วงเสวนาถกแก้ พ.ร.บ.ความรุนแรงฯ กรณีภรรยาฆ่าสามี-จี้ถอนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพฯ

จากกรณีหมอนิ่ม-พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ ถูกอดีตสามี เอ็กซ์-จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักยิงปืนทีมชาติไทย กระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นระยะเวลายาวนาน จนนำไปสู่เหตุโศกนาฎกรรมภรรยาฆ่าสามี ซึ่งภายหลังศาลตัดสินประหารชีวิต พญ.นิธิวดี สถานเดียว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาพทางสังคม คณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย จัดเสวนาหัวข้อ การรักษาสถาบันครอบครัวกับสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ณ ห้อง สค.208 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เมื่อตอนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 คิดไม่ถึงปัญหานี้ ซึ่งเป็นการกระทำที่เข้าลักษณะความผิดทางอาญาของบ้านเมือง ทว่ากฎหมายฉบับนี้ช่วยอะไรไม่ได้เลย ขณะที่กฎหมายอาญาของเรา เป็นกฎหมายอาญาโบราณที่ออกแบบไว้ป้องกันปราบปรามปัญหาอาชญากรของประเทศ ฉะนั้นพฤติกรรมที่เป็นอาชญากรรมรูปแบบใหม่อย่างนี้  ไม่สามารถนำกฎหมายเก่าไปแก้ปัญหาได้ ทำให้เราเจอคนที่น่าสงสารและตกเป็นเหยื่อกฎหมายดั้งเดิมอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม น่าจะมีการปรับปรุงพัฒนาเพิ่มเติมลงไปในพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 โดยมีหลักเกณฑ์ว่า 1.ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำหลายครั้ง 2.ถูกข่มขู่ให้กลัว 3.ตกอยู่ในสภาพจำยอม ไม่สามารถหนีพ้นได้ เหล่านี้จะเป็นทางออก ถ้าเป็นกระทำที่พอสมควรแก่กรณี ซึ่งตรงนี้เป็นต้นเค้าของความคิด แต่ถ้าช่วยกันแก้ เราจะได้กลุ่มกฎหมายใหม่อย่างถาวรและมั่นคงที่ไม่ต้องแก้ทีละครั้งที่เกิดเรื่อง

นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า มีโอกาสได้พูดคุยกับหมอนิ่ม พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ เมื่อปี 2556 ตอนนั้นเธอร้องไห้และเศร้าใจ แต่ท้ายที่สุด คดีนี้มีการตัดสินในทำนองค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้มีทั้งสังคมเข้าใจและไม่เข้าใจ ก็ฝากความห่วงใยไปถึงหมอนิ่มว่า พวกเรามีความห่วงใยและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เราทำได้ คือ ทำความเข้าใจสาธารณะว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ถ้าแก้ไม่ถูกทางจะมีพิษภัยอย่างไร แต่ถ้ามีความเข้าใจและสู้กันถูกทางในศาล จะมีวิธีรับพิจารณาและหาวิธีที่จะทำให้คดียุติ

นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ขอให้สถาบันพัฒนาตุลาการมีการจัดอบรมผู้พิพากษาให้เข้าใจปัญหาความรุนแรงเกี่ยวกับเพศ คำพิพากษาควรไม่ให้มีเรื่องอคติทางเพศ เพราะการพิพากษาอย่างอคติเป็นการตีตราและตอกย้ำซ้ำเติมผู้หญิง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวงเสวนาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายจรัญ ภักดีธนากุล ในเรื่องการปรับแก้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม อีกหลายคนยืนยันว่า กม.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงฯ ไม่ควรมีกระบวนการไกล่เกลี่ย เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ไม่ได้นำไปซึ่งการยุติความรุนแรงที่แท้จริง แต่ควรมีการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงมากกว่า

นอกจากนี้ ในวงเสวนายังขอให้ถอนการนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เนื่องจากยังมีจุดบกพร่องและยังไม่ครอบคลุมการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ นายวิศิษฐ์ เดชเสน รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่าจะนำข้อเสนอไปทบทวนและปรับแก้กฎหมายให้ดียิ่งขึ้น

นายจรัญ ภักดีธนากุล
จรัญ ภักดีธนากุล
นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง
นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง
นางอังคณา นีละไพจิตร
นางอังคณา นีละไพจิตร
นายวิศิษฐ์ เดชเสน
นายวิศิษฐ์ เดชเสน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image