหาร เป็นตัวการเพิ่มโซเดียม เสี่ยงเส้นเลือดแตก อัมพาต อัมพฤกษ์
“โซเดียมที่ใกล้ตัวมากที่สุดและคนมักมองข้าม คือ พริกน้ำปลา ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนไทย เพราะจะเห็นว่าคนที่จะรับประทานอาหารมักจะคลุกเคล้าข้าวกับพริกน้ำปลา และเติมพริกน้ำปลาในอาหาร นอกจากนี้ ก่อนที่จะกินก๋วยเตี๋ยวก็มักจะเติมน้ำปลา น้ำตาล น้ำส้มสายชู ลงในไปชามก๋วยเตี๋ยว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ชิมก่อนการปรุงเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่า ขอให้ได้ใส่ให้ได้ปรุง รสชาติเป็นอย่างไรค่อยแก้ทีหลัง” นักวิจัยกล่าว
และว่า การรับประทานอาหารรสเค็มมากๆ และบ่อยๆ จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองแตก โรคหัวใจ และไตวาย รวมทั้งโรคกระดูกพรุน ซึ่งผู้ที่เป็นโรคจะต้องระมัดระวังอาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในโรคที่เป็นอยู่
เพราะโรคดังกล่าวนี้เหมือนกับภัยเงียบที่ไม่บ่งบอกอาหารให้ผู้ป่วยได้รู้ คนที่เป็นก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นอะไร แต่เมื่อเป็นความดันสูงอยู่เรื่อยๆ เมื่ออายุสูงขึ้น ความยืดหยุ่นเส้นเลือดน้อยลง เส้นเลือดแข็งก็จะเปราะบาง เมื่อมีความดันสูงเรื่อยๆ ไม่สามารถคุมได้แล้วเกิดเส้นเลือดแตกตามจุดสำคัญต่างๆ แล้ว ก็จะทำให้เป็นอัมพาต อำพฤกษ์ กลายเป็นคนพิการ และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยังไม่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวนี้ หรือคนวัยหนุ่มที่ยังแข็งแรงก็ต้องระมัดระวังและควบคุมการรับประทานอาหารรสเค็มเช่นกัน เพื่อเป็นการป้องกันและไม่ให้เกิดการสะสมโซเดียมไว้ในร่างกายจนมากเกินไป และเลือกใช้เกลือหรือน้ำปลาโลว์โซเดียมที่มีจำหน่ายตามร้านค้าต่างๆ มาปรุงรสเค็มให้อาหารแทนน้ำปลาทั่วๆ ไป
ซึ่งน้ำปลาโลว์โซเดียวนี้จะเป็นโซเดียมที่ได้จากพืชจากผลไม้ และมีปริมาณน้อยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด หรือจะงดคลุกข้าวกับพริกน้ำปลา แล้วใช้ความเค็มจากอาหารที่รับประทานควบคู่กันก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่จะลดโซเดียมได้ง่ายที่สุดอีกวิธีหนึ่ง
เปิดชัดๆ เมนูฮิตรวยโซเดียม
ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลราชวิถี อ้าง เครือข่ายลดบริโภคเค็ม เผยแพร่ความรู้ในการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกต้อง โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณโซเดียมในเมนูต่างๆ ดังนี้
แหล่งอาหารที่พบเกลือ (โซเดียม) ได้แก่
1.อาหารธรรมชาติ ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ ผลไม้ทุกชนิด ผัก ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง
2.เครื่องปรุงรส ได้แก่ เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ น้ำมันหอย กะปิ ผงปรุงรสหรือซุปก้อน ผงชูรส
3.อาหารแปรรูป ได้แก่ ไส้กรอก หมูยอ ลูกชิ้น ปลาเค็ม อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คนไทยกินอาหารชนิดนี้บ่อยซึ่งมีโซเดียมสูงมาก
อาหารอะไรที่มีโซเดียมสูง
ตัวอย่างเมนูอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น น้ำปลาหวาน 1 ถ้วยใส่กุ้งแห้ง มีโซเดียม 5,900 มิลลิกรัม ปลาเค็ม 100 กรัม มีโซเดียม 5,327 มิลลิกรัม กุ้งแห้งแบบมีเปลือก 100 กรัม มีโซเดียม 3,240 มิลลิกรัม ต้มย้ำกุ้งน้ำข้น 1 ชาม มีโซเดียม 1,700 มิลลิกรัม ข้าวผัดกะเพราไข่ดาว 1 จาน มีโซเดียม 1,200 มิลลิกรัม ส้มตำปูไทย 1 จาน มีโซเดียม 1,200 มิลลิกรัม
