เครื่องร่อน “เพอร์แลน2” เล็งทุบสถิติโลกบินสูง!

ภาพ-Airbus

โครงการ “เพอร์แลน” ของ “แอร์บัส” บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ระดับโลกเตรียมนำเครื่องร่อนรุ่นใหม่ขึ้นปฏิบัติการทดลองการบินครั้งสำคัญ ตั้งเป้าทำระดับความสูงที่จะเป็นสถิติโลกใหม่ในระยะ 27 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน เพื่อให้เครื่องร่อน “เพอร์แลน2” ทำสถิติเป็นยานพาหนะมีปีกลำแรกที่สามารถทำระดับความสูงดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะที่มีเครื่องยนต์หรือไม่ก็ตาม

ที่ระดับความสูงดังกล่าว เครื่องร่อนที่ไม่มีเครื่องยนต์ของแอร์บัสจะอยู่ในระดับเกือบกึ่งกลางของ “สตราโทสเฟียร์” ชั้นบรรยากาศชั้นที่สอง (อยู่ในระดับสูงตั้งแต่ 15-50 กิโลเมตร) และมีอากาศอยู่เบาบางมาก

อลัน แม็คอาร์ทอร์ ประธานและซีอีโอของแอร์บัว ระบุว่า การบินทดสอบเพื่อทำสถิติดังกล่าวกำหนดไว้ในราวเดือนมิถุนายนที่ฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งในอาร์เจนตินา โดยเครื่องร่อนจะถูกเครื่องบินลากจูงเป็นระยะทางราว 2,000-3,000 เมตร จากนั้นก็จะอาศัยกระแสลมแปรปรวนเหนือชั้นบรรยากาศเป็นแรงส่งเพื่อขึ้นสู่ระดับความสูงที่เป็นสถิติดังกล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2012 สตีฟ ฟอสเซต กับไอนาร์ เอเนโวลด์สัน 2 อดีตนักบินทดสอบขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “โปรเจ็กต์ เพอร์แลน” ได้ร่วมกันบินเครื่องร่อน “เพอร์แลน1” สามารถทำความสูงเป็นสถิติโลกเอาไว้ได้ที่ระดับ 15.4 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน โดยหลังจากนั้นเครื่องร่อนลำดังกล่าวก็ถูกปลดระวางและนำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์การบินแห่งซีแอตเติลอยู่ในขณะนี้

Advertisement

ทีมงานของโครงการเพอร์แลน ใช้เวลา 4 ปีที่ผ่านมาพัฒนาเครื่องร่อน เพอร์แลน2 ให้รุดหน้าไปมากกว่าเครื่องร่อนรุ่นแรกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บินทดสอบ ไม่จำเป็นต้องหยิบยืมชุดอวกาศของนาซามาใช้เหมือนกรณีของฟอสเซตและเอเนโวลด์สันอีกต่อไป เพราะภายในลำตัวเครื่องร่อนรุ่นใหม่มีระบบปรับความดัน นอกจากนั้นยังติดตั้งระบบออกซิเจนหมุนเวียน เพื่อให้หายใจได้ตามปกติอีกต่างหาก

เครื่องร่อนสามารถบินขึ้นสู่ระดับสูงได้โดยอาศัย “เมาเทน เวฟ” หรือกระแสลมปรวนแปรที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงอย่างน้อยที่สุดต้องไม่ต่ำกว่า 27 กิโลเมตรต่อชั่้วโมง นักบินเครื่องร่อนต้องจับแนวเคลื่อนตัวของเมาเทน เวฟ ให้ได้แล้วนำเครื่องเข้าไปอยู่ “ภายใน” แนวของกระแสลมดังกล่าวเพื่อยกเครื่องขึ้นสู่ระดับที่ต้องการ ซึ่งจะแตกต่างจากนักเล่นกระดานโต้คลื่นที่อาศัยการทรงตัวอยู่ “บน” ยอดคลื่นเท่านั้น

ไอนาร์ เอเนโวลด์สัน เป็นนักบินเครื่องร่อนรายแรกที่อาศัยการศึกษามวลอากาศที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงในชั้นบรรยากาศ มาเป็นเครื่องมือในการบินเครื่องร่อนของตนเอง เอเนโวลด์สันศึกษาเรื่องนี้ร่วมกับ เอลิซาเบธ ออสติน นักวิชาการด้านอุตุนิยมวิทยามาตั้งแต่ปี 1998 และทั้งสองร่วมกันค้นพบกระแสลมเย็นจัด (ซุปเปอร์คูล) ในบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึง 480 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งรู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อ “โพลาร์ วอร์เท็กซ์” ซึ่งอาจเกิดภาวะแปรปรวนและก่อให้เกิด “เมาเทนเวฟ” ที่เคลื่อนตัวขึ้นสู่ระดับสูงมากอย่างน่าอัศจรรย์ได้ เพอร์แลน1 ใช้ “โพลาร์ วอร์เท็กซ์” นี่เองในการบินทำสถิติความสูงของโลกเอาไว้เมื่อปี 2012 และ เพอร์แลน2 เตรียมใช้วิธีการเดียวกันในการทำลายสถิติใหม่ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้

Advertisement

นอกเหนือจากการบินเพื่อทำสถิติแล้ว เพอร์แลน2 ยังติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดและทดลองทางวิทยาศาสตร์ไว้อีกเป็นจำนวนมาก เพื่อศึกษาตอนกลางของชั้นบรรยากาศชั้นที่ 2 ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งสะสมมลพิษไว้มากที่สุด นอกจากนั้น ทางแอร์บัส ยังได้จดทะเบียนสิทธิบัตรอากาศยาน “ไฮเปอร์โซนิค คราฟต์” สำหรับการโดยสาร ที่จะบินขึ้นสูงในระดับใกล้เคียงกันนี้ เพื่อใช้การร่อนในการเดินทางก่อนกลับลงสู่ชั้นบรรยากาศด้านล่างอีกครั้งเมื่อต้องการลงจอด

การทดสอบการบินครั้งนี้จะให้ข้อมูลในการพัฒนาอากาศยานดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image