“สตีเฟน ฮอว์กิ้ง” ชี้ “หลุมดำ” ให้พลังงานกับโลกได้

ภาพ-NASA

“สตีเฟน ฮอว์กิ้ง” นักทฤษฎีฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เคยบรรยายเอาไว้เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า หลุมดำขนาดเล็กมากเพียง 1 หลุม ซึ่งโคจรอยู่ในวงโคจรรอบโลก สามารถจะให้พลังงานที่ตอบสนองความต้องการพลังงานของทั้งโลกได้ ถ้าหากมนุษย์สามารถค้นพบและสามารถหาวิธีนำพลังงานจากหลุมดำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัย

ในทรรศนะของฮอว์กิ้ง หลุมดำขนาดเท่ากับภูเขาสักลูกหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มหลุมดำขนาดจิ๋ว เมื่อเทียบกับขนาดของหลุมดำที่พบได้ทั่วไปในจักรวาล สามารถปลดปล่อยรังสีเอกซเรย์และรังสีแกมมา ออกมาในระดับสูง เทียบได้เท่ากับบริมาณพลังงานถึง 10 ล้านเมกะวัตต์ เพียงพอต่อการจ่ายเป็นพลังงานหล่อเลี้ยงโลกได้ทั้งโลก อย่างไรก็ตาม การจัดการนำพลังงานจากหลุมดำมาใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย “เราไม่สามารถนำหลุมดำมาเก็บไว้ในโรงไฟฟ้าได้ เพราะหลุมดำจะหลุดผ่านพื้นโรงไฟฟ้าลงไปลงเอยอยู่ที่ใจกลางของโลกในที่สุด” ฮอว์กิ้งระบุ

ศาสตราจารย์ ซาบีน ฮอสเซนเฟลเดอร์ นักฟิสิกส์จากสถาบันแห่งนอร์ดิคเพื่อทฤษฎีฟิสิกส์ (เอ็นไอทีพี) เขียนเว็บบล็อกขยายความแนวความคิดของศาสตราจารย์ฮอว์กิ้ง และให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยการระบุว่าในทางเทคนิคแล้วแนวความคิดนี้ไม่มีอะไรผิดพลาด ข้อเสียเพียงอย่างเดียวของเรื่องนี้ก็คือ เป็นไปได้ในทางปฏิบัติยากมาก อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในอีก 10,000 ปีข้างหน้า

เดิมทีนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าหลุมดำคือพื้นที่ในอวกาศอันเป็นที่ตั้งของมวลสารที่ยุบตัวลงจนมีความหนาแน่นสูงมากพร้อมกับมีแรงโน้มถ่วงสูงมากตามไปด้วยจนไม่มีอะไรแม้แต่แสงสามารถเล็ดรอดกลับออกมาได้ แต่ต่อมาในปี 1974 ฮอว์กิ้ง ได้นำเสนอแนวความคิดที่ว่า อนุภาคควอนตัมเล็ดรอดออกมาจากหลุมดำได้ภายใต้กระบวนการที่เรียกกันในเวลานี้ว่า “กระบวนการแผ่รังสีฮอว์กิ้ง” (ฮอว์กิ้ง เรดิเอชั่น)

Advertisement

ศาสตราจารย์ฮอสเซนเฟลเดอร์ระบุว่า หลุมดำขนาดใหญ่ที่สุดเป็นหลุมดำที่อยู่บริเวณใจกลางแกเล็กซี มีมวลมากกว่ามวลของดวงอาทิตย์หลายพันล้านเท่า นอกจากนั้นยังมีหลุมดำขนาดเล็กที่มีมวลราว 10 เท่าของดวงอาทิตย์กระจายกันอยู่ทั่วไปในจักรวาล หลุมดำทั้งสองขนาดนี้มีอุณหภูมิเย็นจัดและมีการแผ่รังสีฮอว์กิ้งออกมา แต่ในเวลาเดียวกันนักวิจัยก็เสนอด้วยว่ายังมีหลุมดำขนาดจิ๋วซึ่งระดับอุณหภูมิจะสูงกว่า ดังนั้นจึงปลดปล่อยอนุภาคต่างๆ ออกมาได้มากกว่าผ่านกระบวนการแผ่รังสีฮอว์กิ้งดังกล่าว และเป็นหลุมดำชนิดที่ศาสตราจารย์ฮอว์กิ้งพูดถึง

ปัญหาอย่างแรกในความเห็นของฮอสเซนเฟลเดอร์ก็คือ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดค้นพบหลุมดำจิ๋วชนิดนี้

ถัดมาแม้ว่าหลุมดำดังกล่าวมีอยู่จริง ก็จะเกิดปัญหาว่าทำอย่างไรถึงจะไปถึงได้ และเพราะหลุมดำไม่มี “พื้นผิว” จึงไม่สามารถนำยานลงจอด เกาะเกี่ยวแล้วลากกลับมายังวงโคจรรอบโลกได้ เมื่อมาถึงแล้วยังต้องคิดหาวิธีป้องกันโลกจากการแผ่รังสีของหลุมดำที่ว่านี้ ซึ่งเป็นส่วนที่ฮอสเซนเฟลเดอร์เชื่อว่าแก้ไขได้ “ง่ายที่สุด” ในบรรดาปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ แถมยังต้องหาวิธีนำพลังงานที่ปลดปล่อยออกมามาใช้เป็นประโยชน์อีก ซึ่งมนุษย์อาจต้องใช้เวลาหลายหมื่นปีหรืออาจเป็นหลายแสนปีในการแก้ไขแต่ละเปลาะได้สำเร็จ

Advertisement

ฮอว์กิ้งเคยเสนอไว้ด้วยว่า ทางหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ การสร้างหลุมดำขนาด “ไมโคร” ขึ้นเอง แล้วนำไปไว้ใน “มิติพิเศษ” ของกาล-อวกาศ

ฮอสเซนเฟลเดอร์ระบุว่า “มิติพิเศษ” ที่ว่านั้นยังไม่มีใครรู้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ และหลุมดำเล็กจิ๋วที่สร้างขึ้นก็อาจสลายตัวไปโดยเร็วในห้วงเวลาเพียง 10-23 วินาที

ไม่มีใครเก็บเกี่ยวพลังงานของหลุมดำที่สร้างขึ้นนี้ได้ทันแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image