40 ปี พัฒนาการสังคมด้าน ‘เด็ก’ ที่ไม่ใช่เรื่อง ‘เด็กๆ’

ภาพจาก homecaprice.com

ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 2520 จนถึงปัจจุบัน เรื่องราวของ “เด็ก” ที่ไม่เด็ก มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ด้วยปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับที่ไทยเป็นรัฐภาคี ตลอดจนการปรับแก้กฎหมายให้ทันสมัย ทันสถานการณ์ โดยนำไปเทียบเคียงกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว

คนในแวดวงสิทธิเด็กที่ทำงานด้านนี้มายาวนานกว่า 40 ปี เปิดมุมมองให้ได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ รองประธานอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก ให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เล่าว่า จากการทำงานด้านเด็กมาตั้งแต่ปี 2522 ทำด้านสิทธิเด็กมาตั้งแต่ปี 2528 พบว่า สถานการณ์เด็กในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตมาก เช่น แต่ก่อนคนไม่เชื่อว่ามีปัญหาพ่อแท้ๆ ล่วงละเมิดทางเพศลูก เพราะคิดว่ามีแต่พ่อเลี้ยง ญาติ อีกทั้งมองว่าเป็นปัญหาที่ภาคประชาสังคมสร้างขึ้นมา ก็เริ่มเปลี่ยนความคิด หรือปัญหาทำร้ายทุบตีเด็ก

“จากแต่ก่อนอะไรๆ ก็ตี ก็เริ่มเปลี่ยนมาตระหนักมากขึ้น ปัญหาโสเภณีเด็ก แต่ก่อนมองเป็นเรื่องธรรมดา ไปเที่ยวได้ปกติ แต่เดี๋ยวนี้ผิดกฎหมาย และสังคมไม่ยอมรับ ตลอดจนปัญหาการใช้แรงงานเด็กก็เปลี่ยนไป จากแต่ก่อนเริ่มทำงานเมื่ออายุ 12 ปี เดี๋ยวนี้กฎหมายกำหนดต้องอายุเกิน 15 ปี และกำหนดเหมือนเดิมคือ ให้เริ่มทำงานเบาๆ ไม่ทำงานใต้ดิน ไม่ทำงานอันตราย” สรรพสิทธิ์กล่าว

สิ่งหนึ่งที่เห็นพัฒนาการชัดเจนด้านเด็กคือ กฎหมายเกี่ยวกับเด็กเ

Advertisement

เริ่มจากปี 2546 ไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ประกาศใช้เป็นครั้งแรก ภายหลังทำให้มีรายงานละเมิดสิทธิเด็กเพิ่มขึ้น จากแต่ก่อนรายงานไม่กี่เคสราวกับปัญหาซ่อนอยู่ใต้ดิน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นเคสต่อปี และเพิ่มขึ้นตามลำดับ

“แต่ปัญหาก็ยังเหมือนเดิม”

มาในปี 2550 ที่มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับบุคคลในครอบครัวที่มีทั้งเด็กและผู้หญิง ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวไม่ต้องรับผิดทางอาญาก็ได้ หากร่วมทำแผนบำบัดฟื้นฟูและทำข้อตกลงเบื้องต้น

Advertisement

“แต่ทางปฏิบัติก็ไม่เวิร์ก เพราะตำรวจก็จะทำคดีนี้เป็นคดีอาญาทั่วไป ทำประนีประนอมทั่วไป ซึ่งมันก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร”

ปี 2553 ที่มี พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ซึ่งดีในหมวด 15 ว่าด้วยการพิจารณาคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ ที่ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา เพียงหากมีแนวโน้มก็สามารถขอศาลระงับยับยั้งก่อนได้ โดยต้องนำข้อเท็จจริงให้ศาลรับฟัง

