ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อากาศหนาวเย็นช่วงปีใหม่และเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองเช่นนี้ “สตรอเบอรี่” เป็นผลไม้อีกชนิดทีไ่ด้รับความนิยมอย่างยิ่ง
หากลองสังเกตดูดีๆ จะพบว่าแต่ละคนก็มีวิธีรับประทานที่แตกต่าง บ้างก็เลือกกัดจากส่วนปลายที่หวานฉ่ำก่อนส่วนอื่น บ้างก็เลือกนำเข้าปากแบบทั้งผล
น้อยคนที่จะเริ่มจากโคนที่ติดกับใบ
ว่าแต่ว่า วิธีไหนจึงจะได้ลิ้มรสความฉ่ำหวานอย่างคุ้มค่าที่สุด ?
มาสอบถามกูรูตัวจริงจากไร่ “อุเนะมะ” ที่เมืองโคริยามะ จังหวัดฟุกุชิมะ ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น
ก่อนถึงสเต็ปการกิน สาวชาวไร่หน้าใสยิ้มหวาน เริ่มอธิบายให้ “มติชนออนไลน์” ฟังอย่างละเอียดตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บผลจากต้น โดยให้ใช้อุ้งมือค่อยๆ ช้อนใต้ขั้วแล้วค่อยๆ ดึงอย่างเบามือ อย่ากระชากหรือปลิดจากขั้วด้วยนิ้วมือ เดี๋ยวผลจะช้ำ
ส่วนการดื่มด่ำกับความหวานฉ่ำของผลสตรอเบอรี่ที่ถูกต้อง คือ เริ่มกัดจากโคนซึ่งติดกับขั้ว เนื่องจากเป็นส่วนที่หวานน้อยกว่าส่วนอื่น เพื่อเก็บส่วนที่มีค่าที่สุดไว้ตอนท้าย นั่นก็คือ ส่วนปลายซึ่งหวานสุดสุด
สตรอเบอรี่ไร่นี้เมื่อเก็บแล้วพร้อมหม่ำได้ทันที เพราะไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงทุกชนิด
ที่นี่คือ “ไร่อุเนะเมะ” ของคุณลุงอิโต โตชิมิ วัย 72 ปี ซึ่งขึ้นชื่อด้วยสตรอเบอรี่พันธุ์ฟุกุฮารุกะสุดหวานฉ่ำ
คุณลุงเล่าว่า เริ่มบุกเบิกไร่แห่งนี้เมื่อปี 2006 บนพื้นที่ 125 เฮกเตอร์ มี “กรีนเฮาส์” ปลูกสตรอเบอรี่ 3 หลัง นอกจากนั้นยังปลูกพืชผักอีกหลายชนิด อาทิ ถั่วเหลือง แตงกวา มะเขือเทศและหัวหอม เป็นต้น
แม้จะเพิ่งทำไร่สตรอเบอรี่ แต่ตระกูลคุณลุงทำการเกษตรมานานหลายชั่วอายุคน สั่งสมประสบการณ์จากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น
“สตรอเบอรี่ในโลกนี้มีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ความโดดเด่นของพันธุ์นี้คือ ความหวาน และรสสัมผัสของเนื้อที่นุ่มละมุนลิ้น แต่จะเป็นยังไง ต้องลองชิมดูเอง” คุณลุงอธิบายพร้อมยิ้มอ่อนโยน
มาถึงตรงนี้ คุณโตชิฮิโร่ วัย 42 ปี ลูกชายแท้ๆ เสริมว่า พันธุ์ทั่วไปจะมีความเปรี้ยวและหวาน สัดส่วน 50-50 พูดง่ายๆ ว่าหวานอมเปรี้ยว แต่พันธุ์นี้มีความหวานมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ความเปรี้ยว 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าหวานสุดสุด
กว่าจะได้ผลผลิตชั้นเยี่ยมขนาดนี้ ต้องดูแลเอาใจใส่ในรายละเอียดแทบทุกกระเบียดนิ้ว แม้แต่น้ำที่ใช้ก็ต้องมีคุณภาพ ไหนจะอากาศซึ่งมีผลกระทบอย่างยิ่ง โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 23-25 องศาเซลเซียส และต้องไม่ต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส ไม่เช่นนั้นสตรอเบอรี่จะไม่เติบโต เมื่อไหร่ที่อุณหภูมิลดลงต่ำเกินไป จะมีการปล่อยลมอุ่นๆ เข้ามาทางถุงลมพลาสติกที่ทำเป็นท่ออยู่ทั่วไร่ คล้ายๆ กับเป็นฮีตเตอร์นั่นเอง
นอกจากท่อลมอุ่นที่ช่วยประคบประหงมสตรอเบอรี่น้อยๆ แล้ว จะสังเกตเห็นลังไม้สี่เหลี่ยมซ้อนชั้น สิ่งที่อยู่ในนั้นคือฝูงผึ้ง ซึ่งตั้งใจเลี้ยงไว้บอกอุณหภูมิ เมื่อไหร่ที่ฝูงผึ้งชวนกันบินขึ้นสู่เพดานกรีนเฮาส์ แสดงว่าอุณหภูมิสูงเกินไป ต้องเร่งแก้ไขให้พอเหมาะ นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอันชาญฉลาดที่เกิดจากการสังเกตธรรมชาติรอบตัว
อย่างไรก็ตาม การที่ทางไร่ไม่ใช้ระบบอัตโนมัติใดๆ จึงไม่สามารถสร้างผลผลิตจำนวนมากๆ ได้ แต่นั่นก็ทำใหสตรอเบอรี่ทุกผลที่นี่ช่างเป็นดังของขวัญล้ำค่า เพราะผ่านมือของชาวไร่ ที่ทุ่มเทด้วยหัวใจอย่างแท้จริง ในแต่ละวันจะมีสตรอเบอรี่ผลสวยให้ผู้คนได้ลิ้มรสวันละ 70 กล่อง กล่องละ 350 กรัม ในราคากล่องละ 630 เยน แต่ในช่วงเทศกาลอย่างคริสต์มาสและปีใหม่ จะสูงขึ้นอีกเล็กน้อย
เสียดายที่ทางไร่ยังไม่พร้อมรับนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม หรือชิมที่ไร่โดยตรง แต่สามารถซื้อได้ในตลาดท้องถิ่นของเมืองโคริยามะ โดยยังไม่มีการส่งออกนอกประเทศ เพราะผลิตได้ไม่มาก อีกทั้งหนึ่งในคุณสมบัติเด่น คือเนื้อที่นุ่มละมุน กลับกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการขนส่ง แต่ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้
“ก่อนหน้านี้ ทางไร่เคยส่งออกสตรอเบอรี่ไปประเทศจีน แต่เป็นพันธุ์อื่น ส่วนพันธุ์นี้ยังส่งออกไม่ได้ เพราะผลิตได้ไม่มากนัก และเนื้อนุ่มมาก ต้องออกแบบแพคเกจให้ดีก่อน ไม่อย่างนั้นจะเสียหายระหว่างขนส่งได้ เพราะเนื้อนุ่มมาก” คุณโตชิฮิโร่กล่าว
ดังนั้น ใครอยากชิมต้องมาเยี่ยมเยือนเมืองแห่งนี้ด้วยตัวเอง รับรองว่าคุ้มค่า
ที่สำคัญ รับประทานสตรอเบอรี่ผลต่อไป อย่าลืมใช้เทคนิคของสาวชาวไร่ของญี่ปุ่นกันล่ะ !