ทำไม ‘หาง’ มนุษย์ ‘หาย’ ถึง 2 ครั้ง 2 คราว

ภาพเขียนเพื่อเปรียบเทียบลักษณะของปลาในปัจจุบัน (ปลาปักเป้า-ตัวบน) กับปลา เอเธเรทมอน เมื่อ 350 ล้านปีก่อน ที่มีหางเนื้อด้านบนสังเกตเห็นได้ชัดเจน (ภาพ- John Megahan)

หากขั้นตอนวิวัฒนาการของมนุษย์ดำเนินไปตามที่ รองศาสตราจารย์ ลอเรน ซัลแลน แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา บรรยายไว้ในงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการ เคอร์เรนท์ ไบโอโลจี เมื่อเร็วๆ นี้ ก็แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษที่เป็นต้นวิวัฒนาการของมนุษย์ทำให้ “หาง” หายไปถึง 2 ครั้ง 2 คราว

ครั้งแรกหายไปเมื่อสิ่งมีชีวิตที่เป็นจุดเริ่มต้นวิวัฒนาการ เริ่มคืบคลานขึ้นจากน้ำมาใช้ชีวิตอยู่บนบก และอีกครั้งหายไปเมื่อสิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นวิวัฒนาการสู่มนุษย์ตัดสินใจยืดตัวขึ้นตรง และหันมาใช้ชีวิตบนพื้นดินด้วยการยืนและเดินบนสองขา

ตัวอ่อนมนุษย์อายุ 5 สัปดาห์ มีหางชัดเจน (ภาพ-Ed Uthman, Wikimedia Commons)
ตัวอ่อนมนุษย์อายุ 5 สัปดาห์ มีหางชัดเจน (ภาพ-Ed Uthman, Wikimedia Commons)

รองศาสตราจารย์ซัลแลนบอกว่าต้นธารวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่มีกระดูกสันหลังล้วนมีหางตั้งแต่ยุคบรรพกาล เหมือนอย่างที่ยังแสดงให้เห็นในช่วงที่เป็นตัวอ่อน ซึ่งรวมถึงตัวอ่อนของมนุษย์อายุราว 5 สัปดาห์ ก็มีส่วนที่เป็น “หาง” ที่เป็นหางกระดูกและเนื้ออยู่อย่างชัดเจน การทำให้หางหายไป โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาจึงเป็นเรื่องยากอย่างมาก

มีทางเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ นั่นคือแทนที่จะกำจัดหางให้หายไปทั้งหมด ก็ทำเพียงแค่ยับยั้งการเจริญเติบโตของมันไว้เท่านั้น ซึ่งรองศาสตราจารย์ซัลแลนชี้ว่า ทั้งคนและปลาใช้วิธีเดียวกันนี้กับวิวัฒนาการของหางของตนเอง โดยทิ้งร่องรอยเอาไว้ เป็นหางที่ฝังอยู่ในตัว อย่างเช่นกระดูกก้นกบของคนเรา

Advertisement

ซัลแลนได้ข้อสรุปดังกล่าวจากการวิเคราะห์ตัวอ่อนที่พบในฟอสซิลของปลา “เอเธเรทมอน” ปลาโบราณที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 350 ล้านปีก่อน และเชื่อกันว่าเป็นต้นธารวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนบกทั้งหลายในปัจจุบัน แล้วพบว่า ตัวอ่อนของปลาดังกล่าวมีหาง 2 แบบอยู่คู่กัน แต่แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง หางแบบแรกที่อยู่ด้านบนเป็นหางที่มีเนื้อ (เฟลชชี เทล) หางอีกแบบเป็นหางแบบครีบ (เทล ฟิน) ที่ยืดหยุ่นได้ดีกว่า

เมื่อศึกษาลักษณะของหางปลาที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเป็นการเปรียบเทียบ ซัลแลนพบว่า หางของเอเธเรทมอนจะแยกกันเจริญเติบโต และในที่สุดก็แยกวิวัฒนาการออกจากกันเป็นสองทาง

ทางหนึ่งก็คือพวกที่ยังคงวิวัฒนาการไปเป็น “ปลา” ที่ใช้ชีวิตอยู่ในน้ำ ก็จะรักษาสภาพของ “ครีบหาง” เอาไว้และยับยั้งการเจริญเติบโตของ “หางเนื้อ” จนกุดหายไปในที่สุด ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการว่ายน้ำด้วยครีบหางซึ่งจะช่วยให้ปลาสามารถเคลื่อนไหวในรูปแบบและทิศทางต่างๆ ได้ละเอียดมากขึ้น ไม่มีหางเนื้อ (ซึ่งเดิมใช้เพื่อการว่ายเร็วและแรง) มาเกะกะรบกวนอีกต่อไป

Advertisement

อีกพวกหนึ่ง วิวัฒนาการไปเป็นสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก และในที่สุดก็กลายเป็นสัตว์บกไปในเวลาต่อ กลุ่มนี้เลือกที่จะยับยั้งการเติบโตของหางครีบ แต่วิวัฒนาการหางเนื้อเพียงอย่างเดียวจนนานเข้าก็กลายเป็นหางที่เราคุ้นเคยกันในสุนัข, แมว, วัว และสัตว์อื่นๆ อีกหลายต่อหลายชนิด ที่ใช้ประโยชน์จากหางเนื้อในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ใช้ในการสื่อสารในกลุ่มเดียวกัน, ใช้เพื่อปัดแมลง เป็นอาทิ

ระหว่างกระบวนการวิวัฒนาการดังกล่าวสัตว์บางชนิด อาทิ ลิงใหญ่ หรือลิงไม่มีหาง (เอป) รวมไปถึงต้นบรรพบุรุษของมนุษย์ ตัดสินใจยับยั้งการเติบโตของหางเนื้อ เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวในสภาพยืนตัวตรง 2 ขาได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลงเหลือเพียงร่องรอยสั้นๆ อยู่ภายในร่างกายด้านหลังท่อนลางแบบเดียวกับในปลาในปัจจุบัน

ซัลแลนระบุว่า การยับยั้งการเจริญเติบโตนั้นทำได้โดยการยุติการส่งสัญญาณให้โมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับส่วนดังกล่าวยุติการเติบโต ไม่เช่นนั้นส่วนหางของคนเราก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ เหมือนการเติบโตของแขนหรือขานั่นเอง

ทั้งตัวอ่อนมนุษย์และตัวอ่อนของปลาจึงจำเป็นต้องมีกลไกในการยับยั้งการเจิญเติบโตเพื่อใช้ในการควบคุมรูปแบบของหางเหมือนๆ กันอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image