“แต่ปัญหาคือ ศาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้อบรมทำความเข้าใจเพียงพอ เพราะศาลเยาวชนและครอบครัวต้องดำเนินคดี 3 ประเภทได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่ง ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์บิดามารดา กฎหมายอาญากรณีเด็กกระทำความผิดและใช้ความรุนแรง และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งทั้ง 3 กฎหมายนี้เกี่ยวข้องความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว สถานศึกษา และชุมชน ฉะนั้น ผู้พิพากษาและผู้เกี่ยวข้องจะไม่เพียงรู้ครบเครื่องเรื่องกฎหมายแล้วยังจะต้องมีทักษะชีวิตพอสมควร เพื่อจะเข้าใจลึกซึ้งทั้งด้านกฎหมายและสังคม แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ใช่ และไม่เป็นไปตามที่หวัง เพราะผู้พิพากษาที่มาอยู่ศาลนี้ จะเป็นผู้พิพากษาหน้าใหม่ป้ายแดง ทำให้กฎหมายใช้กะพร่องกะแพร่ง ต่างจากศาลเยาวชนฯ ของต่างประเทศ” สรรพสิทธิ์คอมเมนต์

อย่างไรก็ตาม แม้ต่างฝ่ายต่างรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน แต่ที่ปัญหายังคงวนเวียนเหมือนเดิม

นายสรรพสิทธิ์  คุมพ์ประพันธ์ 3
นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์

“เพราะการทำงานแก้ปัญหายังทำแบบเดิมๆ” สรรพสิทธิ์กล่าว และว่า

“โดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อย่างแรกคือ “บุคลากร” ที่มีตำแหน่งนักพัฒนาสังคม ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามาตรฐานการปฏิบัติงานคืออะไร ไม่มีใครจะมาดูแลติดตามเหมือนพวก นักสังคมสงเคราะห์

นักจิตวิทยา แพทย์ ที่มีสภาวิชาชีพคอยติดตามดูแล หากทำผิดต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ผลพวงตรงนี้ทำให้ตำแหน่งนี้ไม่มีศาสตร์ในการทำงานที่ชัดเจน”

“โครงสร้างองค์กร” ซึ่งการแบ่งกรมตามกลุ่มเป้าหมาย เช่น กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมกิจการผู้สูงอายุ ทำให้งานเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ทั้งที่กลุ่มเป้าหมายของหน่วยงานคือคนในครอบครัวเดียวกัน

“การให้บริการแบบแบ่งเป็นกรมต่างๆ ทำให้เวลาเกิดเหตุ แต่ละกรมก็ไปช่วยแยกกันตามกลุ่มเป้าหมาย ด้วยพนักงานของตัวเองต่างหาก ทั้งนี้ ยิ่งพอมาดูในกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่แบ่งงานออกเป็นกองๆ เช่น กองคุ้มครองเด็กและเยาวชน กองส่งเสริมการพัฒนาและสวัสดิการเด็ก เยาวชน และครอบครัว มันก็เหมือนเดิม เด็กคนเดียวมีปัญหาก็ต้องไปหลายกอง มันจึงมั่วไปหมด เพราะทำระบบบริการไม่ปะติดปะต่อ ไม่เป็นระเบียบ ไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ ทำให้เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า”

สรรพสิทธิ์ทิ้งท้ายภาพรวมของสังคมด้านเด็กและเยาวชนว่า

“โดยรวมมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ในส่วนทัศนคติเกี่ยวกับเด็ก แต่ไม่ดีขึ้นในวิธีดูแล ป้องกัน ส่งเสริมเด็กและครอบครัว ต้องยอมรับว่าเราเห็นปัญหา แต่ไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมาให้ พม.แก้เพียงลำพังก็ทำไม่ได้ ต้องกระจายงาน สนับสนุนองค์ความรู้ ให้เครือข่ายทำงาน ท้องถิ่น ชุมชน และครอบครัวช่วย ไม่งั้นจะเหมือน 40 ปีที่แล้ว ที่เรารู้ปัญหาแต่ทำอะไรไม่ได้” สรรพสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image