ข้าวมันไก่ 1 จาน มีโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม ผัดไทย 1 จาน มีโซเดียม 1,100 มิลลิกรัม ผักกาดดอง 1 กระป๋อง มีโซเดียม 1,720 มิลลิกรัม มะละกอเค็มอบแห้ง มีโซเดียม 4,460 มิลลิกรัม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีโซเดียม 1,100-1,800 มิลลิกรัม/ซอง ไข่เค็ม มีโซเดียม 480 มิลลิกรัม/ฟอง ไส้กรอกหมู 1 ไม้ มีโซเดียม 350 มิลลิกรัม
เครื่องปรุงรส เทียบปริมาณ 1 ช้อนชา เกลือ 2,000 มิลลิกรัม ผงปรุงรส 500 มิลลิกรัม ผงชูรส 490 มิลลิกรัม ซีอิ๊วขาว 460 มิลลิกรัม น้ำมันหอย 450 มิลลิกรัม น้ำปลา 400 มิลลิกรัม ซอสปรุงรส 400 มิลลิกรัม ซอสพริก 220 มิลลิกรัม ซอสมะเขือเทศ 140 มิลลิกรัม
แล้วเราจะลดโซเดียมกันได้อย่างไร
1.หากปรุงอาหารเอง ควรลดปริมาณเครื่องปรุงรสในอาหาร เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว น้ำมันหอย ผงชูรส และควรตวงก่อนปรุงรสทุกครั้ง
2.หากกินข้าวนอกบ้าน ควรหลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม หลีกเลี่ยงการเติมพริกน้ำปลา ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ และไม่ควรซดน้ำแกงหรือน้ำซุปจนหมด เพราะโซเดียมจากเครื่องปรุงรสต่างๆ ส่วนใหญ่จะละลายอยู่ในน้ำแกงหรือน้ำซุป
3.หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด อาหารหมักดอง แช่อิ่ม อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว หรือเลือกกินอาหารธรรมชาติ แต่ถ้าจำเป็นต้องกิน ควรอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง แล้วเลือกอาหารที่มีโซเดียมน้อยที่สุด
4.หลีกเลี่ยงขนมหวานที่มีโซเดียม เช่น กล้วยบวชชี และอาหารที่มีโซเดียมแฝง ขนมอบทุกชนิดที่ใส่ผงฟู เช่น ขนมปัง เค้ก คุกกี้ โดนัท พาย ซาลาเปา รวมทั้งสารกันบูดในอาหารสำเร็จรูปต่างๆ
5.การใช้ส่วนผสมสมุนไพรและเครื่องเทศ สามารถช่วยแต่งกลิ่นและรสชาติของอาหารให้มีความกลมกล่อม รวมทั้งการใช้รสชาติอื่นมาทดแทน เช่น รสเปรี้ยวจากมะนาว รสเผ็ดจากพริก จะช่วยดึงรสเค็มขึ้นมาพร้อมกับยังช่วยให้เจริญอาหารอีกด้วย
“กินโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้มากกว่าที่คิดไม่ว่าจะเป็น ลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ 10 เปอร์เซ็นต์ ลดปัญหาหลอดเลือดอุดตันลง 13 เปอร์เซ็นต์ ยืดอายุไตและไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคร้ายอื่นๆ”
ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วหันมาลดการบริโภคเค็ม ไม่ปรุงรสตามใจชอบ เลือกรับประทานอาหารสดหรือผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด เพียงเท่านี้เราก็จะมีสุขภาพที่ดีห่างไกลโรคได้แล้ว
ที่มา : สสส. / เครือข่ายลดบริโภคเค็ม / โครงการลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) ในประเทศไทย / โรงพยาบาลราชวิถี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ข่าวดี พบแร่ ‘ลิเธียม-โซเดียม’ ในไทย ลุ้นฮับฐานผลิตแบตอีวีของภูมิภาค
- แพทย์ชวนสังเกต 5 อาการเสี่ยงโรคไต เตือนสูงวัย ระวังการกินยา วัย 35 เริ่มตรวจได้แล้ว
- กินแซ่บ กินจุกจิกต้องฟัง! เวทีแรกจัดหนัก หมอชี้พฤติกรรมเสี่ยง เลี่ยงได้เลี่ยงก่อน ‘ไตพัง’
- ประกันสังคมพร้อมดูแลผู้ประกันตน ม.33-ม.39 ป่วยโรคไตทุกระยะ รับบริการใน รพ.ตามสิทธิฟรี!